xs
xsm
sm
md
lg

จี20 ตกลงยื่นแผน ศก.ให้สมาชิกอื่น ร่วมกัน “ตรวจ” มุ่งแก้ ศก.โลกไร้สมดุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐมนตรีการคลังของกลุ่มประเทศจี20
เอเอฟพี/เอเจนซี/ASTVผู้จัดการรายวัน - ที่ประชุมขุนคลังกลุ่ม จี20 เห็นชอบกรอบความร่วมมือใหม่เพื่อมุ่งปรับสมดุลเศรษฐกิจโลก โดยบรรดาประเทศสมาชิกจะเสนอรายละเอียดแผนเศรษฐกิจของตน ให้เพื่อนสมาชิกพิจารณาในสิ้นเดือนมกราคม 2010 พร้อมกันนั้น ก็ย้ำว่า ในยามนี้ยังมิใช่เวลาของการลด-เลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหลาย

รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม จี20 ที่ประกอบด้วย กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและบรรดาชาติเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่รายใหญ่ของโลกรวม 20 ประเทศ ซึ่งประชุมกันที่ เมืองเซนต์แอนดรูวส์ ทางชายฝั่งตะวันออกของสกอตแลนด์ ได้ออกคำแถลงปิดท้ายการหารือเมื่อวันเสาร์ (7) ที่ผ่านมา โดยระบุว่า เห็นพ้องกันในประเด็นที่ว่า ประเทศจี 20 จะริเริ่มกรอบความร่วมมือใหม่เพื่อมุ่งหน้าไปสู่การปรับสมดุลเศรษฐกิจโลกร่วมกัน

ภายใต้กรอบความร่วมมือล่าสุดนี้ เหล่าประเทศสมาชิกต่างให้คำมั่นว่า ภายในสิ้นเดือนมกราคมปีหน้า จะนำเสนอรายละเอียดแผนการทางเศรษฐกิจของตนในระยะ 3-5 ปีต่อจากนี้ไป เพื่อให้ชาติสมาชิกอื่นๆ พิจารณา และตรวจสอบแนวทางเศรษฐกิจทั้งหมดร่วมกัน อันจะทำให้เกิดการประสานงานในเชิงนโยบายในหมู่สมาชิก จี20 ที่ดียิ่งขึ้น

คำแถลงของขุนคลังกลุ่ม จี20 ซึ่งจัดประชุมกันเป็นครั้งที่ 3 แล้วในปีนี้ ระบุว่า การเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศได้พิจารณาแผนการทางเศรษฐกิจของกันและกันในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ จะนำไปสู่ขั้นตอนที่เรียกว่า “การประเมินผลร่วมกัน” ในช่วงเดือนเมษายนปีหน้า จากนั้นบรรดาตัวเลือกเชิงนโยบายทั้งหลายก็จะถูกหยิบยกไปพัฒนาต่อยอดในเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม จี20 ที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายนปีหน้าต่อไป

การเห็นชอบในเรื่องนี้ ได้รับการจับตามองว่าเป็นความคืบหน้าที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งของจี 20 ในอันที่จะแก้ไขและป้องกันความไร้สมดุลของเศรษฐกิจโลก ที่สหรัฐฯเป็นผู้แบกรับการขาดดุลจำนวนมหาศาลจากการเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของโลกเพียงลำพัง ขณะที่บรรดาชาติในเอเชียมีการเกินดุลอย่างล้นเหลือจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการสร้างรายได้จากการส่งออก และการออมภายในประเทศ

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังเห็นพ้องกันว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่ประเทศทั้งหลายจะลด-เลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานต่างๆ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ซ้ำยังต้องพึ่งพานโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ “ต่ำเตี้ยแบบสุดขั้ว” และต้องอาศัยเม็ดเงินภาครัฐอีกหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการช่วยพยุงเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง

อย่างไรก็ตาม เวทีประชุมขุนคลัง จี20 คราวนี้ ไม่มีความคืบหน้าในการหาข้อสรุปเรื่องเงินช่วยเหลือที่ประเทศร่ำรวยต้องควักกระเป๋าจ่ายให้กับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนทั้งหลาย ในการหาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่นักวิเคราะห์ระบุว่าจะเป็นตัวตัดสินความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการประชุมสุดยอดสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่กรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์กในเดือนหน้า

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี กอร์ดอน บราวน์ ของอังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ ก็สร้างความประหลาดใจให้ที่ประชุมไม่น้อย เมื่อเขาพยายามเสนอแนวคิดในช่วงท้ายของการประชุม โดยระบุว่า เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่สมาชิก จี20 ต้องพิจารณาข้อเสนอต่างๆ เกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีจากธนาคารและสถาบันการเงินทั้งหลาย เพื่อนำมาใช้เป็นหลักประกันความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมของสถาบันการเงินทั่วโลก อันจะทำให้สถาบันการเงินดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังและมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น โดยไม่จำเป็นที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องนำเงินภาษีของประชาชนเข้ามาโอบอุ้ม หากสถาบันการเงินเหล่านี้ประสบวิกฤตอย่างในช่วงที่ผ่านมา

แต่ข้อเสนอของผู้นำอังกฤษได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากสหรัฐฯ โดย ทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังอเมริกัน ยืนยันว่า แม้สหรัฐฯ จะเห็นด้วยในเบื้องต้นว่าควรมีการสร้างระบบบางอย่าง เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนผู้จ่ายภาษีได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงและความสูญเสียจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของสถาบันการเงินในอนาคต แต่สหรัฐฯ ก็ไม่คิดว่าข้อเสนอเรื่องการเก็บภาษีจากสถาบันการเงินจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่า เวทีประชุมขุนคลัง จี20 คราวนี้ยังคงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ชาติสมาชิกหลีกเลี่ยงที่จะหารือกันอย่างเป็นทางการในประเด็นการปรับค่าเงินหยวนของจีนให้แข็งขึ้น และปรับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯให้อ่อนลง

สำหรับสมาชิกของกลุ่ม จี20 ประกอบด้วย สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สหภาพยุโรป แคนาดา ญี่ปุ่น รัสเซีย จีน อินเดีย ออสเตรเลีย บราซิล อาร์เจนตินา ตุรกี แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ เม็กซิโก ซาอุดีอาระเบีย และอินโดนีเซีย
กำลังโหลดความคิดเห็น