xs
xsm
sm
md
lg

ยกก๊วนเยาวชนแก๊งซ่าช่วยปะการัง "เอาชีวิตรอดในทะเลไทย"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้องๆ วัยซนในค่ายเยาวชน เอาชีวิตรอดในทะเลไทย ร่วมปลูกปะการังเขากวางเพิ่มให้ท้องทะเลของไทย
ปิดเทอมเล็กที่ผ่านมา เด็กๆ หลายคนอาจใช้เวลาไปกับการเรียนพิเศษ เรียนศิลปะ เล่นดนตรี เล่นกีฬา หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์ แต่เด็กมีเด็กวัยซนกลุ่มใหญ่มารวมตัวกันเพื่อช่วยเพิ่มจำนวนปะการังให้ท้องทะเลไทย

นิตยสารโกจีเนียส (Go Genius) ร่วมกับ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด จัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนครั้งที่ 9 ด้วยแนวคิด "ค่ายเอาชีวิตรอดในทะเลไทย" ณ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กองทัพเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 16-19 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ ใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมมาร่วมกิจกรรมเพิ่มพูนประสบการณ์รวมทั้งหมด 106 คน

การศึกษาระบบนิเวศน์ของสัตว์หาดหินและการดำน้ำศึกษาแนวปะการังใต้ทะเล เป็นหนึ่งในหลายกิจกรรมที่เยาวชนได้เรียนรู้ และถือเป็นไฮไลต์ของค่ายครั้งนี้ และเป็นกิจกรรมที่เยาวชนที่มาเข้าค่ายแทบทุกคนตั้งตาเฝ้ารอคอยอย่างใจจดจ่อ ซึ่งหลายคนตื่นเต้นไม่น้อยที่จะได้ประสบการณ์ดำน้ำเป็นครั้งแรกจากการเข้าค่ายในครั้งนี้ โดยจุดที่เยาวชนได้ดำน้ำดูแนวปะการังและชีวิตสัตว์น้ำอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลด้านหน้าวัดหลวงพ่อดำ ต.แสมสาร ในสัตหีบ

ก่อนเริ่มกิจกรรมดำน้ำ เด็กๆ ได้ร่วมกันปลูกปะการังเพิ่มให้กับท้องทะเลอ่าวแสมสารกันคนละ 1 กิ่ง โดยมี อ.ประสาน แสงไพบูลย์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จ.จันทบุรี มาให้ความรู้แก่เด็กๆ ว่า ในอดีตมนุษย์ไม่รู้จักทะเลมากนัก รู้แต่เพียงว่ามีปลาและสัตว์น้ำจำนวนมากให้มนุษย์จับเอามาเป็นอาหาร

ทว่า เมื่อการประมงเปลี่ยนไปจากเดิม มีวิธีการและเครื่องมือที่ช่วยให้จับสัตว์น้ำได้ครั้งละปริมาณมากๆ ทำให้สัตว์น้ำเริ่มลดน้อยลง แนวปะการังพังพินาศ เป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เป็นผลให้ปริมาณสัตว์น้ำลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในทะเล ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตามมา และสุดท้ายมนุษย์ก็จะได้รับผลจากการทำผิดต่อธรรมชาติ

"มนุษย์ควรทำความรู้จักตนเองและรู้จักธรรมชาติด้วยวิทยาศาสตร์ เพื่อที่จะปกปักรักษาชีวิตของมนุษย์เอง รวมทั้งรักษาธรรมชาติ รักษาโลกที่สวยงามเพื่อมอบให้แก่ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน" อ.ประสาน กล่าว และด้วยเหตุผลนี้ อ.ประสาน จึงได้ร่วมกับ อ.ดำรงค์ สุภาษิต ครูประจำวิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนพลูตาหลวงวิทยา จ.ชลบุรี จัดตั้งชุมนุมวิทยาศาสตร์ทางทะเลขึ้นเมื่อปี 2544 เพื่อขยายพันธุ์ปะการังและฟื้นฟูแนวปะการังใต้ท้องทะเลแสมสาร

