xs
xsm
sm
md
lg

"ศูนย์รวมตะวัน" สร้างสรรค์ตะวันดวงใหม่ เพิ่มพลังงานให้สิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บ้านประหยัดพลังงาน ภายในสถานีชีวิตเพื่อสิ่งแวดล้อม ของศูนย์รวมตะวัน ที่นี่จะนำเสนอให้เราได้เห็นว่าชีวิตประจำวันของเราสร้างภาระให้กับสิ่งแวดล้อมมากเพียงใด พร้อมและวิธีที่ช่วยให้วิถีชีวิตของเราส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
เอ่ยชื่อ "ศูนย์รวมตะวัน" หลายคนคงสงสัยว่าสถานที่นี้อยู่แห่งหนใด และก็อาจคิดไปอีกว่าที่นั่นจะมีตะวันอยู่กี่ดวง แต่จำนวนของดวงตะวันจะมากหรือน้อยก็ไม่สำคัญเท่ากับแสงที่สาดส่องออกมาจากตะวันแต่ละดวง เพื่อเป็นแหล่งพลังงานให้กับสรรพชีวิตบนผืนโลกในยุคที่สิ่งแวดล้อมและพลังงานกำลังเข้าสู่ภาวะเสื่อมถอยเช่นในปัจจุบัน

ศูนย์รวมตะวัน ศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้จากกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ บนพื้นที่ 25 ไร่ ที่อยู่ห่างออกไปจากกรุงเทพฯ เพียงร้อยกว่ากิโลเมตร ตรงข้ามหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยสะด่อง เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ต.ช่องสะเดา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนมาแล้วเมื่อครั้งร่วมคณะไปกับสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทยในโครงการ Save our earth...Love our life ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการอบรมหลักสูตร การประชาสัมพันธ์ธุรกิจแผนใหม่ เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา

ดร.ศันสนีย์ กีรติวิริยาภรณ์ เลขาธิการสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เล่าให้ฟังว่า ศูนย์รวมตะวันแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 เพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม พลังงาน อีกหลากหลายปัญหาที่มากับภาวะโลกร้อน ด้วยแนวคิดที่ว่าหากจะแก้ไขหรืออนุรักษ์ ต้องเริ่มจากตัวเราเป็นอันดับแรก เพราะชีวิตสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และเราจะดำรงชีวิตอยู่อย่างไรเพื่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

ศูนย์แห่งนี้จึงเป็นสถานที่เรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาวะแวดล้อมผ่านหลากหลายกิจกรรมที่เน้นให้เกิดความเข้าใจในเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนมองข้ามไปจนส่งผลให้วิถีชีวิตของเราสร้างความเสียหายให้แก่ธรรมชาติมาเป็นเวลานาน จนเกิดเป็นวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมมากมายอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

แต่ก่อนที่จะลงหลักปักฐานและจัดตั้งศูนย์รวมตะวันขึ้น สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการในลักษณะดังกล่าว โดยการเดินทางตระเวนไปจัดกิจกรรมและให้ความรู้แก่ชุมชนในจังหวัดต่างๆ มานานกว่า 20 ปีแล้ว ด้วยเจ้าหน้าที่ของสมาคมประมาณ 10-20 คน เพื่อรณรงค์ให้คนหันมาสนใจและใส่ใจต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมกันให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน เพราะปัญหาต่างๆ ล้วนเกิดจากการที่คนเราใช้สองสิ่งนี้

"ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่รู้ของผู้คนในสังคม เพราะฉะนั้นอันดับแรกจึงต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนแนวความคิดและจิตใจให้เล็งเห็นและตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อมจากการได้สัมผัสของจริงจากกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ที่แฝงให้รู้จักการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า" ดร.ศันสนีย์ อธิบายพร้อมยกตัวอย่าง เช่น กิจกรรมศึกษาการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรน้ำ ที่สอนกันตั้งแต่ว่าน้ำแต่ละหยาดหยดมาจากไหน มีที่มาอย่างไร ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ใช้อย่างไรจึงเป็นการใช้อย่างรู้คุณค่า และถ้าต้องการให้มีน้ำใช้ตลอดไปเราควรดูแลรักษาน้ำและแหล่งต้นน้ำอย่างไร

ตลอดจนให้เห็นถึงผลที่จะตามมาหากใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย ไม่รู้คุณค่า ว่าจะเกิดผลอย่างไรบ้างที่นอกเหนือจากการสิ้นเปลืองเงินทอง เช่น เมื่อใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมากเกินไป ส่งผลให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น เมื่อรวมกับก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่นมากขึ้นๆ จนเป็นเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อนและปัญหาอื่นๆ ตามมา

ดร.ศันสนีย์ บอกว่าชื่อ ศูนย์รวมตะวัน เสมือนเป็นการเพิ่มตะวันดวงใหม่ให้กับสังคมจากผู้ที่เข้ามาร่วมเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่ศูนย์แห่งนี้ โดยเฉพาะคนเมืองที่ส่วนใหญ่ใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย ซึ่งเมื่อพวกเขากลับออกไป เขาก็จะตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อม และใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่ามากขึ้น เมื่อเพิ่มดวงตะวัน ก็เท่ากับเพิ่มพลังงานให้สิ่งแวดล้อม

