xs
xsm
sm
md
lg

400 ปี "กาลิเลโอ" พิสูจน์ให้เห็นโลกไม่ได้เป็น "ศูนย์กลางจักรวาล"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพเหมือนกาลิเลโอ วาดโดย Giusto Sustermans
ย้อนกลับไปเมื่อ 400 ปีก่อน โลกตกอยู่ในความมืดมิดของความเชื่อที่สั่งสอนกันมายาวนานว่า "โลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล" แต่ "กาลิเลโอ" ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยายเพียงน้อยนิด เมื่อเทียบกับกล้องโทรทรรศน์ตามหอดูดาวต่างๆ ในปัจจุบัน พิสูจน์ให้เห็นว่าความเชื่อดังกล่าวไม่เป็นจริง

เมื่อปี พ.ศ.2152 ในช่วงเดือน ธ.ค. มีเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่สำคัญต่อวงการดาราศาสตร์ คือ "กาลิเลโอ กาลิเลอิ" (Galileo Galilei) นักดาราศาสตร์อิตาลีได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องออกไปยังท้องฟ้า ซึ่งทำให้เขาค้นพบทางดาราศาสตร์ที่สำคัญๆ ภายในเวลา 2 ปี

กาลิเลโอได้พบว่า ดวงจันทร์นั้นไม่ได้มีผิวราบเรียบอย่างที่สอนกันมา หากแต่เต็มไปด้วยเทือกเขาและหุบเหวมากมาย เขาได้พบบริวารของดาวพฤหัสบดี 4 ดวง ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า "ดวงจันทร์ของกาลิเลโอ” (Galilean satellites) ประกอบไปด้วย ไอโอ (Io) ยูโรปา (Europa) คาลลิสโต (Callisto) และแกนีมีด (Ganymede) เป็นอีกหลักฐานหนึ่งว่าโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางจักรวาล

ยังมีการค้นพบอื่นๆ ของกาลิเลโออีก อาทิ พบปรากฏการณ์ข้างขึ้นข้างแรมบนดาวศุกร์ (The Phase of Venus) ที่แสดงให้เห็นว่าดาวศุกร์โคจรรอบดวงอาทิตย์ ไม่ใช่โลก และด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยายเพียง 30 เท่า ทำให้เขาเห็นดาวเสาร์และวงแหวนของดาวเสาร์ รวมทั้ง "จุดมืด" (sunspot) บนดวงอาทิตย์ เป็นต้น

กล้องของกาลิเลโอเป็นกล้องโทรทรรศน์แบบหักเหแสง (refracting telescope) อย่างหยาบๆ ซึ่งเขาได้ปรับปรุงกำลังขยายจากไม่ถึง 10 เท่า เป็น 20-30 เท่า โดยกล้องประกอบด้วยเลนส์ใกล้วัตถุ ที่เป็นเลนส์นูน และเลนส์ใกล้ตาเป็นเลนส์เว้า ติดอยู่ที่ปลายท่อยาวๆ ทั้งสองด้าน

กล้องตัวหนึ่งของเขามีเลนส์ใกล้วัตถุ 2 ชิ้น มีความยาว โฟกัส1.33 เมตร มีรูรับแสงเล็กๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.026 เมตร และมีกำลังขยาย 14 เท่า แต่ปัญหาของกล้องชนิดนี้คือมีมุมมองภาพที่แคบ โดยมองเห็นดวงจันทร์ได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า กล้องโทรทรรศน์ตัวแรกประดิษฐ์ขึ้นโดยใคร แต่ ฮานส์ ลิพเพอร์ชี (Hans Lippershey) ช่างทำเลนส์ชาวเยอรมันเชื้อสายดัตช์ก็ได้รับเครดิตนี้ไป ส่วนกาลิเลโอก็ได้ประดิษฐ์กล้องขึ้นเองและกลายเป็นอุปรณ์ที่สร้างการค้นพบสำคัญๆ มากมาย และเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาดาราศาสตร์ยุคใหม่ที่มีกล้องโทรทรรศน์เป็นเครื่องมือสำคัญ

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union: IAU) จึงได้ประกาศให้ปี 2552 นี้เป็น "ปีดาราศาสตร์สากล" (International Year of Astronomy: IYA 2009) เพื่อสร้างความตระหนักและตื่นตัวด้านวิทยาศาสตร์โดยอาศัยดาราศาสตร์ ที่มีเหตุการณ์สำรวจท้องฟ้าด้วยกล้องโทรทรรศน์ของกาลิเลโอเป็นสำคัญ

ทั้งนี้กาลิเลโอเป็นบุตรชายคนโต องนักดนตรีที่มีชื่อเสียงในอิตาลี ท่ามกลางพี่น้อง 6 คน และจากความคาดหวังของพ่อเขาจึงสมัครเข้าเรียนแพทย์ แต่ก็ได้เปลี่ยนไปศึกษาคณิตศาสตร์ตามความสนใจที่แท้จริง และเขายังมีความสนใจในวิชาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์อีกหลายแขนง จากนั้นเขาก็ได้สอนวิชาคณิตศาสตร์ เรขาคณิตและดาราศาสตร์ในมหาวิทยาลัย

สำหรับการค้นพบข้างขึ้นข้างแรมของดาวศุกร์นั้นเป็นหลักฐานที่สนับสนุนทฤษฎีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางจักรวาล (heliocentric model) ที่เสนอโดย นิโคลัส โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus) นักดาราศาสตร์โปแลนด์ แต่ทฤษฎีดังกล่าวขัดกับคำสอนของศาสนจักร เขาจึงถูกขังคุก ส่วนกาลิเลโอที่เขียนหนังสือเผยแพร่สิ่งที่ค้นพบก็ถูกศาสนจักรตัดสินให้ถูกกักขังอยู่ภายในบ้านพัก และเสียชีวิตโดยที่ไม่มีโอกาสได้รับอิสรภาพกลับคืน

แม้ปีสุดท้ายของชีวิตดวงตาของเขาได้บอดสนิท แต่ผลงานของเขาก็ได้ฉายแสงไปยังจักรวาลอันมืดมิดและกว้างใหญ่ไพศาล และทำให้ดวงตาของหลายคนได้รับแสงสว่างว่า "โลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล"
กล้องโทรทรรศน์ของกาลิเลโอ
กำลังโหลดความคิดเห็น