xs
xsm
sm
md
lg

เจ๋งไม่หยุด! เด็กไทยพิชิต 1 ทอง 2 เงิน 1 ทองแดง คอมฯ โอลิมปิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยลโฉมคนเก่งจากซ้ายไปขวา : ทักษพร  กิตติอัครเสถียร , พศิน มนูรังษี , อาภาพงศ์ จันทร์ทอง , วิสิฐ ภัทรนุธาพร
เจ๋งได้อีก! เด็กไทยบินลัดฟ้าถึงบัลกาเรียสร้างชื่อ คว้า 1 ทอง 2 เงิน 1 ทองแดง การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ

นางสาวนารี วงศ์สิโรจน์กุล รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แจ้งว่าตามที่สสวท.ได้คัดเลือกและจัดส่ง คณะผู้แทนประเทศไทยไป แข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี 2552 จำนวน 4 คน ระหว่างวันที่ 8 - 14 สิงหาคม 2552 ณ เมืองพลอฟดิฟ ประเทศบัลกาเรีย โดยมีจำนวนทีมที่เข้าแข่งขัน 84 ประเทศ รวมผู้เข้าแข่งขัน 324 คน ผลปรากฏว่าผู้แทนประเทศไทยทำได้ 1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง จากฝีมือของ

นายวิสิฐ ภัทรนุธาพร โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เหรียญทอง

นายพศิน มนูรังษี โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เหรียญเงิน

นายอาภาพงศ์ จันทร์ทอง โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เหรียญเงิน

นางสาวทักษพร กิตติอัครเสถียร โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เหรียญทองแดง


ทั้งนี้คณะผู้แทนประเทศไทยฯ จะเดินทางกลับถึงไทยในวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2552 เที่ยวบินTG 923 เวลา 12.55 น. สสวท.จะมีพิธีต้อนรับคณะผู้แทนประเทศไทยฯ ตามกำหนดดังกล่าว ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ที่ชั้น 2 ด้านใน ประตูที่ 5
วิสิฐ ภัทรนุธาพร
นายวิสิฐ ภัทรนุธาพร (โม) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งปีที่ผ่านมาคว้าเหรียญทองแดงคอมพิวเตอร์โอลิมปิกจากประเทศอียิปต์ ส่วนในครั้งนี้คว้าเหรียญทอง เปิดเผยว่า การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการมีส่วนส่งเสริมเด็กรุ่นใหม่สนใจเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้นพอสมควร เพราะหลังจากมีโครงการโอลิมปิกวิชาการโดยสสวท.และมูลนิธิสอวน. รวมทั้งโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สสวท.แล้ว มาตรฐานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ของนักเรียนไทยก็สูงขึ้น จำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการก็มากขึ้นทุกปี เนื่องจากได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้ง และการแข่งขันช่วยกระตุ้นการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

“ครอบครัวมีส่วนสนับสนุนการเรียนดีและปลูกฝังพื้นฐานที่ดีให้แก่ลูกครับ เพราะถ้าลูกขาดการอบรมอย่างเพียงพอและเหมาะสม ก็จะไม่รู้จักผิดชอบชั่วดีไม่เรียนหนังสือ มัวแต่เที่ยวเล่น เสี่ยงต่อยาเสพติด สังเกตได้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมักมีครอบครัวที่อบอุ่น ปลูกฝังทั้งการศึกษา คุณธรรม จริยธรรม ครอบครัวจึงเป็นรากฐานสำคัญของอนาคตชาติครับ ” นายวิสิฐ กล่าว
พศิน มนูรังษี
นายพศิน มนูรังษี (กันต์) ชั้นม. 5 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งโอลิมปิกวิชาการมาแล้วถึง 3 ครั้ง โดยปีที่แล้วคว้าเหรียญทองคณิตศาสตร์โอลิมปิกจากประเทศสเปนและยังทำคะแนนได้สูงเป็นอันดับที่ 8 ของโลก กล่าวว่า ในปีนี้ตนเบนเป้ามาเป็นผู้แทนประเทศไทยวิชาคอมพิวเตอร์เพราะเห็นว่าคอมพิวเตอร์มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตในโลกปัจจุบันมาก ทั้งการทำงาน การเรียน การติดต่อสื่อสาร ในส่วนเกมคอมพิวเตอร์ถ้าจะป้องกันไม่ให้เด็กติดเกมนั้น ก็ต้องกำหนดเวลาไว้คร่าวๆ ก่อนเล่นว่าจะทำอะไร ตอนไหน แค่ไหน เพื่อที่จะได้ทำกิจวัตรประจำวันได้สมดุล
 
