xs
xsm
sm
md
lg

ชี้โรงเรียนไทยรับเสียงรบกวนเกินมาตรฐาน หวั่นเป็นเหตุให้การศึกษาไทยตกต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มลพิษทางเสียงจากการจราจร ภัยที่คุกคามชีวิตเยาวชนไทย และอาจทำให้มาตรฐานการศึกษาไทยต่ำลงโดยที่ไม่มีใครคาดคิด
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมศึกษามลพิษทางเสียง พบโรงเรียนหลายแห่งในไทยมีระดับเสียงรบกวนมากเกินไป และมีเกณฑ์ระดับเสียงเกินมาตรฐาน ส่งผลต่อการรับรู้ของนักเรียนขณะเรียนหนังสือ หวั่นอาจเป็นเหตุให้มาตรฐานการศึกษาไทยตกต่ำได้ ชี้ควรรีบหาทางแก้ไข ปีหน้าเตรียมวิจัยต่อ หาวัสดุราคาถูกแต่ประสิทธิภาพสูงสำหรับสร้างกำแพงกั้นเสียงใช้ในไทย

"ความเงียบสงบเป็นพื้นฐานของสมาธิ" นายธนาวุธ โนราช นักวิชาการสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในระหว่างการสัมมนาเรื่อง "มลพิษทางเสียง ภัยที่คุกคามชีวิตเยาวชน" ในงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2552 ที่ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 52 ที่ผ่านมา พร้อมกับเปิดเผยถึงผลการวิจัยเรื่องผลกระทบของเสียงรบกวนจาการจราจรที่มีผลต่อการฟังต่อนักเรียนในโรงเรียน

นักวิจัยได้เก็บข้อมูลระดับเสียงด้วยเครื่องวัดเสียงชนิด Integrated Sound Level Meter บริเวณในและนอกโรงเรียน 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวัดมูลจินดาราม จ.ปทุมธานี, โรงเรียนวัดเถรพลาย จ.สุพรรณบุรี และ โรงเรียนวัดบางลี่ จ.ราชบุรี โดยเก็บข้อมูลทุกวันตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 09.00-15.00 น. ซึ่งเวลาดังกล่าวเป็นช่วงของการเรียนการสอน และโรงเรียนเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากเสียงรบกวนที่มาจากการจราบนบนทางต่างระดับ ทางราบ และรถไฟ ตามลำดับ

จากนั้นนำข้อมูลที่ได้ไปคำนวณวิเคราะห์ระดับเสียงรบกวนตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 29 พ.ศ. 2550 เรื่องค่าระดับเสียงรบกวน ซึ่งเสียงรบกวนที่เกิดจากการจราจรแล้วมีผลกระทบกับโรงเรียนจัดอยู่ในกรณีที่ 4 คือเสียงรบกวนเกิดขึ้นในพื้นที่ต้องการความสงบ ซึ่งพบว่าค่าระดับการรบกวนของโรงเรียนทั้ง 3 แห่ง ได้เกินกว่า 10 เดซิเบล และบางช่วงเวลามากกว่า 20 เดซิเบล โดยหากค่าระดับการรบกวนมากกว่า 10 เดซิเบล แสดงว่าเสียงที่เกิดขึ้นจากการจราจรส่งผลรบกวนต่อผู้ได้รับเสียง

นอกจากนั้นนักวิจัยยังได้ศึกษาต่อไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างเสียงรบกวนกับเปอร์เซ็นการรับรู้จากการฟัง ซึ่งจากข้อมูลที่เคยมีการศึกษาและรายงานไว้ระบุว่าเกณฑ์ระดับเสียง (Noise Criteria) ของห้องเรียนควรอยู่ระหว่าง 40-50 เดซิเบล แต่จากการเก็บข้อมูลเกณฑ์ระดับเสียงในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศรวม 20 แห่ง ที่ตั้งอยู่ติดถนน รวมทั้ง 3 โรงเรียนข้างต้น พบว่ามีเกณฑ์ระดับเสียงอยู่ระหว่าง 50-80 เดซิเบล ซึ่งเกินมาตรฐานไปมาก และรบกวนการเรียนการสอนในโรงเรียน

จากนั้นเก็บข้อมูลการรับรู้จากการฟังของนักเรียนในโรงเรียนทั้ง 20 แห่ง รวมมากกว่า 18,000 คน โดยให้ครูผู้สอนพูดคำศัพท์ออกไป 100 คำ แล้วประเมินว่านักเรียนแต่ละคนสามารถรับรู้สิ่งที่ครูพูดได้มากน้อยแค่ไหน และเมื่อวิเคราะห์ผลพบว่าเปอร์เซ็นการรับรู้ของเด็กยิ่งต่ำลงเมื่อระดับเสียงรบกวนภายในโรงเรียนมีมากขึ้น

ทั้งนี้ นายธนาวุธกล่าวว่าระดับของเสียงรบกวนเหล่านี้มีผลต่อการรับรู้ของเด็กในระหว่างเรียนหนังสือ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่มีส่วนทำให้มาตรฐานการศึกษาของไทยตกต่ำได้ เพราะโรงเรียนในประเทศไทยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ติดถนน และมีรั้วโรงเรียนแบบโปร่ง ผู้เกี่ยวข้องควรหาทางแก้ไขโดยด่วน โดยอาจทำได้ทั้งควบคุมที่แหล่งกำเนิดเสียงโดยตรง หรือควบคุมระหว่างทางเดินของเสียง โดยหาอะไรมากั้นกลางระหว่างแหล่งกำเนิดเสียงและผู้รับเสียง เช่น สร้างกำแพงกั้นเสียง

อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้วัสดุสำหรับสร้างกำแพงกั้นเสียงก็ต้องพิจารณาให้เหมาะสม ซึ่งโดยประมาณแล้ววัสดุที่มีความหนาแน่นต่อพื้นที่ 19.35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร จะสามารถลดระดับเสียงที่ทะลุผ่านลงได้ 20 เดซิเบล ซึ่งก้อนอิฐทั่วไปมีคุณสมบัติเกินกว่านี้ จึงน่าจะสามารถนำมาสร้างกำแพงกั้นเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ากำแพงกั้นเสียงโดยทั่วไปที่ลดเสียงลงได้เพียง 10 เดซิเบล ซึ่งนายธนาวุธ จะทำการวิจัยต่อไปว่าวัสดุชนิดใดที่มีในประเทศไทยมีศักยภาพนำมาใช้เป็นวัสดุสำหรับกำแพงกั้นเสียง เพื่อลดการนำเข้ากำแพงกั้นเสียงจากต่างประเทศ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และจะเริ่มต้นศึกษาในต้นปีหน้า
นายธนาวุธ โนราช นักวิชาการสิ่งแวดล้อม
กำลังโหลดความคิดเห็น