ในช่วง 2 ศตวรรษที่ผ่านมา ไม่มีนักวิทยาศาสตร์แม้แต่คนเดียวที่สามารถเทียบเท่าได้กับดาร์วิน ในเรื่องของผลกระทบต่อด้านวิทยาศาสตร์ การเมือง ศาสนา ปรัชญา ศิลปะ และถ้าวันนั้นไม่มี "The Origin of Species" วันนี้เราอาจยังไม่ได้รู้จัก "วิวัฒนาการ" ของสิ่งมีชีวิต และหาก "ชาร์ลส์ ดาร์วิน" ยังมีชีวิตอยู่ถึงปัจจุบันนี้ เราอาจได้เห็น "The Origin of Species เล่ม 2" ตามมาอย่างแน่นอน
หนังสือ "กำเนิดสปีชีส์" (The Origin of Species) ผลงานของ "ชาร์ลส์ ดาร์วิน" (Charles Darwin) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก วันที่ 24 พ.ย. 2402 ขายหมดเกลี้ยงภายในวันเดียว และยังได้รับการตีพิมพ์ออกมาอย่างต่อเนื่องหลายต่อหลายครั้ง และหลากหลายสำนวนภาษา ที่สำคัญ หนังสือเล่มนี้ยังส่งอิทธิพลต่อวงการวิทยาศาสตร์และศาสนาอย่างต่อเนื่องมานานนับศตวรรษ
เนื้อหาสำคัญที่ดาร์วินนำเสนอผ่านหนังสือเล่มดังกล่าวคือ กลไกการเกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตผ่านการคัดสรรโดยธรรมชาติ (natural selection) และไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้ แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติได้มากที่สุดที่จะอยู่รอดและดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ ซึ่งแนวคิดนี้เขารวบรวมจากหลักฐานทางธรณีวิทยาระหว่างเดินทางรอบโลกไปกับเรือหลวงบีเกิล และจากการศึกษาทดลองอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี
แนวคิดของดาร์วินนี้ได้เปิดโลกความรู้ใหม่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน พร้อมกับได้สร้างความสั่นสะเทือนต่อวงการศาสนาอย่างรุนแรงเพราะขัดแย้งกับความเชื่อดั้งเดิมที่มีอยู่ เช่นเดียวกับกรณีของกาลิเลโอเมื่อ 400 ปีก่อน
"วารสารเนเจอร์บอกว่า ในช่วง 2 ศตวรรษที่ผ่านมา ไม่มีนักวิทยาศาสตร์แม้แต่คนเดียวที่สามารถเทียบเท่าได้กับดาร์วิน ในเรื่องของผลกระทบต่อด้านวิทยาศาสตร์ การเมือง ศาสนา ปรัชญา ศิลปะ และไม่แน่ว่าอาจจะไม่มีใครเลยสักคนที่จะส่งผลกระทบต่อความรู้เกี่ยวกับชีวิตบนโลกมากเท่าดาร์วิน" ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ นักวิชาการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทค) เผยถึงคำกล่าวยกย่องของวารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดังแห่งยุคต่อนักธรรมชาติวิทยาผู้พลิกแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตบนโลก
บ้างก็ว่า "กำเนิดสปีชีส์" เป็นหนังสือเขย่าโลก เป็นหนังสือที่ระเบิดเถิดเทิงที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องราวที่น่ามหัศจรรย์ใจที่สุด หรือยกย่องว่าเป็นแนวคิดที่ทรงพลังที่สุดทางวิทยาศาสตร์ ขณะที่ฝ่ายต่อต้านที่เคร่งศาสนาและไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของดาร์วิน โจมตีกลับว่าแนวคิดของดาร์วินพัฒนามาจากความคิดที่เกิดจากความไม่รู้ หรือแม้กระทั่งกล่าวหาว่า ความรู้วิทยาศาสตร์จะทำให้คนหมดความเป็นมนุษย์ได้