กิจกรรมหลักของศูนย์รวมตะวัน ประกอบไปด้วยกิจกรรมที่เริ่มตั้งแต่บ่งบอกให้รู้ว่าอะไรคือปัญหา กลไกใดทำให้เกิดปัญหา ผลกระทบที่ตามมาเป็นอย่างไร วิธีใดจะช่วยแก้ไขหรือช่วยให้บรรเทาลงได้บ้าง เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนนั้นเกิดจากการใช้พลังงาน และเราจะใช้พลังงานอย่างไรให้คุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนเป็นหลัก และระยะเวลา 3 วัน นับว่าเหมาะสมที่ผู้มาร่วมกิจกรรมจะได้รับประโยชน์กลับไปมากที่สุด

"วันแรกจะทำให้เข้าใจว่าสิ่งแวดล้อมสำคัญกับทุกชีวิตอย่างไร มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร ซึ่งวันนี้นับว่ายากที่สุด เพราะบางคนไม่ได้ตั้งใจมา จึงต้องใช้เวลาพอสมควรในการปรับเปลี่ยนทัศนคติของพวกเขา พอเข้าสู่วันที่สอง จะให้เรียนรู้ถึงรายละเอียดของวิธีการรักษาสิ่งแวดล้อมว่าต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง ส่วนวันสุดท้ายเป็นการทดลองฝึกปฎิบัติจริง" ดร.ศันสนีย์ ให้ข้อมูลและแจงรายละเอียดอีกว่า

ทุกสิ่งทุกอย่างมีความเชื่อมโยงกันหมด คนเมืองที่มักกินอยู่อย่างฟุ่มเฟือย ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง โดยที่คนชนบทเป็นผู้หาทรัพยากรเหล่านั้นไปสนองความต้องการของคนเมือง เมื่อสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม คนชนบทก็จะได้รับผลก่อน ขณะที่คนเมืองกลับเห็นเป็นเรื่องไกลตัว ไม่รู้สึกอะไร ไม่คิดว่าความเสียหายนั้นก็มีผลกับตัวเองเช่นเดียวกัน ฉะนั้นต้องทำให้คนเมืองเข้าใจถึงความเชื่อมโยงนี้ให้ได้ และใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่า

อย่างไรก็ดี ดร.ศันสนีย์ ชี้ว่ากิจกรรม 3 วัน นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเปลี่ยนแปลงทัศนคติของทุกคนได้ เพราะมีบางคนที่ไม่ได้ตั้งใจมา และเมื่อกลับออกไปก็ยังต้องเจอกับสิ่งแวดล้อมแบบเดิม จึงมีบางส่วนที่เขาสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้ และความเชื่อมโยงนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เปรียบเหมือนสายใยที่มองไม่เห็น ฉะนั้นจึงต้องรับรู้ได้ด้วยการทำความเข้าใจ

สำหรับกิจกรรมที่ศูนย์รวมตะวันไม่ได้มีแค่การเรียนรู้เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ ตลอดจนกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้อื่นๆ ที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้มาร่วมกิจกรรม และภายในศูนย์ฯ ยังมีสถานีความรู้อีก 15 สถานี ที่จัดแสดงนิทรรศการด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบ ทั้งภาพยนตร์สารคดี แบบจำลอง 3 มิติ รวมไปถึงอุปกรณ์ต่างๆ อีกมากมาย

เช่น สถานีโลกไร้ตะวัน ที่แสดงให้เห็นความสำคัญของพลังงานกับชีวิต, สถานีพลังงานไฟฟ้า...กว่าจะได้มา 1 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ให้ความรู้เรื่องพลังงานไฟฟ้า ตั้งแต่การผลิต จัดส่ง การใช้ และผลกระทบที่เกิดขึ้น, สถานีชีวิตเพื่อสิ่งแวดล้อม นำเสนอวิธีการดำรงชีวิตที่สร้างภาระให้สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เป็นต้น ซึ่ง ดร.ศันสนีย์ บอกว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้ทันสมัยอยู่เสมอ และหวังว่าในอนาคตจะขยายศูนย์ฯ ให้รองรับจำนวนผู้เข้าร่วมได้มากขึ้น เพื่อขยายโอกาสในการเรียนรู้ให้เยาวชนไทย

"มีความสุขกับการที่ได้ทำให้คนที่ไม่รู้ได้รู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และมีความเชื่อว่าถ้าหากพวกเรารู้และเข้าใจว่าชีวิตเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร ก็จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐานของชีวิต ถ้าจิตใจเราไม่เห็นคุณค่า การแก้ปัญหาก็ไม่มีทางสัมฤทธิ์ผล" ดร.ศันสนีย์ กล่าวทิ้งท้าย
ป้ายชื่อของศูนย์รวมตะวันตั้งตระหง่านรอต้อนรับผู้มาเยือนอยู่ตรงบริเวณด้านหน้าของศูนย์
ทุกคนที่มาร่วมทำกิจกรรมที่ศูนย์รวมตะวันแห่งนี้เปรียบเสมือนตะวันดวงใหม่ที่รู้คุณค่าของสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เท่ากับว่าช่วยเพิ่มพลังงานให้มีเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ทางเข้าสถานีชีวิตเพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีบ้านประหยัดพลังงานรออยู่เบื้องหน้า
มุมหนึ่งในบ้านประหยัดพลังงาน
บริเวณชั้นล่างของบ้านประหยัดพลังงานที่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างจัดแสดงประกอบการให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกใช้และวิธีใช้ที่ช่วยให้ประหยัดพลังงาน
ส่วนหนึ่งของลานทำกิจกรรมภายในศูนย์รวมตะวัน
ดร.ศันสนีย์ กีรติวิริยาภรณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น