นายณภัทร สมเนตร์ เจ้าหน้าที่ประจำแหล่งเรียนรู้ห้องเรียนใต้ทะเล โรงเรียนพลูตาหลวงวิทยา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ทะลเบริเวณแสมสารมีปะการังอุดมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่เป็นปะการังสมอง ปะการังโต๊ะ และ ปะการังเขากวาง ต่อมาเกิดปัญหาแนวปะการังเสื่อมโทรมอย่างหนักจากการทำประมงที่ผิดวิธี ทั้งการใช้ระเบิด การใช้อวนลาก รวมไปถึงการถูกชาวบ้านเหยียบย่ำในขณะหาจับสัตว์น้ำ ทำให้แหล่งอนุบาลปลาเริ่มหดหายไป

อ.ประสาน และคณะ จึงเริ่มโครงการฟื้นฟูแนวปะการัง โดยเริ่มทดลองนำกิ่งปะการังเขากวางมาเพาะขยายพันธุ์ให้เจริญบนวัสดุต่างๆ เช่น ไม้ไผ่ เหล็กข้ออ้อย ต่อมาเปลี่ยนเป็นท่อพีวีซีที่มีน้ำหนักเบาและราคาถูกกว่า ทั้งยังไม่ส่งผลกระทบต่อปะการัง ซึ่งพบว่ากิ่งปะการังที่นำมาขยายพันธุ์สามารถเจริญโตในธรรมชาติได้ถึง 99% ส่วน 1% ที่เหลือขึ้นอยู่กับความอ่อนแอของปะการังเอง โดยปะการังเขากวางมีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 10-15 เซนติเมตรต่อปี

ต่อมาในปี 2551 บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมสนับสนุนท่อพีวีซีเพื่อขยายพันธุ์ปะการังจำนวน 10,000 ต้น และปัจจุบันสามารถขยายพันธุ์ปะการังได้แล้วหลายหมื่นต้น มีอายุตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 3 ปี ซึ่งหลังจากที่เริ่มโครงการฟื้นฟูแนวปะการัง สัตว์น้ำต่างๆ ก็เริ่มกลับมาอาศัยอยู่และค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

ล่าสุดบริษัทวีนิไทยยังได้สานต่อโดยร่วมกับหลายองค์กรดำเนินโครงการ "เริ่มต้น เพื่อล้นเกล้า" เพื่อขยายพันธุ์ปะการัง 80,000 กิ่ง ตั้งแต่ปี 2551-2555 ใน 5 พื้นที่ ได้แก่ แสมสาร, เกาะขาม จ.ชลบุรี, เกาะหวาย จ.ตราด, เกาะเสม็ด จ.ระยอง และเกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยขณะนี้ขยายพันธุ์ไปได้แล้ว 15,000 กิ่ง

นอกจากช่วยฟื้นฟูแนวปะการังและสัตว์น้ำในบริเวณนี้ให้อุดมสมบูรณ์ขึ้นมาได้แล้ว นักเรียนโรงเรียนพลูตาหลวงวิทยายังได้ใช้ทะเลแสมสารแห่งนี้ยังเป็นห้องเรียนใต้ทะเลอีกด้วย โดยการดำน้ำศึกษาสิ่งมีชีวิตตามแนวปะการัง และระบบนิเวศน์หาดหินในบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดให้นักเรียนได้ศึกษากัน อาทิ ปูลม หอยนางรม เม่นทะเล ปลิงทะเล ฟองน้ำ กุ้ง และปลาชนิดต่างๆ รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์นอกห้องเรียนสำหรับเยาวชนและผู้สนใจที่มาจากต่างถิ่นด้วย โดยมีครูและนักเรียนในชุมนุมวิทยาศาสตร์ทางทะเลของโรงเรียนพลูตาหลวงวิทยาคอยเป็นพี่เลี้ยงให้

