คืนหนึ่งในฤดูร้อนของปี 2510 ขณะ Jocelyn Bell นิสิตสาววัย 24 ปี ซึ่งกำลังศึกษาฟิสิกส์ระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Cambridge ในอังกฤษ และทำงานวิจัยที่หอสังเกตการณ์ Mullard โดยได้พยายามรับคลื่นวิทยุจากดาวฤกษ์ที่อยู่ไกลโพ้น เธอได้สังเกตเห็นอุปกรณ์รับคลื่นบันทึกสัญญาณเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นเรื่องที่เธอไม่เคยคาดฝัน จึงโทรศัพท์บอกอาจารย์ที่ปรึกษาชื่อ Antony Hewish เพื่อรายงานสิ่งที่เห็นให้ทราบ
ในตอนแรก Hewish คิดว่าเป็นสัญญาณที่ส่งมาจากอารยธรรมต่างดาว เขาจึงกำชับให้ Bell ตรวจสอบซ้ำ ซึ่งเธอก็ได้กระทำตาม แต่ไม่ได้รับสัญญาณดังกล่าวอีก จนกระทั่งวันที่ 21 ธันวาคมของปีนั้น เธอก็รับสัญญาณได้อีก แต่เป็นสัญญาณที่มีความถี่แตกต่างจากสัญญาณเดิม และต้นกำเนิดสัญญาณก็มาจากท้องฟ้าในบริเวณคนละที่จากเดิม Hewish มีความเห็นว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์ต่างดาว 2 กลุ่ม จะส่งสัญญาณมาโลกพร้อมกัน Hewish จึงได้ตัดสินใจเรียกดาวที่ส่งสัญญาณเป็นจังหวะๆ ว่า pulsar เพราะสัญญาณที่ได้รับมีลักษณะเป็น พัลส์ (pulse) คือเป็นจังหวะๆ อย่างสม่ำเสมอนั่นเอง
การศึกษา pulsar ในเวลาต่อมา แสดงให้เห็นว่า มันเป็นดาวชนิดใหม่ที่ประกอบด้วยอนุภาคนิวตรอน (neutron) ล้วน ๆ อีกทั้งมีขนาดเล็กมาก เพราะเกิดจากการยุบตัวอย่างมโหฬารของดาวฤกษ์ขนาดใหญ่โดยอิทธิพลของแรงโน้มถ่วง เมื่อถึงวาระแตกดับ ความสำคัญของการค้นพบครั้งนั้น ทำให้ Hewish ได้รับครึ่งหนึ่งของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2517 ในขณะที่ Jocelyn Bell ไม่ได้ร่วมรับรางวัลอันทรงเกียรติด้วยเลย การพลาดรางวัลโนเบลทำให้ Fred Hoyle นักดาราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงของอังกฤษได้กล่าวหา Hewish ว่า ขโมยรางวัลโนเบลส่วนที่ควรเป็นของ Bell ไปอย่างน่าละอายใจ
ทันทีที่ Hewish ได้ทราบคำปรักปรำ เขากล่าวตอบว่าเขาได้ให้เครดิตในการพบ pulsar แก่ Bell แล้วว่าเป็นผู้เห็นสัญญาณประหลาดเป็นคนแรก ร้อนถึงคณะกรรมการรางวัลโนเบลซึ่งต้องออกมาแถลงยืนยันว่า ที่ได้ตัดสินไปนั้นเหมาะสมแล้ว เพราะ Bell เมื่อเห็นเหตุการณ์ “ไฟไหม้” แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร อีกทั้งมิได้ดำเนินการใด ๆ ต่อ ส่วน Hewish คือผู้ที่ตระหนักในความสำคัญของสิ่งที่ Bell เห็น และรู้ว่ามันเป็นสัญญาณที่ส่งมาจากดาวที่อยู่นอกระบบสุริยะ ดังนั้น Hewish จึงสมควรได้รับรางวัลโนเบล ส่วน Bell ไม่สมควร
ในฐานะเป็นผู้มีส่วนร่วมที่สำคัญในการค้นพบ pulsar Bell ได้กล่าวเชิงออกตัวว่า รางวัลโนเบลเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ นักวิทยาศาสตร์ผู้มีผลงานสำคัญ ซึ่งได้ทำงานด้านนี้ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่วนเธอเป็นเพียงนิสิตปริญญาเอกที่ได้ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้มาได้ไม่นาน ดังนั้นถ้ามอบรางวัลโนเบลให้เธอ รางวัลก็จะมีคุณค่าน้อยลงทันที
Jocelyn Bell เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2486 ที่เมือง Belfast ในไอร์แลนด์ บิดา Philip Bell เป็นสถาปนิก ในสมัยที่ Bell เรียนระดับมัธยมศึกษาที่เมือง York เธอมีครูฟิสิกส์ที่สอนฟิสิกส์ดีมากจนทำให้เธอชอบฟิสิกส์ แต่โรงเรียนไม่มีงบประมาณซื้อครุภัณฑ์ ดังนั้น เธอจึงไม่ได้ทดลองอะไร ในห้องปฏิบัติการเลย ถึงกระนั้นครูก็นำภาพของอุปกรณ์มาให้นักเรียนดู ซึ่งก็ได้ทำให้เธอเห็นว่า อุปกรณ์ต่างๆ มีรูปร่างอย่างไร
แต่ Bell ก็ไม่ท้อแท้ เพราะรู้สึกว่าตนเริ่มสนใจดาราศาสตร์มากโดยเฉพาะการศึกษาคลื่นวิทยุจากดาวต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่อง ที่สังคมวิทยาศาสตร์กำลังสนใจ แม้เธอจะรู้ว่านักดาราศาสตร์ต้องทำงานตอนกลางคืน เธอก็ยังต้องการเป็นนักดาราศาสตร์อย่างไม่เปลี่ยนใจ แต่เธอไม่มีใครใกล้ชิดที่จะช่วยให้เธอเป็นนักดาราศาสตร์ได้ ดังนั้นเธอจึงเขียนจดหมายถึง Bernard Lovell แห่งหอดูดาววิทยุที่ Jodrell Bank ซึ่งเธอรู้จัก จากการอ่านข่าวเกี่ยวกับเขาในหนังสือพิมพ์ และ Lovell ก็ได้ตอบจดหมายเธอ โดยแนะนำให้เธอเรียนฟิสิกส์หรือวิศวกรรมไฟฟ้า แต่ Bell ไม่เชื่อคำแนะนำของ Lovell เธอจึงเดินทางไปเรียนดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Glasgow ในสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่แห่งในอังกฤษที่ให้ปริญญาดาราศาสตรบัณฑิต Bell ได้เข้าเป็นนิสิตของสถาบันนี้ และเป็นนิสิตหญิงเพียงคนเดียวในห้องที่มีนิสิตชายถึง 49 คน เธอจึงเป็นจุดสนใจของอาจารย์ และเวลาเธอขาดเรียน ใครๆ ก็สังเกตเห็น Bell สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับสอง และได้ไปเรียนต่อระดับปริญญาเอก สาขาฟิสิกส์ ที่มหาวิทยาลัย Cambridge แต่ที่นั่นก็เช่นเดียวกับที่อื่นๆ คือ เธอมีเพื่อนร่วมห้องไม่มาก จนบางครั้งเธอรู้สึกเหงา ในที่สุดเธอได้ Antony Hewish เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์โดยใช้ห้องปฏิบัติการดาราศาสตร์วิทยุ ชื่อ Mullard ในการเก็บข้อมูลที่เป็นสัญญาณวิทยุจากดาวต่างๆ บนท้องฟ้า
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.