ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว วงการอวกาศของสหรัฐฯ อยู่ในช่วงซบเซา ความสำเร็จของโครงการ “อะพอลโล” เริ่มเลือนหายกลายไปเป็นตำนาน แต่โลกอีกด้านของเอกภพได้เจิดจรัสผ่านหน้าจอทีวีโดยชายคนนี้ “คาร์ล ซาแกน”
รายการ “คอสมอส” (Cosmos) เป็นรายการโทรทัศน์ ที่สร้างความคึกคักและทำให้เกิดความสนใจต่อเอกภพอย่างกว้าง ผ่านการดำเนินรายการโดย “คาร์ล ซาแกน” (Carl Sagan) นักดาราศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการอวกาศสหรัฐฯ ซึ่งข้อมูลจากเว็บไซต์ทางการของเขาระบุว่า มีผู้คนกว่าพันล้านคนใน 60 ประเทศทั่วโลกที่ได้ชมรายการนี้
สำหรับคนไทยคงรู้จักเขาดี ในฐานะนักเขียนผู้แต่งนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง “คอนแทค” (Contact) ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการได้รับการติดต่อจากสิ่งมีชีวิต และนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา นอกจากนี้เขายังเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้วิจัยเพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาที่อยู่นอกโลกในโครงการ “เซติ” (SETI) โครงการเดียวกับที่เป็นแกนหลักของนิยายไซไฟเรื่องคอนแทค
อีวาน เซเมเนียก (Ivan Semeniuk) เขียนบลอกในนิวไซแอนทิสต์ว่า ซาแกนเป็นผู้ที่มีความลงตัว ระหว่างการเป็นศาสตราจารย์และมีความเป็นเด็ก และบทบาทของเขาที่มีต่อวิทยาศาสตร์ในวงการโทรทัศน์นั้น ก็เป็นที่รู้จักอย่างดี โดยเขาได้ฉายให้เห็นภาพของห้วงอวกาศอันยาวไกล ยิ่งกว่าความสามารถของกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล และปฏิบัติการสำรวจดวงดาวอย่าง “แคสสินี” (Cassini mission)
นอกไปจากการแปลงภาษาเทพของวงการอวกาศ ให้เป็นเรื่องเข้าใจง่ายแก่คนทั่วไปแล้ว ซาแกนยังเป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการศึกษาดวงดาวของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) และเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1950 พร้อมทั้งให้คำปรึกษาแก่นักบินอวกาศในโครงการอะพอลโล ก่อนไปเยือนดวงจันทร์
รวมถึงเป็นผู้ทำการทดลองยานสำรวจดาวเคราะห์ของนาซา อย่างมาริเนอร์ (Mariner) ไวกิง (Viking) วอยเอเจอร์ (Voyager) และกาลิเลโอ (Galileo) แล้วยังช่วยไขปริศนาการเป็นดาวที่มีอุณหภูมิสูงมากของดาวศุกร์ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศบนดาวอังคาร และเมฆหมอกสีแดงบนดวงจันทร์ไททัน (Titan)
นาซาระบุว่า ซาแกนได้ช่วยออกแบบแผ่นป้ายสำหรับติดไปบนยานไพโอเนียร์ 10 (Pioneer 10) และ ไพโอเนียร์ 11 ซึ่งเป็นแผ่นป้ายที่มีรูปมนุษย์หญิงและชาย และแผนภาพตำแหน่งของโลกในกาแลกซี เพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งแผ่นป้ายดังกล่าว จะถูกค้นพบโดยสิ่งมีชีวิตที่มีอารยธรรมสูงเช่นเดียวกับมนุษย์นอกโลก และเขายังได้เสียงตัวเองเพื่อทักทายกับมนุษย์ต่างดาวด้วย
ในช่วงชีวิตของซาแกนเขาได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากองค์การอวกาศต่างๆ มากมาย ทั้งรางวัลจากนาซา สมาคมนักบินอวกาศอเมริกัน สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งสหรัฐฯ และสหภาพนักบินอวกาศโซเวียต เป็นต้น
อีกทั้งผลงานเขียนเรื่อง “มังกรแห่งอีเดน” (The Dragons of Eden) ที่พูดถึงวิวัฒนาการของมนุษย์อันทรงปัญญายังได้รับรางวัลพูลิทเซอร์ (Pulitzer Prize) ขณะเดียวกันก็มีหนังสือหลายเล่มของเขาที่ติดอันดับขายดี ซึ่งรวมถึงนิยายเรื่องคอนแทคด้วย
บุคคลสำคัญของวงการอวกาศสหรัฐฯ จากโลกนี้ไปด้วยโรคไขกระดูกทำงานผิดปกติเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.1996 แต่ถ้าหากเขายังมีชีวิตอยู่นั้นในวันที่ 9 พ.ย.นี้ เขาจะมีอายุครบ 75 ปี และเพื่อระลึกถึงคุโณปการต่อวงการของเขาจึงได้กำหนด “วันคาร์ล ซาแกน” (Carl Sagan Day) ขึ้นในปี 2009 นี้ ตรงกับวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการจัดงานเป็นครั้งแรก ณ มหาวิทยาลัยโบรวาร์ด (Broward College) รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ โดยมีนักวิทยาศาสตร์หลายคนมีร่วมบรรยายพิเศษ
“คำพูดของเขามอิทธิพลต่อเราทั้งหลายตลอดช่วงชีวิต 62 ปีของเขา มันค่อนข้างแย่ทีเดียวที่เขาไม่อาจได้รับบทบาทที่เขาสร้างขึ้นนั่นคือ การเป็นตัวแทนคนแรกของเรา ไปยังอารยธรรมนอกโลก ผมกล่าวเช่นนี้เพราะดูเหมือนว่าซาแกนจะรวบรวมทุกอย่างเกี่ยวกับเรา ทั้งความเศร้าสลดในอดีต ความปรารถนาอันสูงส่ง และความหวังอันริบหรี่เพื่อบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ สุขสันต์วันครบ 75 ปี คาร์ล ขอบคุณอย่างยิ่ง” เซเมเนียกสดุดีแก่ซาแกน.