เนื่องในโอกาสที่ปี 2552 เป็นวาระครบรอบ 150 ปี การตีพิมพ์หนังสือกำเนิดสปีชีส์ครั้งแรก และครบรอบ 200 ปี วันคล้ายวันเกิดของดาร์วิน สถานที่หลายแห่งทั่วโลกจึงพร้อมในกันจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ เพื่อยกย่องเชิดชูดาร์วิน ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ผู้ให้กำเนิด "ทฤษฎีวิวัฒนาการ" อันเป็นพื้นฐานของการศึกษาชีววิทยาสมัยใหม่
ในระหว่างการเสวนา "วานนี้ วันนี้ และพรุ่งนี้ของ กำเนิดสปีชีส์" ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท เมื่อกลางเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อฉลองครบรอบ 150 ปี การตีพิมพ์หนังสือเล่มดังกล่าวของดาร์วิน ดร.นำชัย ได้กล่าวถึงเรื่องน่าประหลาดใจไม่น้อยเกี่ยวกับ "กำเนิดสปีชีส์"
"ดาร์วินได้อธิบายถึงหัวใจสำคัญที่เป็นกลไกเบื้องหลังการเกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต แต่กลับไม่ได้ปรากฏคำว่า "วิวัฒนาการ" (evolution) อยู่ในหนังสือเลย ซึ่งในตอนแรกหลายคนเข้าใจว่าในสมัยนั้นยังไม่มีคำว่า "วิวัฒนาการ" แต่เมื่อนักวิชาการค้นคว้าอย่างละเอียดพบว่าคำดังกล่าวมีใช้กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2165" ดร.นำชัย เผย
ในหนังสือยังกล่าวถึงคำว่า "สปีชีส์" บ่อยครั้งมาก แต่ไม่ได้ให้คำนิยามไว้อย่างชัดเจน มีการอ้างถึงตารางหลายแห่ง แต่ไม่ปรากฏตารางใดๆ อยู่ในหนังสือเลย รวมทั้งไม่มีเอกสารอ้างอิงหรือบรรณานุกรมเหมือนรายงานวิทยาศาสตร์ทั่วไป และที่จริงดาร์วินตั้งใจจะใส่คำว่า "บทคัดย่อ" (Abstract) ไว้ในชื่อหนังสือเล่มนี้ด้วย ทว่าผู้จัดพิมพ์คัดค้านไว้ได้สำเร็จ เพราะกำเนิดสปีชีส์มีความหนามากกว่า 500 หน้า และเกินกว่าที่จะเป็นเพียงแค่บทคัดย่อ
ดร.นำชัย คาดการณ์ว่า หากดาร์วินยังมีชีวิตอยู่ถึงวันนี้ สำนักพิมพ์ต่างๆ อาจอยากได้ "กำเนิดสปีชีส์ เล่ม 2" จากเขาเป็นแน่ ทว่าไม่มีทางเป็นไปได้อย่างแน่นอน ฉะนั้นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากนี้คือ จะยังมีการตีพิมพ์กำเนิดสปีชีส์อีกต่อๆ ไป ด้วยภาพปกที่หลากหลายยิ่งขึ้น มีหนังสือใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประวัติชีวิตและผลงานของดาร์วินออกมามากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงหนังสือที่อธิบายเบื้องหลังอันเป็นที่มาของทฤษฎีวิวัฒนาการ และหนังสือเกี่ยวกับวิวัฒนาการในยุคหลังดาร์วินด้วย
ส่วนดาร์วินจะกลายเป็น "ไอดอล" ที่แสดงถึงสติปัญญาอันยิ่งยวดของมนุษย์เช่นเดียวกับกาลิเลโอ, นิวตัน และ ไอน์สไตน์ ขณะที่ "อัลเฟรด วอลเลซ" (Alfred Wallace) จะเป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะนักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งที่ค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการเช่นเดียวกับดาร์วิน
ทว่าการโต้แย้งเกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการ และ พระเจ้าสร้าง (Creation) หรือ การออกแบบอันชาญฉลาด (Intelligent Design) ก็จะยังไม่หมดไปได้โดยง่าย ดังที่ในปัจจุบัน บางมลรัฐในสหรัฐฯ มีกฎหมายห้ามสอนทฤษฎีวิวัฒนาการในชั้นเรียนเป็นอันขาด
