xs
xsm
sm
md
lg

จีนพร้อมอัดฉีดทุนIMF หวังขยายบทบาทใหญ่ เบียดเมกา-ยุโรป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จับตาการประชุมจี 20 สัปดาห์นี้ จีนเพิ่มรุกขยายบทบาทในไอเอ็มเอฟ เพื่อคานบทบาทของชาติกำลังพัฒนา และเรียกร้องการปฏิรูประบบการเงินโลก, ในภาพ: ประธานาธิบดีหู จิ่นเทาในที่ประชุมเอเปค หูจิ่เทา หู จิ่นเทาจะเข้าร่วมซัมมิตเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศจี 20 ในกรุงลอนดอน และพบปะกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา เป็นครั้งแรก-ภาพเอเอฟพี
เอเชียลวอลสตรีทเจอร์นัล- จีนเตรียมอัดฉีดทุนเพิ่มแก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เกือบหมื่นล้านเหรียญ หวังขยายบทบาทใหญ่โดยจะขอเพิ่มสิทธิการโหวตในองค์กรโลกกบาล มีการวิเคราะห์กันว่า การขยายบทบาทจีนดังกล่าว จะทำให้ไอเอ็มเอฟพึ่งพิงสหรัฐฯ และยุโรป น้อยลง

การประชุมสุดยอดด้านเศรษฐกิจระหว่างผู้นำชาติอุตสาหกรรมใหญ่และชาติกำลังพัฒนา 20 ประเทศ หรือ จี-20 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษในสัปดาห์นี้ เรื่องที่คาดว่าจะได้รับผลสำเร็จเป็นรูปธรรมมากที่สุด คงจะเป็นการเพิ่มทุนสนับสนุนไอเอ็มเอฟจากนานาชาติ เพื่อช่วยเหลือประเทศที่กำลังประสบปัญหาหนักด้านเศรษฐกิจ

ไอเอ็มเอฟตั้งเป้าที่จะระดมเงินจากนานาประเทศให้ได้ 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 17.5 ล้านล้านบาท) และก็ใกล้ที่จะบรรลุผลแล้ว เนื่องจากประเทศยักษ์ใหญ่ด้านเศรษฐกิจต่างตกลงปล่อยกู้ให้ไอเอ็มเอฟ โดยญี่ปุ่นจะให้ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนอียูก็สัญญาว่าจะให้ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯเช่นกัน ขณะที่นานาชาติเรียกร้องให้ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนและซาอุดิอาระเบียช่วยปล่อยกู้มากกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญ ด้านสหรัฐฯ ก็ตั้งใจว่าจะให้เกือบ 1 แสนล้านเหรียญ แต่จะจัดสรรให้เป็นกองทุนฉุกเฉิน

แต่หากรัฐบาลจีนต้องปล่อยเงินกู้ให้ไอเอ็มเอฟมากขึ้น ก็ต้องการสิ่งตอบแทนกลับมาบ้าง “จีนมองว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะเพิ่มอิทธิพลในเวทีโลก และสถานภาพของจีนตอนนี้ก็แตกต่างจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่จีนยังไม่มีบทบาทมากนักเลยไม่ค่อยมีปากเสียง” นั่นคือข้อสังเกตจาก จวิน หม่า นักเศรษฐศาสตร์จากดอยเช่อ แบงก์ และยังว่า จีนต้องการมีบทบาทในการกำหนดทิศทางการเงินโลกที่จะนำมาใช้ใน10-20ปีข้างหน้า

จีนต้องการขยายสิทธิลงคะแนนเสียงในไอเอ็มเอฟ ซึ่งนานาชาติก็เห็นเป็นเรื่องสมควรเนื่องจากบทบาทจีนในเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มพูนมากขึ้น ด้านจีนบอกว่าต้องการช่วยเหลือโดยที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนรื้อโครงสร้างองค์กรในทันที โดยอาจช่วยด้วยการซื้อพันธบัตรของไอเอ็มเอฟ

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มสิทธิการโหวตของจีนอาจลดทอนเสียงของชาติที่เล็กกว่าในยุโรป

การที่จีนมีบทบาทในไอเอ็มเอฟมากขึ้น ยังหมายถึงว่าองค์กรนี้เริ่มลดการพึ่งพิงสหรัฐฯ และยุโรป ที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่ ก่อนหน้านี้ หู เสี่ยวเซียน รองผู้ว่าการแบงก์ชาติจีน ได้ออกมาชี้ว่า เนื่องจากวิกฤตการเงินครั้งนี้มีต้นตอมาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นไอเอ็มเอฟควรวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของพวกเขาอย่างเปิดเผยมากขึ้น “ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ไอเอ็มเอฟจำเป็นต้องเพิ่มการควบคุมนโยบายเศรษฐกิจและการเงินของชาติใหญ่ที่มีสกุลเงินในระบบสำรองเงินตราระหว่างประเทศ”

ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อเสนอของ นายโจว เสี่ยวชวน ผู้ว่าการแบงก์ชาติจีน ที่ออกมาเรียกร้องการจัดตั้งทุนสำรองสกุลเงินระหว่างประเทศใหม่ภายใต้สังกัดไอเอ็มเอฟ แทนที่ทุนสำรองฯปัจจุบันที่มีดอลลาร์สหรัฐฯครอบองำอยู่เพียงสกุลเงินเดียว โดยบอกว่า “โลกต้องการสถาบันหลายขั้วอำนาจเพื่อเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก และเป็นหลักประกันเสถียรภาพของการเงินโลก”

อย่างไรก็ตาม การที่จีนหันมาหนุนไอเอ็มเอฟอย่างเต็มที่เช่นนี้ ดูเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ เนื่องจากสัมพันธ์ไอเอ็มเอฟและจีนที่ผ่านๆมา บางทีก็สะดุดตอ ชื่อเสียงของไอเอ็มเอฟในเอเชียนั้น ไม่สู้ดีนัก เนื่องจากคำแนะนำที่ไร้น้ำยาในการแก้ไขวิกฤตการเงินเอเชียปี 2540-41 และจีนเอง ก็มักบ่นว่าไอเอ็มเอฟเป็นเครื่องของสหรัฐฯ ที่วอชิงตันมักใช้ในการโจมตีจีนในเรื่องนโยบายค่าเงินและเศรษฐกิจ

จีนมียุทธศาสตร์ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในองค์กรระหว่างประเทศมากขึ้น โดยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมกับ Inter-American Development Bank อย่างเป็นทางการ พร้อมบริจาคเงิน 350 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้ากองทุนสำหรับประเทศในลาตินอเมริกาและประเทศแถบมหาสมุทรแคริบเบียน

และก่อนออกเดินทางไปยังกรุงลอนดอนเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ จี 2 0 ประธานาธิบดีหู จิ่นเทาแห่งจีน ก็ได้เรียกร้องการปฏิรูประบบการเงินโลก โดยชี้ว่าควรจะต้องมีการปฏิรูปองค์กรอย่างรอบด้านเท่าที่จำเป็น ปรับความสมดุล และค่อยๆผลักดันมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต

ทั้งนี้ ผู้นำจีนออกโรงเรียกร้องการปฏิรูประบบการเงินโลกหลายครั้ง ด้วยมองว่าระบบฯปัจจุบันถูกครอบงำโดยกลุ่มชาติพัฒนาแล้วเพียงหยิบมือเดียว พร้อมเรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายมีเสียงดังขึ้นในองค์การโลกบาลด้านการเงินแห่งนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น