"ยุววิจัยลีซา" นักวิจัยวัยเยาว์ จับกลุ่มเพื่อนวิเคราะห์ความสว่างของ "ดาวหางลู่หลิน" ที่โด่งดังเมื่อต้นปี ด้วยลักษณะวงโคจรที่พอดีกับวงโคจรโลก นำเสนอผลงานหลังเข้าค่ายร่วมกัน 1 เดือน เผยนอกจากได้เรียนรู้วิธีทำงานของนักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์แล้ว ยังได้เรียนรู้ความแตกต่างทั้งความเป็นอยู่และศาสนาของเพื่อนต่างท้องที่ด้วย
หลังนำเสนอผลงานวิจัยการศึกษาความสว่างของดาวหางลู่หลิน (Lulin) ภายในงาน "ไขปริศนาจักรวาลผ่านงานวิจัยและไอที ศักยภาพเด็กไทยบนเวทีนานาชาติ" ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 ส.ค.52 ที่ผ่านมา นายกาบาล บาฮะ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนมูลนิธิอาซิซสถาน จ.ปัตตานี และนายนคเรศ อินทนะ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนจักรคำคณาธร จ.ลำพูน หนึ่งในสมาชิกทีมยุววิจัยศูนย์การเรียนรู้โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา) ที่ร่วมกันศึกษาเรื่องดังกล่าว ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าเมื่อต้นปีดาวหางลู่หลินเป็นที่กล่าวถึงกันมาก และหัวข้อวิจัยนี้เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ทีมวิจัยสนใจ
"ดาวหางลู่หลินเป็นดาวหางที่พบ โดยหอดูดาวลู่หลินของจีน ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อค้นหาดาวหางโดยเฉพาะ และระหว่างที่ดาวหางโคจรมาใกล้โลกนั้น ก็พบการระเบิดที่สังเกตได้ด้วยตาเปล่า เมื่อต้นปีดาวหางดวงนี้ดังมาก และเรายังเห็นหางของดาวหาง 2 หาง อยู่ในทิศทางตรงกันข้าม เหมือนเป็นแฉก ซึ่งในรอบ 100 ปีไม่เคยมีมาก่อน ปกติดาวหางมีสองแฉกแต่เราเห็นในทิศทางเดียวกัน" กาบาลและนคเรศบอกที่มาที่ไปของการทำงานวิจัย
หลังได้รับภาพดาวหางที่บันทึกด้วยกล้อง ROTSE โดยใช้เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เมตรที่ติดตั้งรอบโลกทั้งหมด 4 แห่ง ทีมวิจัยได้นำภาพดังกล่าวมาวิเคราะห์ พร้อมกับชักชวนเพื่อนๆ ประมาณ 20 คน มาร่วมกันคำนวณหาความสว่างของดาวหางลู่หลิน
ทั้งนี้ในการคำณวนพวกเขาอาศัยซอฟต์แวร์ทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ ซอฟแวร์ DS9 สำหรับหาตำแหน่งดาวฤกษ์ ซอฟต์แวร์ IRIS สำหรับหาความหนาแน่นของดาวฤกษ์ ซึ่งในการคำนวณโดยใช้ซอฟต์แวร์นี้ จะคลาดเคลื่อนไปตามประสบการณ์ของแต่ละคน
สำหรับทีมของกาบาลและนคเรศ ต้องนำค่าที่ได้ไปหาค่าเฉลี่ยและหาค่าเบี่ยงเบน มาตรฐานของข้อมูลจากเพื่อนๆ ด้วย ส่วนซอฟต์แวร์สุดท้ายคือ The Sky6 ซอฟต์แวร์สำหรับอ้างอิงตำแหน่งดาวฤกษ์จากซอฟต์แวร์ DS9
อย่างไรก็ดี ทีมยุววิจัยระบุว่า กราฟความสว่างของดาวหางจากข้อมูลที่เพื่อนๆ ช่วยคำนวณนั้นยังไม่ดีพอที่จะบอกได้ว่าความสว่างของดาหางเป็นเท่าไหร่ แต่ข้อมูลคร่าวๆ ของพวกเขาก็สอดคล้องกับความสว่างที่ปรากฏบนท้องฟ้าของดาวหาง นั่นคือดาวหางสว่างมากที่สุดในวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ดาวหางเข้าใกล้โลกมากที่สุด หลังจากนั้นความสว่างของดาวหางก็ลดลงเรื่อยๆ
ทั้งนี้ ทั้งสองคนได้ร่วมกันวิจัยหาความสว่างของดาวหางนี้ร่วมกับสมาชิกอีก 2 คนคือ นายมัชฌิมา จันทร์กล้า นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์และ ด.ช.กฤษณ์ บุญศิริเศรษฐ์ นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม โดยกาบาลนักเรียนมุสลิมกล่าวกับเราว่า ได้ร่วมกับเพื่อนทำงานวิจัยนี้ในช่วงปิดเทอมเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งนอกจากได้เรียนรู้การทำงานของนักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์แล้ว ยังได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นซึ่งต่างที่มา มีความเป็นต่างกันและความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกัน แต่เข้าใจกันได้ด้วยการคุยกัน
นอกจากงานวิจัยหาความสว่างของดาวหางลู่หลินแล้ว ทีมข่าววิทยาศาสตร์ยังได้พูดคุยกับ น.ส.ลลิตวดี กวินวณิชกิจ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนายทวีวัฒน์ สมบูรณ์ปัญญากุล นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งร่วมกับนายแสงแรก ชลศรานนท์ นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาอัตราการเกิดดาวฤกษ์ของกาแลกซีหรือดาราจักรต่างๆ
ทั้งนี้ ลลิตวดีและทวีวัฒน์บอกว่า ใช้ข้อมูลออนไลน์ของกล้องโทรทรรศน์ SDSS (Sloan Digital Sky Survey) จำนวน 3,800 ข้อมูลมาวิเคราะห์ และจำแนกข้อมูลเป็นกาแลกซีประเภทต่างๆ แล้วหาอัตราการเกิดดาวฤกษ์โดยวิเคราะห์ออกซิเจนและไฮโดรเจนจากสเปกตรัมของ ภาพ ซึ่งได้ผลคือกาแลกซีรูปกังหันมีอัตราการเกิดของดาวฤกษ์มากที่สุด รองลงมาคือกาแลกซีทรงรี
ภายในการแสดงผลงานวิจัยไขปริศนาจักรวาลผ่านงานวิจัยและไอทีฯ ยังมีการนำเสนอผลงานเรื่องการวัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดาวเคราะห์ด้วยวิธี อินเตอร์เฟอโรเมทรี และองค์ประกอบของดาวแคระขาว โดย น.ส.ธัญชนก ธรรมสัญญา ชั้น ม.6 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และน.ส.การปฐม เกษรสุวรรณ์ ชั้น ม.5 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย ซึ่งผลงานทั้ง 4 หัวข้อนี้ ได้ผ่านการนำเสนอในเวทีวิชาการระดับนานาชาติมาแล้ว
อีกทั้ง ศ.มิแกล โบเออร์ (Prof.Michel Boer) ผู้อำนวยการหอดูดาวโอตโพรวองซ์ (Haute-Provence) จากประเทศฝรั่งเศสยังได้ร่วมฟังการนำเสนอผลงานวิจัยและให้คำแนะนำในการทำวิจัยแก่เยาวชนทั้ง 4 กลุ่มและนักเรียนที่เข้าฟังการบรรยายด้วย.