หลายคนอาจไม่ทราบว่า เมืองไทยมีเทศกาลภาพยนตร์ที่สำคัญอย่าง Science Film Festival ที่เยาวชนไทยมีโอกาสได้ชมรายการน้ำดี ที่แฝงความรู้อยู่ในความบันเทิง และเทศกาลนี้ก็จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 แล้ว โดยมียอดผู้เข้าร่วมเทศกาลเพิ่มขึ้นทุกปี จนรับการันตีว่าเป็นเทศกาลภาพยนตร์วิทย์ที่ใหญ่สุดในโลก
เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ (Science Film Festival) จัดขึ้นโดยความร่วมมือของสถาบันเกอเธ่ สถานทูตฝรั่งเศสและสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี 2548 โดยฉายภายนตร์และสารคดีวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกให้ชมฟรี ภายใต้แนวคิด “เรามอบความรู้คู่ความบันเทิง” โดยเทศกาลครั้งล่าสุดนี้จัดขึ้น พร้อมกับหัวข้อ ฉลองปีดาราศาสตร์สากล และวาระครบรอบ 200 ปี ชาร์ลส์ ดาร์วิน
จากเดิมที่จัดขึ้นเพียงไม่กี่วัน ปัจจุบันเทศกาลขยายเวลาออกเป็นสัปดาห์ สำหรับเทศกาลประจำปี 2552 นี้จัดขึ้นระหว่าง 17-27 พ.ย. มีภาพยนตร์เข้าฉายในเทศกาลทั้งหมด 45 เรื่องจาก 13 ประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรีย อังกฤษ เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น เวียดนามและไทย เป็นต้น โดยการคัดเลือกภาพยนตร์ 130 เรื่องจาก 22 ประเทศที่ส่งเข้าร่วมในเทศกาล
ยอดผู้เข้าชมภาพยนตร์ในเทศกาลเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปีที่แล้วมีผู้เข้าร่วมในเทศกาลภาพยนตร์ทั้งหมดกว่า 88,000 คน ซึ่ง ดร.นอร์แบร์ท ชปิทซ์ ผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่ประเทศไทย หัวเรือหลักในการจัดกิจกรรมครั้งนี่กล่าวว่า นับเป็นเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่เทศกาลนี้ไม่ได้ให้แค่ความบันเทิงแต่ให้ความรู้ ต่างจากเทศกาลภาพยนตร์อื่นๆ ที่มีอยู่มากมายซึ่งให้ความบันเทิงอย่างเดียว
"เทศกาลภาพยนตร์นี้ จะสร้างความสงสัยใคร่รู้ให้กับเด็กๆ เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และได้ตระหนักในการค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง และจะเป็นก้าวแรกให้เด็กๆ ได้เห็นว่าการเรียนรู้ก็เป็นเรื่องที่สนุกได้" ดร.ชปิทซ์กล่าว
สำหรับ เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ครั้งที่ 5 นี้ มีภาพยนตร์ที่เข้าฉายให้ชมฟรีถึง 45 เรื่อง และบางเรื่องยังเป็นภาพยนตร์จากประเทศเพื่อนบ้านที่เพิ่งส่งเข้าร่วมเทศกาลเป็นครั้งแรกด้วย
- ดำน้ำตามหาละอองดาว (Fishing the Stars)
ภาพยนตร์ฝรั่งเศสที่ส่งมาร่วมเทศกาลเพื่อฉลองปีดาราศาสตร์สากลโดยเฉพาะ เป็นภาพยนตร์ความยาว 26 นาที ที่เล่าเรื่องกล้องแอนทาเรสซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์สำหรับตามหา “นิวทริโน” อนุภาคที่นำสารปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่รุนแรงจากเอกภพที่ห่างไกล เช่น การระเบิดซูเปอร์โนวา หลุมดำหรือสสารมืดที่ลึกลับ โดยติดตั้งกล้องที่ลึกลงไปใต้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน 2,500 เมตร
- หมูก็มีสมอง (Pig Head)
