เอเจนซี - บรรดาขุนคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่มจี20ย้ำชัด ประเทศต่างๆยังจำเป็นต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้โลกหลุดพ้นวิกฤต พร้อมเห็นชอบให้มีการวางเงื่อนไขควบคุมการจ่ายผลตอบแทนแบบ “เกินงาม” และป้องกันความเสี่ยงจากการ “เห็นแก่ได้” ในผลกำไรระยะสั้นของผู้บริหารธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งเป็นต้นตอให้เกิดวิกฤตการเงินโลก
ที่ประชุมรัฐมนตรีคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่ม 20 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกและกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ (จี 20) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงลอนดอนในวันศุกร์ (4) และเสาร์(5) ออกคำแถลงการณ์ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม โดยระบุว่าแม้ภาวะเศรษฐกิจของโลกในขณะนี้จะมีแนวโน้มที่สดใสมากกว่าเมื่อช่วงที่มีการประชุมสุดยอดกลุ่มจี 20 ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่กลุ่มจี 20 ต่างเห็นพ้องกันว่ายังไม่ถึงเวลาที่นานาประเทศจะยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่แข็งแกร่งเพียงพอ และการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในเชิงนโยบายที่เร็วเกินไปในระยะนี้ อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัว
ทั้งนี้ ที่ประชุมขุนคลังและผู้ว่าการแบงก์ชาติกลุ่มจี 20 เห็นพ้องให้ประเทศในกลุ่มยังจะต้องเดินหน้าใช้มาตรการเศรษฐกิจมูลค่าประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อไปอีกตราบเท่าที่มีความจำเป็น โดยที่แต่ละประเทศจะยังไม่ผ่อนคลายมาตรการเร่งด่วนทางการเงินและการคลังของตน จนกว่าจะแน่ใจได้ว่าเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งเพียงพอแล้ว
นอกจากนั้น กลุ่มจี 20 ยืนยันจะทำงานร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และคณะกรรมาธิการกำกับดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (เอฟเอสบี) ที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการประชุมสุดยอดกลุ่มจี 20 ที่ลอนดอนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาความร่วมมือและประสานงานกันในเรื่องยุทธศาสตร์การลดเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (exit strategies) เมื่อถึงเวลาที่จะต้องทำเช่นนั้น
ในคำแถลงร่วมครั้งนี้ ยังมีการระบุเป็นครั้งแรกด้วยว่า กลุ่มจี 20 ควรจะมีความร่วมมือกันบางประการเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก แม้ว่าเงื่อนไขทางด้านกรอบเวลาของนโยบายของประเทศต่างๆ จะยังมีความแตกต่างหลากหลายกันอยู่ก็ตาม
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังเห็นพ้องให้ประเทศต่างๆ วางเงื่อนไขที่รัดกุมมากขึ้นเพื่อควบคุมการจ่ายผลตอบแทนแบบ “เกินงาม” และป้องกันความเสี่ยงจากการ “เห็นแก่ได้” ในผลกำไรระยะสั้นของบรรดาผู้บริหารธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งเป็นต้นตอของวิกฤตการเงินโลกตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคมเมื่อปีที่แล้ว โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันในเบื้องต้นว่า การจ่ายเงินโบนัสให้แก่ผู้บริหารธนาคารและสถาบันการเงิน จะต้องเป็นไปโดยพิจารณาจากความสำเร็จในระยะยาวแทนการมุ่งเน้นที่ผลกำไรระยะสั้น พร้อมเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ กำหนดมาตรฐานโครงสร้างการจ่ายเงินโบนัสโดยคำนึงถึงเสถียรภาพทางการเงินเป็นสำคัญ
นอกจากนั้น ในคำแถลงร่วมครั้งนี้ยังระบุว่า ที่ประชุมเห็นพ้องกันในประเด็นที่ว่าประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ เช่น จีน อินเดีย และบราซิล ควรจะมีบทบาทและมีสิทธิ์มีเสียงในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระดับโลกเพิ่มขึ้นในองค์กรเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก โดยจะมีการนำเรื่องนี้ไปหารือกันอีกครั้งระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี 20 ที่เมืองพิตส์เบิร์ก ของสหรัฐฯ ช่วงปลายเดือนนี้ พร้อมย้ำว่าการปฏิรูปโครงสร้างของธนาคารโลก และไอเอ็มเอฟ เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาได้มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นดังกล่าวจะต้องแล้วเสร็จภายในปี 2010 และ 2011 ตามลำดับ