xs
xsm
sm
md
lg

LCROSS ชนดวงจันทร์ตรงเป้า แต่นาซายังบอกไม่ได้ว่าเห็นอะไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพวาดจำลองเหตุการณ์ยานแอลครอสส่งจรวดเปล่าพุ่งชนดวงจันทร์เพื่อสำรวจน้ำจากเศษซากที่ฟุ้งออกมา (เอพี/นาซา)
ยาน LCROSS พุ่งชนดวงจันทร์ไปแล้วตามเป้าหมาย แต่นาซายังบอกไม่ได้ว่าเห็นอะไร ต้องรอวิเคราะห์ผลภาพถ่ายภายหลัง ยังมั่นใจมีโอกาสหาน้ำบนดวงจันทร์ได้ ส่วนความกังวลว่าวงโคจรดวงจันทร์จะเปลี่ยน แจงมีผลกระทบเพียงเล็กน้อย เปรียบเหมือนขนตาตกกระทบเครื่องบินเจ็ท

"มันยากที่จะบอกว่าเห็นอะไร เราได้รับการยืนยันจากห้องควบคุมว่าเราได้สัญญาณอุณหภูมิแล้ว ด้วยงบเกือบ 3,000 ล้านบาท ปฏิบัติการครั้งนี้ มีโอกาสทำให้เกิดควันพวยพุ่งออกมาจากการพุ่งชน ผมยังมั่นใจว่านี่คือโอกาสที่ดีที่สุดที่จะหาน้ำบนดวงจันทร์" ไมเคิล ไบเคย์ (Michael Bicay) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เอเมส (Ames) ซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมปฏิบัติการยิงยาน "แอลครอส" (LCROSS) เพื่อสำรวจน้ำที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ให้ความเห็น

อย่างไรก็ดีนักดาราศาสตร์จากหอดูดาวพาโลเมอร์ (Palomar Observatory) นอกเมืองซานดเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ได้รายงานว่าไม่เห็นร่องรอยการพุ่งชนครั้งนี้ แม้จะใช้กล้องโทรทรรศน์เส้นผ่านศูนย์กลาง 200 นิ้วก็ตาม ทั้งนี้จากการดัดแปลงอุปกรณ์ทางแสงทำให้กล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวมีความละเอียด 180 เมตรต่อพิกเซล

ขณะที่นักถ่ายภาพด้วยกล้องโทรทรรศน์อย่าง จิม มาฮอน (Jim Mahon) ได้ให้ความเห็นต่อปรากฏการณ์ที่ควรจะเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นนี้ว่า "แค่งั้นๆ" และบอกว่าตัวเขาคาดหวังจะได้เห็นแสงสว่างหรือแสงวาบ

ทั้งนี้ระหว่างถ่ายทอดสัญญาณภาพการพุ่งชนของยาน ที่ควรจะเกิดฝุ่นฟุ้งกระจายขึ้นมาถึง 10 กิโลเมตรนั้นได้หายไป แต่นาซายืนยันว่าเครื่องมือของพวกเขายังคงใช้งานได้ ซึ่งหลังจากการพุ่งชนแล้วครึ่งชั่วโมง นาซาจะโพสต์รูปเพื่ออัพเดตปฏิบัติการผ่านเว็บไซต์ของนาซาเอง แต่ระหว่างนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการจัดส่งข้อมูล

หลังปฏิบัติการตามเป้าหมายสำเร็จ เมื่อเวลา 18.35 น.ของวันที่ 9 ต.ค.52 (ตามเวลาประเทศไทย) ซึ่งยานไร้คนขับ "แอลครอส" (LCROSS : Lunar Crater Observation and Sensing Satellite) ได้ตกกระทบผิวดวงจันทร์ตามหลัง "เซนทอร์" (Centaur) จรวดเปล่าที่มีน้ำหนัก 2.2 ตัน สู่ "คาเบียส" (Cabeus) ถ้ำขนาดใหญ่ และอยู่ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตร และองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) จะแถลงข่าวผลของปฏิบัติการเบื้องต้นประมาณ 22.00 น. ของวันเดียวกัน 

ทั้งนี้ ยานแอลครอสซึ่งทำหน้าที่เป็นจรวดนำทาง (Shepherding Spacecraft: SSC) ได้แยกจากเซนทอร์และตกในบริเวณใกล้ๆ กัน หลังจากนั้น 4 นาที ซึ่งการพุ่งชนครั้งแรกโดยจรวด "เซนทอร์" นั้นคาดว่าจะทำให้เกิดแรงเทียบเท่าระเบิดทีเอ็นที 1.5 ตันในถ้ำคราเบียส อีกทั้งทำให้เกิดหลุมเล็กๆ ขนาดเท่าสระว่ายน้ำโอลิมปิกด้วย ส่วนการพุ่งชนครั้งหลังที่เกิดจากยานแอลครอสนั้นจะมีแรงเพียง 1 ใน 3 ของแรกที่เกิดจากการพุ่งชนครั้งแรก