ด.ช.สุรพันธ์ นพรัตน์ (น้ำมนต์) อายุ 11 ปี ชั้น ป.5 โรงเรียนราชวินิต บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า ติดตามอ่านนิตยสารโกจีเนียสเป็นประจำและเป็นสมาชิกด้วย เมื่อเห็นว่าจะมีกิจกรรมค่ายเอาชีวิตรอดในทะเลไทย จึงสนใจ โดยเฉพาะกิจกรรมดำน้ำศึกษาแนวปะการัง และเดิมทีก็ชอบทำกิจกรรมเข้าค่ายอยู่แล้ว ซึ่งครั้งนี้ได้ชวนเพื่อนที่โรงเรียนมาด้วยกันอีก 2 คน

น้องน้ำมนต์เล่าประสบการณ์การดำน้ำครั้งแรกให้ฟังว่ารู้สึกตื่นเต้นและมีความหวาดเสียวปนอยู่ด้วย เพราะเส้นเชือกที่เกาะยึดนั้นค่อนข้างลื่น จึงกลัวหลุดออกจากกลุ่ม แต่ก็รู้สึกสนุกและไม่ผิดหวัง ทั้งยังได้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศน์ในทะเล ได้เห็นปะการังและสัตว์น้ำสวยงามหลากหลายชนิด ทำให้เราได้ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและต้องช่วยกันอนุรักษ์ปะการังไว้ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำได้ตลอดไป

เช่นเดียวกับ ด.ญ.อิชยา รุ่งรุจี (ขมิ้น) อายุ 10 ปี เรียนอยู่ชั้น ป.5 โรงเรียนจิตรลดา ที่มาเข้าค่ายครั้งนี้พร้อมกับพี่ชายที่เรียนอยู่ชั้น ป.6 โรงเรียนเดียวกัน ซึ่งขมิ้นบอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า มาเข้าค่ายครั้งนี้นอกจากจะได้ประสบการณ์ใหม่ ได้เพื่อนใหม่ และได้ฝึกความอดทนแล้ว ยังได้ความรู้และได้มีส่วนช่วยอนุรักษ์ปะการังในทะเลไทยด้วย ซึ่งขมิ้นยังเชิญชวนให้ทุกคนหันมารักทะเล ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลาย และช่วยกันรักษาไว้ให้คงอยู่ต่อไป อย่างเช่นการช่วยกันปลูกปะการังเพิ่มให้ท้องทะเล

สำหรับใครที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในโครงการอนุรักษ์ปะการังเหมือนเช่นน้องๆ ในค่าย "เอาชีวิตรอดในทะเลไทย" สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมี อ.ประสาน เป็นประธานมูลนิธิฯ (http://www.vinythaicoral.org/)
ตัวอย่างปะการังเขากวางที่เคยเจริญเติบโตได้บนท่อพีวีซี
อ.ประสาน แสงไพบูลย์
อุปกรณ์สำคัญในการปลูกปะการังเขากวาง ที่มีหมายเลขประจำตัวติดอยู่ด้วย
เด็กๆ วุ่นอยู่กับการปลูกกิ่งปะการังเขากวาง
นำกิ่งปะการังเขากวางมายึดไว้กับชิ้นส่วนท่อพีวีซีให้แน่น ก่อนนำไปเชื่อมต่อกับท่อพีวีซีท่อใหญ่
ฝึซ้อมดำน้ำ
ถึงเวลาปฏิบัติการดำน้ำชมแนวปะการังและสัตว์น้ำใต้ทะเล
ด.ญ.อิชยา รุ่งรุจี
ศึกษาระบบนิเวศบริเวณหาดหิน เจอทั้งหอย ปู และเพรียง
ด.ช.สุรพันธ์ นพรัตน์ (ขวาสุด) และเพื่อนๆ ในค่ายเอาชีวิตรอดในทะเลไทย
โหนเชือกข้ามน้ำ 1 ใน 10 สถานการณ์ที่เด็กๆ ต้องฝึกเอาชีวิตรอดให้ได้
โหนตัวข้ามกิ่งขีดขวาง จะเอาชีวิตรอดได้ต้องอาศัยทีมเวิร์ค
แล็บผ่าหมึก ศึกษาส่วนประกอบของสัตว์ทะเล
กำลังโหลดความคิดเห็น