xs
xsm
sm
md
lg

กรีนพีซส่งการ์ตูนต้านนิวเคลียร์ถึงชุมชนที่หมายสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธารา บัวคำศรี จากกรีนพีซ และการ์ตูนที่จะเผยให้เห็นด้านร้ายๆ ของนิวเคลียร์ (ภาพทั้งหมดจากกรีนพีซ)
กรีนพีซเสริมพลังชุมชนที่ถูกหมายตาสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ส่งการ์ตูนสร้างความตระหนักมหันตภัยนิวเคลียร์ ชี้อยากนำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปเสนอได้ แต่ต้องจริงใจและใช้ข้อมูลชาวบ้านทั้งสองด้าน ไม่ชูแต่ด้านดีเหมือนโฆษณาขายยา ด้านเยาวชนยุคพลังงานสะอาดยี้ไม่ต้องการมรดกอันเลวร้ายจากกากนิวเคลียร์ บอกเป็นการตัดสินใจที่มักง่ายหากใช้นิวเคลียร์แก้ปัญหาโลกร้อน

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดตัวการ์ตูน "มหันตภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์: สาล์นจากความมืด" ณ ร้านอาหารบ้านไผ่ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.52 ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้ร่วมติดตามการเปิดตัวดังกล่าวด้วย โดยการ์ตูนมีเนื้อหาเกี่ยวกับภัยจากพลังงานนิวเคลียร์ ถ่ายทอดผ่านการผจญภัยของ "คอสโม" และ "ลูนาร์" เยาวชนที่ต้องการสร้างโลกให้น่าอยู่ขึ้น
 
ผู้เขียนเนื้อเรื่องการ์ตูนเรื่องนี้คือ เทสซา เดอริค ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านนิวเคลียร์ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และวาดภาพประกอบโดยนักวาดการ์ตูนชาวอินโดนีเซีย และเผยแพร่ใน 3 ภาษาคือภาษาถิ่นอินโดนีเซีย ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

"หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ลงเนื้อหามาก แต่คิดว่าจะจุดประกายให้คนนึกถึงอนาคต แทนที่จะนึกถึงแค่ตัวเองอย่างเดียว" นายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวและบอกว่าจะนำไปแจกจ่ายตามโรงเรียนชุมชนที่ได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่สำรวจความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

พื้นที่ซึ่งได้รับเลือกให้สำรวจความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีทั้งหมด 16 พื้นที่ ในจังหวัดชัยนาท นครสวรรค์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชลบุรีและตราด โดยกรีนพีซหวังจุดประกายเยาวชนและชุมชนในพื้นที่ดังกล่าวให้ร่วมกันปกป้องอนาคตของบ้านเกิดจากอันตรายของนิวเคลียร์ด้วยการ์ตูนเล่มนี้

นายธาราอธิบายตัวละครในหนังสือการ์ตูนว่า คอสโมและลูนาร์ต้องต่อสู้กับ 3 ตัวละครร้ายคือ "แอนน์ แอล อาเรว่า" ตัวละครหญิงซึ่งตั้งชื่อตามบริษัทนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสที่มีบทบาทในการผลักดันสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก และมีเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่น 3 ที่อ้างว่าปลอดภัยที่สุด ถัดมาคือ "ศ.ปาร์ก-โก นุก" ซึ่งเป็นตัวแทนของเกาหลีใต้ที่มีบทบาทในการผลักดันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ "นายพลแฟตแมน" ตัวแทนจากสหรัฐฯ ที่ผลักดันให้รัฐบาลต่างๆ ร่วมมือกับสหรัฐฯ ในเรื่องนิวเคลียร์

"บริษัทที่ปรึกษาจากสหรัฐฯ ก็ไม่รู้มาจากไหน" นายธารากล่าวถึงบริษัทเบิร์นแอนด์รู (Burn&Roe) บริษัทที่ปรึกษาในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กระทรวงพลังงานว่าจ้าง ซึ่งได้เข้าไปขุดสำรวจความเหมาะสมในการสร้างดรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยว่า เป็นบริษัทที่ไม่ได้มีประสบการณ์ด้านนี้เท่าไหร่นัก และได้งบ 1.3 พันล้านบาทจากกระทรวงพลังงานจากการอนุมัติในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์

ด้าน นิพนธ์ ตาตน เยาวชนยุคพลังงานสะอาด (Solar Generation) ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องมักง่ายหากคิดว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นคำตอบในการแก้ปัญหาโลกร้อน เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะทิ้งมรดกอันเลวร้ายให้แก่รุ่นลูกรุ่นหลาน หรือคนในรุ่นพวกเขานั่นเอง ดังนั้นในฐานะของคนรุ่นถัดไปที่จะรับมรดกอันเลวร้ายจากนิวเคลียร์ จึงขอออกมาแสดงความเห็นว่าไม่ต้องการมรดกที่มีพิษมหาศาลนี้

พร้อมกันนี้กรีนพีซยังได้เปิดเวทีเสวนากับตัวแทนชุมชนในเขตพื้นที่ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่สำรวจความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้า โดยนายวิบูลย์ สายสว่าง ชาวบ้านจาก ต.มะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนว่า ชาวบ้านได้เห็นบ่อที่ถูกขุดเป็นบ่อสี่เหลี่ยมและกั้นด้วยรั้วขาว-แดง ซึ่งเป็นการขุดสำรวจพื้นที่ความเหมาะสมในการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยที่ชาวบ้านไม่ได้รับรู้มาก่อนว่าเป็นพื้นที่ในตัวเลือก