ด้านนักวิทยาศาสตร์ประจำปฏิบัติการนี้ประเมินว่า เศษซากที่เกิดจากการพุ่งชนของเซนทอร์นั้น จะพวยพุ่งขึ้นมาหลังการปะทะ 2-3 วินาที และจะเห็นแสงสว่างสูงสุดในช่วง 30-100 วินาทีหลังเหตุปะทะ โดยนาซาได้ถ่ายทอดสดช่วงที่ยานพุ่งเข้าชนพื้นผิวดวงจันทร์ผ่านอินเทอร์เน็ต

อีกทั้ง เมื่อจรวดกระทบผิวดวงจันทร์ กล้องโทรทรรศน์จากหอดูดาวกว่า 20 แห่ง จะร่วมจับภาพ เพื่อนำไปวิเคราะห์และค้นหาการมีอยู่ของน้ำบนดวงจันทร์

ยานแอลครอสถูกส่งขึ้นไป พร้อมยานทำแผนที่ดวงจันทร์แอลอาร์โอ (LRO) หรือลูนาร์ รีคอนเนสซองซ์ ออร์บิเตอร์ (The Lunar Reconnaissance Orbiter) จากศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) โดยจรวดแอตสาส ไฟว์ (Atlas V) เมื่อ 18 มิ.ย.52 ที่ผ่านมา และยึดติดกับยานแอลอาร์โอจนกระทั่งแยกจากกัน เพื่อปฏิบัติภารกิจสำรวจหาร่องรอยของน้ำบนดวงจันทร์ ในเดือน ต.ค.นี้

เดิมที่เป้าหมายของการสำรวจหาร่องรอยน้ำบนดวงจันทร์ อยู่ที่บริเวณถ้ำคาเบียสเอ แต่ได้เปลี่ยนเป็นถ้ำคาเบียส เนื่องจากเป้าหมายใหม่นั้นได้แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของไฮโดรเจนที่เข้มข้นกว่า

ส่วนความกังวลว่า การยิงยานระเบิดดวงจันทร์ครั้งนี้ จะเป็นสาเหตุให้วงโคจรดวงจันทร์เปลี่ยนไป หรืออาจส่งผลกระทบอันร้ายแรงกลับมายังโลกนั้น เจ้าหน้าที่ของนาซาได้ให้ความมั่นใจว่า การยิงดวงจันทร์ครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อดวงจันทร์ มากไปกว่าผลที่เกิดจากขนตาตกใส่เครื่องบินเจ็ทแต่อย่างใด

ทั้งนี้ แดน แอนดรูวส์ (Dan Andrews) หัวหน้าปฏิบัติการการพุ่งชนดวงจันทร์ของนาซาครั้งนี้ กล่าวว่าการยิงดวงจันทร์ครั้งนี้ก็เหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นกับดวงจันทร์เดือนละ 4 ครั้งอยู่แล้ว ต่างกันก็เพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกตินั้น เป็นผลมาจากหินในอวกาศเท่านั้นเอง.
 แผนที่ดวงจันทร์ ซึ่งบริเวณที่จะยิงจรวดพุ่งอยู่ทางด้านใต้ของดวงจันทร์ บริเวณถ้ำคาเบียส โดยเดิมทีนาซามีเป้าหมายที่จะยิงจรวดไปยังถ้ำคาเบียสเอ แต่ได้เปลี่ยนเป้าหมายเป็นถ้ำคาเบียสบีที่อยู่ด้านซ้ายแทน (เอเอฟพี/นาซา)




ชมคลิปยานแอลครอสขณะพุ่งเข้าชนดวงจันทร์ซึ่งบันทึกจากทีวีของนาซา โดยกล้องดังกล่าวติดอยู่ที่ตัวยาน เมื่อพุ่งเข้าใกล้พื้นผิวดวงจันทร์ สัญญาณได้ขาดหายไป ส่วนนักวิทยาศาสตร์ก็สังเกตจากอุณหภูมิที่พื้นผิว







ชมภาพจำลองภารกิจยานแอลครอสจนกระทั่งพุ่งเข้าชนดวงจันทร์ โดยทิ้งฝุ่นควันไว้ให้วิเคราะห์หาร่องรอยน้ำกันต่อไป


ภาพพื้นผิวดวงจันทร์จากกล้องที่ติดบนยานแอลครอส ซึ่งถ่ายทอดผ่านทีวีของนาซา ขณะยานเข้าใกล้พื้นผิวดวงจันทร์มากขึ้น ซึ่งเมื่อถึงระยะหนึ่งนาซาได้แสดงภาพที่แสดงให้เห็นอุณภูมิของพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งสีน้ำเงินแสดงถึงอุณหภูมิผิวที่ค่อนข้างต่ำ ส่วนสีแดงแสดงถึงอุณหภูมิผิวที่ค่อนข้างสูง (เอพี/นาซา)





ฟังเพลงเกี่ยวกับน้ำบนดวงจันทร์ "Water On The Moon" ที่แต่งโดยจอห์น มาร์มี (John Marmie) ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ LCROSS ที่ทั้งหลงใหลในเสียงเพลงและอวกาศ ระหว่างรอสัญญาณของน้ำบนดวงจันทร์



กำลังโหลดความคิดเห็น