วันที่ 7-18 ธ.ค.นี้ เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ เพราะผู้แทนรัฐบาลจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก จะมารวมตัวกันในที่ประชุมเจรจาอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เพื่อหาข้อสรุปแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศภายหลังปี 2012 เมื่อพิธีสารเกียวโตสิ้นสุดลง
ในปี 1997 ภาคีสมาชิกของ UNFCCC ได้ร่วมกันลงนาม ยอมรับข้อตกในการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้พิธีสารเกียวโต ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 2005-2012 ทว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศอุตสาหกรรมก็ยังไม่สามารถ ลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายที่กำหนดในพิธีสารเกียวโต
อีกทั้งชาติร่ำรวยอย่างสหรัฐฯ ยังปฏิเสธที่จะยอมรับข้อตกลงในพิธีสารดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่าพิธีสารเกียวโตมีผลบังคับกับประเทศอุตสาหกรรมเท่านั้น ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศอย่างจีน อินเดีย และบราซิล ก็มีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ไม่น้อยไปกว่าประเทศร่ำรวยอื่นๆ เลย แต่กลับไม่ต้องรับภาระดังกล่าว จึงไม่ยุติธรรมที่จะให้ประเทศอุตสาหกรรมแบกรับภาระแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและมีต้นทุนทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากแต่เพียงฝ่ายเดียว
เมื่อพิธีสารเกียวโตใกล้หมดอายุลง ภาคีสมาชิกของ UNFCCC จึงต้องประชุมเจรจาเพื่อหาข้อตกลงและกำหนดแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก หลังปี 2012 ซึ่งมีการเจรจากันเป็นระยะอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 2 ปี และจะต้องหาข้อสรุปให้ได้ภายในปีนี้ที่เวทีสุดท้ายคือ “โคเปนเฮเกน”
ที่ผ่านมาประเทศอุตสาหกรรม ก็เรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้ามามีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ก็ต้องการเห็นความตั้งใจแก้ปัญหาของประเทศอุตสาหกรรมมากกว่านี้ และต้องการได้รับความสนับสนุนจากชาติร่ำรวย ทั้งด้านเทคโนโลยีและเงินทุนสำหรับลดก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากประเทศกำลังพัฒนา
ก่อนการประชุมเจรจาจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้า นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์ว่าประเด็นสำคัญที่น่าจับตาในการเจรจาที่โคเปนเฮเกนมีอยู่ 4 เรื่อง ได้แก่
ดันข้อตกลงลดก๊าซเรือนกระจก
ปัญหาใหญ่ของนานาชาติคือ การจัดทำข้อตกลงในการลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2020 นับตั้งแต่พิธีสารเกียวโตหมดอายุลง ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญไปสู่เป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2050 โดยเทียบกับปี 1990 ทว่าการลดก๊าซเรือนกระจกให้สำเร็จได้ตามเป้าหมายจะมีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น จากการปรับปรุงประสิทธิภาพของพลังงานและการเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีที่สะอาด
อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศร่ำรวยมักจะเป็นฝ่ายถูกตำหนิว่า เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนในทุกวันนี้ อีกทั้งยังมีความสามารถที่จะรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้มากกว่า ทว่าฝันร้ายของวันพรุ่งนี้ส่วนใหญ่แล้วน่าจะมาจากประเทศกำลังพัฒนามากกว่าเสียด้วยซ้ำ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วกลับมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศมากไม่ต่างจากประเทศร่ำรวย หรืออย่างน้อยครึ่งหนึ่งของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมา
ในจำนวนนี้ จีน อินเดีย และบราซิล ถือเป็นประเทศกำลังพัฒนายักษ์ใหญ่ของโลก และมีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งมีความต้องการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมหาศาล ขณะเดียวกันก็มีการทำลายพื้นที่ป่าไปเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน ในขณะที่ต้องการเพิ่มความมั่งคั่งให้แก่ประเทศ จึงยิ่งเป็นการเพิ่มก๊าซเรือนกระจกให้โลกมากขึ้น
ลงขันทุ่มเงินคลายร้อนให้โลก
เป้าหมายหนึ่งของข้อตกหลงหลังปี 2012 คือ การผลักดันให้เกิดกองทุนเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้มีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกโดยเปลี่ยนวิถีไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ รวมทั้งการรับมือและแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