“ผมคิดว่าการเป็นคนเก่งนั้นจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อเราได้นำเอาความรู้ที่มีอยู่ไปใช้ในทางที่ถูกต้องเท่านั้น” นายพศิน กล่าว
อาภาพงศ์ จันทร์ทอง
นายอาภาพงศ์ จันทร์ทอง (เพลน) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการเรียนเน้นเนื้อหาหนัก ไม่เน้นการคิดวิเคราะห์ให้เด็กแสดงความคิดเห็น แต่เน้นเรื่องสอบมากเกินไป ทางที่ดีควรเน้นให้เด็กได้คิด วิเคราะห์ เพื่อแสดงความคิดเห็นมากกว่าเนื้อหาที่มากมาย หรือแม้แต่ชี้ถูกชี้ผิดคำตอบของเด็กซึ่งไม่ตรงกับคำตอบของตน ทั้งๆที่ไม่ได้มีคำตอบตายตัว

"ไม่เห็นด้วยที่ผู้ปกครองกดดันลูกให้เรียนในสิ่งที่ตนอยากให้เรียน แต่ควรปล่อยให้ลูกตัดสินใจเองบ้างจะทำให้มีความสุข บางครอบครัวอยากให้ลูกเรียนแพทย์ ลูกก็อาจจะเรียนได้ดีแต่ไม่ได้เรียนในสิ่งที่เขารักจริงๆ ซึ่งเห็นว่าความสุขมาจากการเรียนรู้ในสิ่งที่เรารักต่างหาก ผมมีโอกาสถ่ายทอดความรู้ให้รุ่นน้อง รวมทั้งทำเว็บแอ็พพลิเคชั่นให้กับบางฝ่ายงานของโรงเรียนด้วย อนาคตตั้งใจอยากสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อที่ประเทศไทยจะได้ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติ แต่หันมาใช้ของที่ผลิตคิดค้นได้ด้วยมันสมองของเราเอง" นายอาภาพงศ์ กล่าว
ทักษพร  กิตติอัครเสถียร
ด้าน นางสาวทักษพร กิตติอัครเสถียร (นาว) โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เปิดเผยว่า อนาคตอยากทำงานเขียนโปรแกรมที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในโลกได้ ส่วนปัจจุบันมีหลักในการเรียนดีคือไม่ใช้เวลาทั้งหมดกับการเรียนแต่แบ่งเวลาพักผ่อนบ้าง เคยทดลองเรียนกวดวิชาแล้ว แต่ไม่ชอบจึงเลิกและเปลี่ยนมาศึกษาด้วยตัวเองโดยตั้งใจเรียนในห้องให้มากๆ เอาใจใส่ทำการบ้าน ทำให้ได้คะแนนดี แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ แบบช่วยกันเรียน และสอนการเขียนโปรแกรมให้รุ่นน้องที่สนใจเข้าโครงการโอลิมปิกด้วย

"โอลิมปิกวิชาการทำให้นักเรียนได้รับความรู้มากขึ้นและได้ปฏิบัติจริง พร้อมทั้งส่งเสริมให้คนอื่นๆ สนใจสมัครเข้าโครงการเพราะได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จ" น.ส.ทักษพร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น