ภาพยนตร์จากฝรั่งเศสอีกเรื่องที่จะบอกเล่าความน่าทึ่งของ “หมู” ที่มีดีกว่าแค่อ้วน ภาพยนตร์จากสารคดีชุด “ฮิวแมนนิมอล” (Humanimal) ความยาว 52 นาทีนี้ จะบอกเล่าความฉลาด ความสามารถในการเรียนรู้ จดจำและเลียนแบบ และเผยให้เห็นว่าหมูเป็นสัตว์ที่มีความฉลาดเป็นอันดับ 3 ซึ่งฉลาดพอๆ กับสุนัขแสนรู้เลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังมีการทดลองที่แสดงให้ว่าเจ้าหมูนั้นสามารถเรียนรู้วิธีเล่นวีดีโอเกมขั้นพื้นฐาน จำสัญลักษณ์ง่ายๆ และเชื่อมโยงสัญลักษณ์เหล่านั้นกับพฤติกรรมหรือสถานการณ์ได้ รวมถึงการทดลองเพื่อทำความเข้าใจการสื่อสารของหมูที่มีเสียงร้องอันหลากหลาย ซึ่งความซับซ้อนของเสียงและท่าทางของสัตว์นั้นแสดงถึงความเฉลียวฉลาด
- ดินแดนที่แห้งเหือด (White Land)
ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์จากเวียดนามเรื่องเดียว ที่เข้าฉายในเทศกาลครั้งนี้ เป็นภาพยนตร์ความยาว 27 นาที เป็นภาพยนตร์ที่กล่าวถึงเวียดนามที่เป็นหนึ่งกลุ่มประเทศที่ผืนแผ่นดินเปลี่ยนแปลงไปสู่ความแห้งแล้งอย่างรวดเร็ว พื้นที่เกือบ 1 ใน 3 ของแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์กำลังเสื่อมโทรมลง และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปทั่วเวียดนามขณะนี้ นับเป็นความจริงที่ยากจะเชื่อเพราะเวียดนามเคยเป็นประเทศที่มีดินอุดมสมบูรณ์ที่สุด
- ญี่ปุ่น เจ้าแห่งข้าวจ้าว (I saw the Earth change Japan: “the Rice master”)
ภาพยนตร์ฝรั่งเศสความยาว 52 นาที ที่ถ่ายทอดผลกระทบเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านประสบการณ์ของชาวนาญี่ปุ่น ภาพยนตร์ที่จะตอกย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นไม่ไดเป็นเพียงทฤษฎี และทุกวันนี้เราสามารถรับรู้ได้ถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
- เด็กน้อยกับมหันตภัยน้ำท่วม (Children of the Flood)
สารคดีจากเยอรมนีความยาว 48 นาที สำรวจให้เห็นถึงผลของสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงในประเทศกรีนแลนด์ เปรู ดูไบ เนเธอร์แลนด์ บังคลาเทศ และประเทศอื่นๆนอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการนำบทบัญญัติเก่าที่ได้ถูกร่างขึ้นใหม่อย่างดีมาใช้มีการแสดงให้เห็นถึงการดำรงชีวิตของเด็กๆในอนาคตบนสามทวีปโลก ใช้การบรรยายเฉพาะทางและการใช้คอมพิวเตอร์อย่างดีสร้างภาพเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนความจริงทางด้านวิทยาศาสตร์ด้วย
- ปริศนาแห่งเมฆ (The Cloud Mystery)
ภาพยนตร์จากเดนมาร์ก ที่จะทำให้เราได้ทราบถึงความพยายามของนักฟิสิกส์ชาวเดนมาร์ก เฮนริก สเวนส์มาร์ก (Henrik Svensmark) ที่พยายามถึง 12 ปี ในการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ว่า ก้อนเมฆทั้งหลายส่งอิทธิพลอย่างมหันต์ ต่อภูมิอากาศของโลก ขอบเขตของวิทยาศาสตร์ได้ขยายมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากหลายล้านปีที่แล้ว จนถึงปฏิกิริยาทางเคมีที่เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อนล่องลอยอยู่ในอากาศเหนือตัวเราทุกวันนี้ถูกขับเคลื่อนโดยรังสีคอสมิกซึ่งได้มาจากการระเบิดของดวงดาวต่างๆ เรื่องที่น่าทึ่งพอๆ กันคือเขาและเพื่อนกลุ่มเล็กๆ ทั่วโลกพยายามเอาชนะคำครหาของการค้นพบที่น่าอัศจรรย์นี้ที่ไม่เคยได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการมาก่อน
- มนุษย์กับลิงต่างกันตรงไหน (Humans and Apes)