ทั้งนี้ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต้องการให้กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมให้คำมั่นสัญญาว่าจะสนับสนุนด้านการเงินปีละประมาณ 1% ของจีดีพี หรือเป็นเงินประมาณ 400,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ในสหภาพยุโรปเองยังมีความต้องการใช้เงินเพื่อการนี้ประมาณ 150,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีในช่วงปี 2020
เป็นไปได้ว่า ในการเจรจาอาจกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างรวดเร็ว (ภายในปีหน้า) ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนายังมีอุปสรรคและแรงกดดันอย่างหนักจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ด้วย
อย่าให้เป็นแค่เสือกระดาษ
ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีประเด็นถกเถียงถึงจุดอ่อนของพิธีสารเกียวโตว่า ไม่มีบทลงโทษหากดำเนินการไม่ถึงเป้าหมาย พร้อมทั้งเกิดข้อกังขาว่า ปึกกระดาษอันเป็นข้อสรุปจากบทเจรจาที่โคเปนเฮเกนนี้ จะมีสถานะทางกฎหมายอย่างไร
ทว่า ประเทศกำลังพัฒนายังต้องการให้มีการขยายระยะเวลาของพิธีสารเกียวโตออกไปไกลกว่าปี 2012 ขณะที่สหรัฐฯ ไม่ยอมรับข้อตกลงของพิธีสารเกียวโต เนื่องจากมีผลบังคับเฉพาะประเทศอุตสาหกรรม แต่ไม่บังคับใช้กับประเทศกำลังพัฒนายักษ์ใหญ่
ดังนั้น สหรัฐฯ จึงผลักดันแนวคิดความรับผิดชอบร่วมกันของนานาชาติ โดยพิจารณาจากรายงานข้อเท็จจริง แทนกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง
ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ 2 แนวทาง คือขยายระยะเวลาของพิธีสารเกียวโต แต่ปรับกติกาให้สหรัฐฯ ยอมเข้าร่วม หรืออีกทางหนึ่งคือลบล้างข้อตกลงเดิมในพิธีสารเกียวโต แล้วจัดทำข้อตกลงขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสหรัฐฯ
ป่าไม้ทำลายไม่ได้อีกแล้ว
การลดการทำลายพื้นที่ป่าเป็นอีกหนึ่งประเด็น ที่เวทีเจรจาเรื่องโลกร้อนให้ความสำคัญมาก โดยมีการผลักดันให้กลุ่มประเทศแถบเขตร้อนที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ รักษาพื้นที่ป่าไว้ไม่ให้ลดลง เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ และจะได้รับงบประมาณสนับสนุนด้วย
ทว่าแนวคิดดังกล่าวกลับมีปัญหาในทางปฏิบัติไม่น้อย เช่น จะวัดปริมาณการอนุรักษ์ป่าได้อย่างไร และจะป้องกันการทุจริตหรือคอร์รัปชันได้อย่างไร รวมทั้งจะรับประกันได้อย่างไรว่าเงินทุนจะไม่หมดไประหว่างการถ่ายทอดเทคโนโลยี และความช่วยเหลืออื่นๆ ที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องการ
นอกเหนือจากประเด็นที่ต้องถกเถียงใน 4 ข้อหลักแล้ว เวทีเจรจาที่โคเปนเฮเกน ยังหมายถึงการแลกเปลี่ยนความเห็น และการทำงานร่วมกันครั้งยิ่งใหญ่ของประชาคมโลก ต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งผู้แทนรัฐบาลจากทั่วโลกจำเป็นจะต้องเคาะมาตรการต่างๆ ออกมาแก้ปัญหาที่กำลังส่งผลต่อโลกใบเดียวใบนี้ของพวกเรา โดยมีเส้นตายอยู่ที่ปี 2012.
เส้นทางบรรเทาโลกร้อน
UNFCCC
อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เกิดขึ้นครั้งแรกในการประชุมเอิร์ธซัมมิท (Earth Summit) ที่เมืองริวเดจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี 1992 จากความพยายามของประชาคมโลก เพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อันมีสาเหตุมาจากก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปัจจุบันมีภาคีสมาชิกทั้งสิ้นรวม 192 ประเทศ
พิธีสารเกียวโต
เป็นอนุสัญญาสากลที่นานาประเทศยอมรับร่วมกัน สำหรับใช้เป็นข้อกำหนดและแนวทางเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และบรรเทาปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดยที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาฯ ร่วมลงนามรับรองในปี 1997 จนได้ 183 ประเทศ และกลุ่มประชาคมยุโรป (European Community) มีผลบังคับใช้ในปี 2005
สาระสำคัญของพิธีสารเกียวโต คือกำหนดให้ประเทศอุตสาหกรรมลดก๊าซเรือนกระจกที่ครอบคลุมก๊าซ 6 ชนิด ให้ได้อย่างน้อย 5% ในระหว่างปี 2008-2012 โดยเทียบกับปี 1990 รวมถึงกลไกการพัฒนาที่สะอาด และการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเครดิต) ระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศกำลังพัฒนา โดยที่ประเทศกำลังพัฒนาไม่ต้องมีข้อผูกมัดในการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด
โคเปนเฮเกนทอล์กส์ (COPENHAGEN TALKS)
การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ ที่บาหลี อินโดนีเซีย เมื่อปี 2007 ซึ่งมีการลงนามร่วมกันของนานาประเทศในแผนที่นำทางบาหลี (Bali Road Map) โดยมีแผนให้แต่ละประเทศร่วมประชุมเจรจาเพื่อกำหนดแนวทางลดก๊าซเรือนกระจก ภายหลังพิธีสารเกียวโตหมดอายุให้ได้ภายในปี 2009 ซึ่งการประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกนในเดือน ธ.ค. นี้ จะต้องได้ข้อสรุปสำหรับแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกหลังปี 2012