xs
xsm
sm
md
lg

ทัศนวิสัยดอยอินทนนท์ เหมาะตั้งหอดูดาวเป็นระดับ 2 ของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพยอดพระธาตุ 2 องค์บนดอบอินทนนท์ ทั้งนี้สภาพท้องฟ้าบนยอดดอยอินทนนท์เหมาะแก่การตั้งหอดูดาวเป็นอันดับ 2 ของโลก
เจ้าหน้าที่ สดร.เผยผลสำรวจสภาพท้องฟ้าทางดาราศาสตร์บนดอยอินทนนท์ มีค่าทัศวิสัยดีเป็นระดับ 2 ของโลก รองจากยอดเขาในฮาวาย ส่วนความชื้นสัมพัทธ์ซึ่งรบกวนความคมชัดของกล้องดูดาว ต่ำสุดแค่ 6% ระบุต้องเก็บข้อมูลสภาพท้องฟ้าทุกวัน เพื่อเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ที่จะใช้ร่วมกับกล้องดูดาว

ระหว่างการบรรยายในหัวข้อ "ดาราศาสตร์เรื่องใกล้ตัว" เมื่อวันที่ 30 ส.ค.52 ภายในงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ (Thailand Reseach Expo 2009) ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ นายธงชัย สถาพร เจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ฝ่ายพัฒนาเครื่องมือวิทยาศาสตร์ สำนักปฏิบัติการและพัฒนาหอดูดาว สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เผยถึงการตรวจสอบสภาพท้องฟ้าในทางดาราศาสตร์ในสถานที่ตั้งหอดูดาวแห่งชาติว่า มีค่าทัศนวิสัย (seeing) ประมาณ 0.8 ซึ่งค่าดังกล่าวยิ่งต่ำยิ่งทำให้สังเกตทางดาราศาสตร์ยิ่งดี

ทั้งนี้ นายธงชัยได้เล่ากับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์เพิ่มเติมว่า ได้เริ่มสำรวจสภาพท้องฟ้าบนยอดดอยอินทนนท์ตั้งแต่ มี.ค.49 ซึ่งช่วงเวลาที่สำรวจได้คือเดือน ต.ค.-พ.ค. ส่วนช่วงหน้าฝนจะงดสำรวจเนื่องจากฟ้าปิด

ในการสำรวจมีทีมทั้งหมด 4 คนที่ผลัดเวรขึ้นดอยไปสำรวจทีมละ 2 คน และผลัดเวรทีมละ 1 สัปดาห์ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ประจำสถานีบนยอดดอยเพื่อเก็บข้อมูลทุกวันตลอดช่วงเวลาสำรวจ และเก็บข้อมูลสภาพท้องฟ้าในช่วง 20.00 น.-05.00 น.ของทุกคืนอย่างตรงเวลา เพื่อได้ข้อมูลที่นำมาคำนวณได้

การวัดสภาพท้องฟ้าทางดาราศาสตร์เป็นเรื่องปกติและจำเป็นสำหรับหอดูดาว ซึ่งหอดูดาวต่างๆ ต้องมีรายงานสภาพท้องฟ้าประจำวัน และการวัดสภาพท้องฟ้า ถือเป็นภารกิจระยะยาว หอดูดาวขนาดใหญ่บางแห่งที่มีกล้องดูดาวขนาดใหญ่กว่า 5 เมตร ใช้เวลาเก็บข้อมูลสภาพท้องฟ้าถึง 10 ปีก่อนที่หอดูดาวจะสร้างเสร็จ เนื่องจากต้องการความละเอียดสูงในการถ่ายภาพดาราศาสตร์

และข้อมูลที่ได้จะนำไปใช้อ้างอิงเพื่อเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ที่จะใช้กับกล้องดูดาว ซึ่งหากใช้อุปกรณ์ที่มีความละเอียดสูง แต่ค่าทัศนวิสัยของสภาพท้องฟ้าไม่ดี ทำให้ใช้อุปกรณ์ได้ไม่เต็มที่ และอุปกรณ์ยิ่งมีความละเอียดสูงก็ยิ่งมีราคาแพงมาก

อุปกรณ์ที่จำเป็นในการสำรวจสภาพท้องฟ้าคือ กล้องโทรทรรศน์ ซึ่งทีมสำรวจใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาด 10 และ 14 นิ้ว กล้องซีซีดี (CCD) ที่สามารถคำนวณค่าทัศนวิสัยได้ สถานีตรวจวัดสภาพอากาศ และคอมพิวเตอร์สำหรับเก็บข้อมูล ซึ่งในการทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าจะเลือกดาวนำร่อง (guide star) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแสงเพื่อเป็นจุดอ้างอิงสำหรับสภาพท้องฟ้า และในแต่ละคืนจะใช้ดาวนำร่องทั้งหมด 4 ดวง

นายธงชัยกล่าวว่า สำหรับสภาพอากาศบนยอดดอยอินทนนท์ค่อนข้างเอื้อต่อการตั้งหอดูดาว เนื่องจากมีค่าทัศนวิสัยที่ดีมาก โดยเป็นระดับ 2 ของโลก ซึ่งมีค่าทัศนวิสัยของท้องฟ้าอยู่ในช่วง 0.6-1.0 และมีหลายแห่งในโลกที่มีทัศนวิสัยสภาพท้องฟ้าเป็นระดับสอง

ส่วนระดับ 1 นั้นมีค่าทัศนวิสัยอยู่ในช่วงต่ำกว่า 0.6 โดยยอดเขาในมัวนาคี มลรัฐฮาวาย สหรัฐฯ ซึ่งมีหอดูดาวอยู่จำนวนมากมีค่าทัศนวิสัยดีอยู่ในช่วงระดับ 1 ของโลก สำหรับค่าทัศนวิสัยนั้นคำนวณจากหลายองค์ประกอบ อาทิ ความเร็วลม ความกดอากาศ อุณหภูมิ ความชื้นและทิศทางลม ซึ่งตลอดการเก็บข้อมูลกว่า 3 ปี ค่าทัศนวิสัยแย่ที่สุดอยู่ในช่วงปี 2551 เนื่องจากมีความชื้นสูง

พร้อมกันนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเครื่องมือวิทยาศาสตร์ สดร.ยังบอกถึงอุปสรรคของการตรวจวัดสภาพอากาศว่า อย่างแรกคืออุปกรณ์ไม่พร้อม และหาบุคลากรขึ้นดอยไปเก็บข้อมูลได้ยาก เนื่องจากสภาพที่อยู่ค่อนข้างลำบาก บางครั้งไม่มีนำใช้และมีอากาศที่หนาวเย็น ซึ่งเคยประสบช่วงที่อุณภูมิต่ำสุดถึง -5 องศาเซลเซียส อีกทั้งบางครั้งความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต่ำมากจนผิวแตกและมีเลือดซึมจากผิวหนัง ต้องทาปิโตรเลียมเจลหนาเพื่อป้องกัน โดยสภาพความชื้นต่ำที่สุดที่เคยวัดได้คือ 6%




บริเวณที่ตั้งหอดูดาวแห่งชาติในพื้นที่ส่งสัญญาณของทีโอที ซึ่งหลักแดง-ขาว แสดงพื้นที่ของหอดูดาวที่จะสร้างเป็นโดมทรงกระบอก
นายธงชัย สถาพร
กำลังโหลดความคิดเห็น