เมื่อทราบว่าเป็นหนึ่งในชุมชนตัวเลือกสำหรับสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นายวิบูลย์และชาวบ้านกว่า 500 คน จึงได้ประชุมกันว่าจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทำไมจึงไม่แจ้งให้ชาวบ้านทราบ และต่อต้านไม่เอานิวเคลียร์ โดยมีการประชุมต่อเนื่อง จนกระทั่งรองปลัดกระทรวงพลังงานได้ส่งหนังสือมายัง จ.ชัยนาทเพื่อแจ้งว่าไม่เลือกพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว แต่ชาวบ้านก็ไม่เชื่อนักเพราะจดหมายดังกล่าวส่งมาก่อนมีข้อสรุปจริงๆ

ส่วน อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์นั้น นายธาราตั้งข้อสังเกตว่าไม่ได้เป็นตัวเลือกของกระทรวงพลังงานตั้งแต่แรก แต่กลับอยู่ในรายชื่อพื้นที่เป็นตัวเลือกในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในภายหลัง และตั้งคำถามว่ากระทรวงพลังงานกำลัง "เล่นละคร" อยู่หรือเปล่า และคล้ายกับผิดหวังจาก จ.ชัยนาท จึงไปเลือก จ.นครสวรรค์แทน พร้อมทั้งบอกด้วยว่าการยอมรับของประชาชนคือประตูบานใหญ่สำหรับพลังงานนิวเคลียร์ในเมืองไทย ซึ่งหากเปิดประตูยอมรับนิวเคลียร์แล้ว เขาจะเข้ามาทำอะไรก็ได้

นายสราวุธ ทองถาวรวงศ์ กำนัน ต.พนมรอก อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ทราบเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่นายก อบต.เป็นผู้เสนอให้เลือกตำบลเป็นพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และบอกด้วยว่าพื้นที่ชุมชนนั้นไม่เหมาะสมกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ต้องใช้น้ำเพื่อหล่อเย็นเครื่องปฏิกรณ์ แต่พื้นที่ในชุมชนถูกประกาศในเป็นพื้นที่ภัยพิบัติทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง

พร้อมทั้งกล่าวถึงการโฆษณาชวนเชื่อของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตโดยนำโครงการแว่นแก้วเข้าไปในชุมชนและแจกแว่นตาให้กับชาวบ้าน 400-500 คน พร้อมทั้งบอกแต่ด้านดีๆ ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เช่น น้ำจากเครื่องปฏิกรณ์สามารถนำไปดื่มได้ หากสร้างโรงไฟฟ้าแล้วชาวบ้านจะมีน้ำทำนาปีละ 2 ครั้ง และยังได้ใช้ไฟฟรี เป็นต้น ซึ่งนายสราวุธกล่าวว่าฟังเหมือนการเร่ขายยาสมัยก่อนที่โฆษณาชวนเชื่อว่ารักษาได้สารพัด

ส่วนนายสุรพล คำประกอบ อดีตกำนันและอดีตนายก อบต.พนมรอกกล่าวว่าชาวบ้าน 70% ไม่เห็นด้วย และกลุ่มผู้นำก็คัดค้าน ยกเว้นนายก อบต.คนปัจจุบัน และบอกด้วยว่าทาง กฟผ.ระบุว่าหากสร้างสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว จะดึงน้ำจากแม่น้ำป่าสักมายังบึงบอระเพ็ดแล้วดึงมาใช้ในโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เพราะบึงบอระเพ็ดเป็นสถานที่อันสวยงามที่ต้องรักษาไว้ให้ลูกหลาน

ด้านนายธารากล่าวว่า หากจะนำข้อมูลโรงไฟ้านิวเคลียร์ไปให้กับชาวบ้านต้องมีความจริงใจและให้ข้อมูลทั้งสองด้าน ไม่ใช่ไปโฆษณาเหมือนเร่ขายยา และบอกด้วยว่าชาวบ้านไม่ได้โง่ อะไรที่ขัดกับสามัญสำนึกย่อมยากที่จะยอมรับได้อยู่แล้ว
 
นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงผลสำรวจการยอมรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของ 3 สำนัก เริ่มจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ที่สำรวจความเห็นประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ ได้ข้อสรุปว่า 80% ไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จากนั้นสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ทำการสำรวจทั่วประเทศซึ่งได้ข้อมูลว่า 60% ยอมรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

"เร็วๆ นี้ กฟผ.ได้สำรวจประชากรเกิน 10,000 คน ได้ความเห็นว่า 80% เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่น่าสนใจว่า 60%ของผู้ที่เห็นด้วยบอกว่าอย่ามาสร้างในบ้านของฉัน เป็นการสะท้อนลักษณะสังคมไทยว่าอะไรที่จะเดือดร้อนให้ไปไกลๆ" นายธารากล่าว

สำหรับผู้สนใจการ์ตูน "มหันตภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์: สาล์นจากความมืด" สามารถเข้าไปชมการ์ตูนฉบับออนไลน์หรือดาวน์โหลดการ์ตูนได้ฟรีที่ www.greenpeace.or.th/comic
การ์ตูนเล่มนี้จะส่งไปประจำยังโรงเรียนที่เป็นพื้นที่ตัวเลือกในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
นิพนธ์ ตาตน เยาวชนยุคพลังงานสะอาด (Solar Generation)
(ซ้ายไปขวา) นายธารา บัวคำศรี, นายสราวุธ ทองถาวรวงศ์ , นายสุรพล คำประกอบ และนายวิบูลย์ สายสว่าง
ภาพถ่ายผลพวงจากเหตุการณ์เชอร์โนบิล ที่ยังคงมีคนได้รับผลกระทบ
กำลังโหลดความคิดเห็น