xs
xsm
sm
md
lg

ไบโอเทคเปิดเวทีประชุมนานาชาติ โชว์ศักยภาพ "เห็ดรา" ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร
ไบโอเทคเปิดบ้าน จัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านเห็ดรา ดึงนักวิจัยจากทั่วโลกพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ชูจุดเด่นของไทยด้านความหลากหลายของเชื้อรา พบแล้วกว่า 20,000 สายพันธุ์ มุ่งวิจัยใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์และอุตสาหกรรม หวังช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ รับกับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต พร้อมมุ่งหวังสร้างความตระหนักให้ประชาชนเห็นประโยชน์ของเชื้อราในมุมมองที่มากกว่าเป็นเชื้อโรค

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จัดงานพบสื่อมวลชน เพื่อให้ข้อมูลการจัดประชุมนานาชาติ เรื่อง "วิวัฒนาการของเห็ดรา นับจากยุคชาร์ลส ดาร์วิน" (Fungal Evolution and Charles Darwin: From Morphology to Molecules) ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 1 ก.ค.52 ที่ผ่านมา เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักวิชาการและผู้สนใจไปร่วมงานประชุม ชมนิทรรศงานวิจัย และตัวอย่างอย่างเห็ดราชนิดต่างๆ จากธนาคารจุลินทรีย์

ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้อำนวยการ ไบโอเทค เปิดเผยว่า การประชุมวิชาการนานาชาติด้านเห็ดราครั้งนี้ จะมีนักวิชาการทั้งชาวไทยและต่างชาติมาเข้าร่วมประชุมกว่า 180 คน จากกว่า 24 ประเทศ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม มาเลเซีย รัสเซีย แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโอกาสดีที่นักวิจัยไทยจะได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติ และอาจก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการกันในอนาคต ซึ่งเห็ดราเป็นสิ่งมีชีวิตที่สำคัญมากต่อสิ่งมีชีวิตอื่น และมีการวิวัฒนาการมาเป็นเวลายาวนาน

"คนทั่วไปมักจะไม่ค่อยนึกถึงประโยชน์ของเชื้อรา เพราะเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ หรือไม่ก็นึกถึงเชื้อราแต่ในทางที่ไม่ดี เช่น ทำให้เกิดโรค หรือทำให้พืชผลเสียหาย ทั้งที่จริงแล้วเชื้อรายังมีประโยชน์มากมายมหาศาล ทั้งช่วยปราบศัตรูพืชได้ และเป็นแหล่งของยารักษาโรคอีกมากมาย เช่น เพนนิซิลลิน ที่ได้จากเชื้อราเพนนิซิลเลียม (Penicillium) ซึ่งการจัดประชุมและนิทรรศการเกี่ยวกับเห็ดราครั้งนี้ หวังสร้างความตระหนักให้ประชาชนสนใจและเห็นประโยชน์ของเชื้อรามากยิ่งขึ้นด้วย" ผู้อำนวยการไบโอเทคกล่าว

ด้าน ดร.สายัณห์ สมฤทธิ์ผล หัวหน้าห้องปฏิบัติการราวิทยา ไบโอเทค ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายของเชื้อรามาก ซึ่งในแต่ละปีจะมีการค้นพบเชื้อราชนิดใหม่ๆ และตีพิมพ์ในวารสารราว 5-6 ชนิดต่อปี โดยขณะนี้จำแนกเชื้อราที่พบในประเทศไทยได้แล้วกว่า 4,000 ชนิด หรือราว 10% จากที่คาดการณ์ว่าน่าจะมีในประเทศไทย โดยได้เก็บรวบรวมตัวอย่างเชื้อราไว้ในธนาคารจุลินทรีย์กว่า 20,000 สายพันธุ์ จากจำนวนที่พบทั่วโลก 80,000 สายพันธุ์ โดยเฉพาะราแมลงที่ถือว่าประเทศไทยรวบรวมไว้หลากหลายที่สุดในโลก

"นักวิจัยไทยมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญทั้งในด้านราแมลง ราทะเล และราบนเมล็ดพืช แต่ก็ยังมีจุดอ่อนที่ยังต้องศึกษาจากนักวิจัยในต่างประเทศ เช่น เทคโนโลยีการจำแนกเชื้อราด้วยพันธุศาสตร์โมเลกุล ซึ่งแต่ก่อนเราจำแนกเชื้อราโดยดูจากลักษณะภายนอก แต่เดี๋ยวนี้เริ่มจะใช้ไม่ได้แล้ว เพราะมีการค้นพบราชนิดใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น และบางชนิดอาจมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกันมาก แต่ไม่ใช่ชนิดเดียวกันก็มี" ดร.สายัณห์ กล่าวถึงจุดเด่นและจุดด้อยของไทยในการวิจัยเห็ดรา

นอกจากศึกษาความหลากหลายของเชื้อราในประเทศแล้ว ห้องปฏิบัติการราวิทยาที่ไบโอเทคยังมุ่งศึกษาการใช้ประโยชน์จากเชื้อราควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการค้นหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ซึ่งขณะนี้พบสารหลายชนิดจากเชื้อราที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นยาได้ต่อไปในอนาคต แต่อาจต้องใช้เวลาอีกราว 10-15 ปี จึงจะได้เป็นยาที่สามารถนำไปใช้รักษาได้ โดย ดร.สายัณห์ บอกว่าการวิจัยนี้หากทำสำเร็จจะช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้อย่างมหาศาล ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้ายาจากต่างประเทศนับหมื่นล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคตที่มีความต้องการใช้ยาเพิ่มมากขึ้น

ภายในการประชุมวิชาการจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยทั้งในรูปแบบการบรรยาย และแบบโปสเตอร์ พร้อมทั้งจัดแสดงนิทรรศการความหลากหลายและวิวัฒนาการของเชื้อรา ชนิดพันธุ์และการเกิดชนิดพันธุ์ใหม่ของเชื้อรา วิวัฒนาการร่วมของเชื้อรากับสิ่งมีชีวิตอื่น ชีวภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อการกระจายของเชื้อรา และการวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์จากเชื้อราในด้านต่างๆ เช่น การค้นหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเชื้อรา ศึกษาการยับยั้งเชื้อโรค การผลิตเอนไซม์จากเชื้อราเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม การใช้เชื้อรากำจัดแมลงศัตรูพืชด้วยวิธีชีวินทรีย์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านราชั้นนำของโลกมาเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในสาขาที่แต่ละคนเชี่ยวชาญอีกด้วย อาทิ ศ.ลินดา โคฮน (โคลน) นักอนุกรมวิธานเห็ดรา จากประเทศแคนาดา และ ดร.เมเรดิท แบลคเวล ผู้เชี่ยวชาญด้านราแมลง จากสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ งานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง "วิวัฒนาการของเห็ดรา นับจากยุคชาร์ลส ดาร์วิน" เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 200 ปี ชาร์ลส ดาร์วิน เพื่อนำเสนอวิวัฒนาการของเห็ดราตามทฤษฎีของดาร์วิน โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 ก.ค. 52 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในส่วนนิทรรศการ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-564-6700 ต่อ 3379-3382 หรือ http://www.biotec.or.th/darwinconf2009
ดร.สายัณห์ สมฤทธิ์ผล
ตัวอย่างเชื้อราที่จะนำไปจัดแสดงนิทรรศการร่วมกับการประชุมนานาชาติด้านเห็ดรา
กำลังโหลดความคิดเห็น