xs
xsm
sm
md
lg

นักดาราศาสตร์ยืนยัน "ดาวเคราะห์คล้ายโลก" นอกระบบสุริยะครั้งแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพ จำลองดาวเคราะห์หินโคบอล-7บี คล้ายเคราะห์หินคล้ายโลก ที่นักดาราศาสตร์จากหลายสถาบันในยุโรปได้ร่วมกันวิเคราะห์ และยืนยันเป็นครั้งแรกว่าดาวเคราะห์ที่พบนี้เป็นดาวเคราะห์หินนอกระบบสุริยะที่ค้นพบ โดยในภาพจะเห็นบางส่วนของดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ ดาวดวงสีส้มที่อยู่ด้านหลัง (ไซน์เดลี/องค์การอวกาศยุโรป)
นักดาราศาสตร์พบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะกว่า 300 ดวงแล้ว แต่ดาวเคราะห์ส่วนใหญ่ที่พบ เป็นดาวเคราะห์ก๊าซ หรือไม่ก็ยังพิสูจน์ไม่ว่าเป็นดาวเคราะห์หินหรือดาวเคราะห์โลก และนี่เป็นครั้งแรกที่ทีมนักดาราศาสตร์จากหลายสถาบันยุโรปได้ยืนยันว่าพบดาวเคราะห์หินจริงๆ

ดาวเคราะห์ที่ว่ามีชื่อ "โครอท-7บี" (Corot-7b) อยู่ห่างจากโลก 500 ปีแสง มีอุณหภูมิพื้นผิวมากกว่า 2,000 องศาเซลเซียส มีมวลมากกว่าโลกของเรา 5 เท่า และมีรัศมีมากกว่าโลก 80% มีคาบโคจรรอบดาวฤกษ์ของตัวเองเพียง 20 ชั่วโมง และหมุนโคจรด้วยความเร็ว 750,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าดาวพุธ ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ของเรามากที่สุดซึ่งมีคาบโคจร 88 วัน

ทั้งนี้ ไซน์เดลีระบุว่า ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะนี้ถูกพบเมื่อเดือน ก.พ.52 นี้ โดยดาวเทียมโครอท (CoRoT) ซึ่งเห็นดาวเคราะห์ขนาดเล็กโคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ TYC 4799-1733-1 โดยตำแหน่งของดาวดวงนี้บนท้องฟ้านั้นอยู่เบื้องหน้ากลุ่มดาวยูนิคอร์น (Monoceros) และยังเป็นดาวเคราะห์อายุน้อยเพียง 1.5 พันล้านปี

อีกทั้งทุกๆ 20.4 ชั่วโมงดาวเคราะห์ดวงนี้ จะทำให้เกิดคราสบนดาวฤกษ์ของตัวเอง ซึ่งทำให้แสงสว่างลดลง 1 ใน 3,000 ของความสว่างเดิมเป็นเวลากว่าชั่วโมง โดยดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ห่างจากดาวฤกษ์ของตัวเองเพียง 2.5 ล้านกิโลเมตร ซึ่งเมื่อเทียบกับระยะห่างระหว่างดาวพุธกับดวงอาทิตย์แล้ว โคบอท-7บีอยู่ใกล้กว่าดาวฤกษ์ที่โคจร 23 เท่า

ในการวิเคราะห์ว่าเป็นดาวเคราะห์หินนั้น เอพีระบุว่านักดาราศาสตร์ต้องพิจารณาหลายสิบครั้งเพื่อหาความหนาแน่นของดาว ซึ่งจะพิสูจน์ได้ว่าดาวดวงนี้เป็นดาวเคราะห์หินคล้ายโลกหรือไม่ เบื้องต้นไซน์เดลีระบุว่าไม่สามารถวัดมวลของดาวได้โดยตรง สิ่งที่ต้องทำคือวัดความเร็วของดาวให้ใกล้เคียงค่าที่แท้จริงมากที่สุด แต่ปัญหาคือสัญญาณเพียงเล็กน้อยของโคบอท-7บี ยังพร่ามัวเนื่องจากการเกิด "สตาร์สปอต" (starspots) บนดาวฤกษ์ ซึ่งคล้ายกับจุดดับ (sunspots) บนดวงอาทิตย์ โดยจะเกิดบริเวณที่เย็นกว่าบนผิวดาว

ทั้งนี้นักดาราศาสตร์ได้ใช้ HARPS (High Accuracy Radial velocity Planet Searcher) อุปกรณ์ค้นหาดาวเคราะห์ที่มีความเร็วสูงได้เที่ยงตรง ซึ่งติดตั้งอยู่บนกล้องโทรทรรศน์ 3.6 เมตร ขององค์การอวกาศยุโรป (ESO) ที่หอดูดาวลาซิญญา (La Silla Observatory) ในประเทศชิลี โดยฟรองซัว บูชี (François Bouchy) ผู้ร่วมวิจัยกล่าวว่า พวกเขาต้องใช้อุปกรณ์ดังกล่าวสำรวจดาวร่วม 70 ชั่วโมง ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวทำให้นักดาราศาสตร์ได้รับสัญญาณการเกิดคราสแล้วนำมาคำนวณได้ว่าดาวเคราะห์หินดวงนี้มีมวลมากกว่าโลก 5 เท่า

ด้านแคลร์ มูตู (Claire Moutou) หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า วงโคจรของดาวเคราะห์โคบอท-7บี ที่เป็นแนวราบ ทำให้นักดาราศาสตร์เห็นดาวเคราะห์ผ่านหน้าดาวฤกษ์ของตัวเอง และนำไปคำนวณหามวล และพวกเขายังได้ข้อมูลรัศมี ซึ่งนำไปคำนวณหาความหนาแน่นของดาวเคราะห์ และยังได้แนวคิดถึงโครงสร้างภายในของดาวเคราะห์ด้วย

สำหรับนักดาราศาสตร์ที่ร่วมค้นหาดาวเคราะห์หินครั้งนี้มาจากสถาบันในยุโรป อาทิ หอดูดาวเจนีวา (Observatoire de Genève) สวิตเซอร์แลนด์ สถาบันฟิสิกส์ดาราศาสตร์ในปารีส (Institut d'Astrophysique de Paris)) ฝรั่งเศส ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ดาราศาสตร์มาร์เซย์ (Laboratoire d'Astrophysique de Marseille) ฝรั่งเศส หอดูดาวทีแอลเอส (Thuringer Landessternwarte Tautenburg) เยอรมนี หอดูดาวฝรั่งเศส (Observatoire de Paris) มหาวิทยาลัยเบิร์น (University of Bern) สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น