ภาพยนตร์ครึ่งชั่วโมงจากเยอรมนีที่จะหาคำตอบว่ามนุษย์เรามาจากไหน มนุษย์กับลิงมีอะไรที่เหมือนและต่างกัน โดยผู้ร่วมไขคำตอบคือ “ซินา” (Sina) เจ้าลิงซิมแปนซี กับ “โอลิเวอร์” (Oliver) นักบรรพชีวินวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับชีวิตของพืชและสัตว์กำลังพยายามค้นหาคำตอบต่างๆ เหล่านี้ด้วยการทดลองที่สุดพิเศษ โดยจะย้อนเวลากลับสู่อดีตพร้อมกับบรรพบุรุษของเราเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับต้นกำเนิดของมนุษย์
- วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต (Species and subspecies)
สารคดีจากฝรั่งเศสความยาว 82 นาที ที่จะให้มุมมองใหม่เกี่ยวกับแผนที่แสดงพืชพันธุ์และวงศ์วานของสิ่งมีชีวิตแสดงให้เห็นความเกี่ยวโยง อันน่าพิศวงของกำเนิดของเรากับสิ่งมีชีวิตสปีชีส์อื่นๆ ร่วมล้านสปีชีส์ ภาพยนตร์เสนอข้อถกเถียงที่สั่นสะเทือนวงการวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการกำเนิดและ วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลก
- O2 ออกซิเจน : โมเลกุลที่สร้างโลกของเรา (The Molecule that made our World)
ภาพยนตร์จากออสเตรียความยาว 50 นาทีที่ติดตามการเดินทางของ โมเลกุลของออกซิเจนมากกว่าหลายล้านล้านปี โดยเริ่มเรื่องราวจากแบคทีเรียที่ผลิตโมเลกุลออกซิเจน และตอนนี้อะตอมของออกซิเจน 2 ตัวได้ถูกแยกออกจากกันไปรวมกับโมเลกุลตัวอื่น ซึ่งได้จากการเผาไหม้รอบๆ ซากศพไดโนเสาร์ แล้วเกิดเป็นโมเลกุลรูปดาวที่ทรงอิทธิพล จากนั้นได้เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ไปรวมกับฮีโมโกลบินในเลือด และก่อเกิดปฏิกิริยาทางเคมีในเซลล์ ออกซิเจนอยู่ในชั้นโอโซนบางส่วนเพื่อช่วยปกป้องมนุษย์จากรังสีที่เป็นอันตรายถึงตาย และกลายเป็นส่วนหนึ่งของโมเลกุลคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อช่วยทำให้โลกร้อน ภาพยนตร์ชุดนี้ได้ค้นพบกุญแจสำคัญในประวัติศาสตร์ของโลกในวิธีแบบไม่ธรรมดาและมองเห็นได้
*สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราววิทยาศาสตร์ผ่านภาพยนตร์สารดี ยังมีเรื่องอีกจำนวนมากให้เลือกสรรชมกันตามอัธยาศัยในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์โดยสามารถตรวจสอบเรื่องและรอบได้ที่ http://www.goethe.de/ins/th/prj/wif/ubu/enindex.htm
****
ชมฟรีที่ไหนได้บ้าง
- ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ) โทร.0-2392-1773
เปิดให้ชมภาพยนตร์ 4 รอบๆ ละ 1 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่รอบแรก 10.00 น. ถึงรอบสุดท้าย 14.30 น.
- องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) โทร.0-2577-9999 ต่อ 1843
เปิดให้ชมภาพยนตร์ 9 รอบๆ ละ 30 นาที เริ่มตั้งแต่รอบแรก 09.30 น. ถึงรอบสุดท้าย 15.30 น.
- อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โทร.0-2564-7000 ต่อ 1489
เปิดให้ชมภาพยนตร์ 2 รอบ รอบเช้า 10.30-11.30 น. และรอบบ่าย 13.30-15.00 น.
- พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร โทร.0-2618-7241 และ 0-2615-7333 ต่อ 188
เปิดให้ชมภาพยนตร์ 2 รอบ รอบเช้า 10.30น. และรอบบ่าย 13.30 น.
- อุทยานการเรียนรู้ทีเค ปาร์ค โทร.0-2257-4300
เปิดให้ชมภาพยนตร์ 5 รอบ รอบ 11.00– 11.45 น., รอบ 11.45–12.00น., รอบ 13.15–13.45น., รอบ 13.45–14.15 น. รอบ 14.15–15.00 น.
- นอกจากนี้ ทาง สสวท.ยังได้จัดฉายภาพยนตร์สัญจรโดยร่วมกับสถาบันการศึกษาในภูมิภาคต่างๆ 29 สถาบัน ระหว่างวันที่ 17-27 พ.ย.52 นี้ควบคู่ไปกับเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ด้วย
*********