ผ่านไปกว่า 150 ปี หนังสือกำเนิดสปีชีส์ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 425 สำนวน โดยเฉพาะฉบับภาษาญี่ปุ่นที่มีถึง 15 สำนวน ทว่ายังไม่มีฉบับภาษาไทยเลยแม้แต่สำนวนเดียว ดร.นำชัย ผู้สนใจผลงานของดาร์วินมากเป็นพิเศษ จึงคิดริเริ่มโครงการแปลหนังสือกำเนิดสปีชีส์เป็นฉบับภาษาไทยตั้งแต่ปี 50 โดยรวบรวมสมัครพรรคพวกนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจมาร่วมกันแปลผลงานแห่งประวัติศาสตร์เล่มนี้ และหวังให้เสร็จทันฉลองครบ 150 ปี การตีพิมพ์หนังสือดังกล่าว และครบ 200 ปี วันคล้ายวันเกิดของดาร์วิน
"เหตุผลสำคัญที่พวกเราต้องการแปลหนังสือเล่มนี้ เพราะผ่านไป 150 ปีแล้ว แต่บ้านเรายังไม่มีหนังสือเล่มนี้ที่เป็นฉบับภาษาไทยเลยสักสำนวน ขณะที่ชาติอื่นเขาแปลไปแล้วหลายภาษา แม้แต่บางชาติที่ไม่ค่อยสนใจวิทยาศาสตร์กันมากนักก็ยังมีฉบับแปลแล้วหลายสำนวน" ดร.นำชัยกล่าว
ทว่าด้วยความยากของเนื้อหาและสำนวนภาษาอังกฤษแบบฉบับโบราณในหนังสือที่หนากว่า 500 หน้า การแปล "กำเนิดสปีชีส์" ให้เป็นภาคภาษาไทยจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และคณะผู้แปลบางคนถึงกับถอดใจไปเลยก็มี ส่งผลให้ไม่สามารถแล้วเสร็จได้ทันกำหนดเดิมที่ตั้งใจ
"ดาร์วินมักเขียนประโยคยาวมากๆ โดยใช้เครื่องหมายโคลอน (:), เซมิโคลอน (;) และคอมมา (,) ในประโยคเยอะมาก บางประโยคมีความยาวถึง 111 คำ และภาษาที่ใช้ก็เป็นสำนวนสมัยโบราณ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะถอดความออกมาได้โดยรักษาคำและรักษาความเดิมเอาไว้ให้ได้มากที่สุดสำหรับผลงานสุดคลาสสิคอย่างนี้ แต่ถ้ารักษาความอย่างเดียวโดยไม่รักษาคำ ก็จะดูเหมือนอย่างงานแปลสมัยใหม่ที่พบได้ทั่วไป ซึ่งเราไม่ต้องการให้เห็นแบบนั้น" ดร.นำชัย เผยถึงความท้าทาย
นอกจากความอัศจรรย์ใจในเนื้อหาสาระเกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาและการใช้ภาษาของดาร์วินในหนังสือกำเนิดสปีชีส์ที่ทีมผู้แปลได้ดื่มด่ำแล้ว พวกเขายังพบว่าหนังสือกำเนิดสปีชีส์ยังให้ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ชีววิทยา พฤกษศาสตร์ สัตววิทยา ภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา รวมไปถึงด้านสังคมศาสตร์ด้วย
ขณะนี้ทีมผู้แปลกำเนิดสปีชีส์ฉบับภาษาไทยรวม 7 ชีวิต ซึ่งประกอบด้วย ดร.นำชัย, ดร.อุบลศรี เลิศสกุลพานิช นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ, ดร.ศศิวิมล แสวงผล ภาควิชาพฤกษศาสตร์ ดร.ณัฐพล อ่อนปาน วิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ผศ.ดร.ต่อศักดิ์ สีลานันท์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์, ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ภาควิชาชีววิทยา และ ดร.จันทร์เพ็ญ จันทร์เจ้า ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แปลผลงานชิ้นประวัติศาสตร์ร่วมกันไปได้เกือบ 80% แล้ว และยังคงพร้อมใจกันพายเรือลำนี้ไปให้ถึงฝั่งในเร็วๆ นี้
หากโชคดี เดือน เม.ย. ที่จะถึงนี้ พวกเราคงได้อ่านหนังสือกำเนิดสปีชีส์ฉบับภาษาไทยกัน หรือหากยังติดขัดอยู่ก็อาจต้องอดทนรอต่อไปอีกสักหน่อย แต่คงไม่นานเกินรอ เพราะไหนๆ เราก็รอมาแล้วถึง 150 ปี