xs
xsm
sm
md
lg

กรีนพีซใช้โอกาสวันลอยกะทง เสนอรัฐออกมาตรการปกป้องเจ้าพระยาอย่างจริงจัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรีนพีซ - เนื่องในประเพณีวันลอยกระทงของคนไทยที่ส่งเสริมให้เรากตัญญูต่อพระคุณของสายน้ำ กรีนพีซเสนอรัฐบาลให้ออกมาตรการเข้มงวดเพื่อปกป้องแม่น้ำเจ้าพระยาที่ต้องรองรับน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนสารเคมีอันตราย

“แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญและหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน คุณภาพแม่น้ำเจ้าพระยาที่แย่ลงเป็นเรื่องที่น่ากังวล ในประเพณีวันลอยกระทงที่จะถึงนี้ กรีนพีซเสนอว่ารัฐบาลควรเริ่มแสดงความกตัญญูต่อสายน้ำอย่างแท้จริง โดยเน้นแก้ปัญหามลพิษจากภาคอุตสาหกรรม เช่น การสนับสนุนการประยุกต์เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด วางนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เฝ้าระวังและจัดทำข้อมูลปริมาณสารเคมีอันตรายต่างๆ ที่ปล่อยทิ้งปนเปื้อนมากับน้ำทิ้งของแต่ละโรงงาน รวมถึงการออกกฎหมายที่นำไปสู่การลดปริมาณการปล่อยมลพิษ” นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว

ประเทศไทยมีปริมาณน้ำจืดต่อประชากรน้อยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือ 6,460 ลูกบาศก์เมตร(1) ต่อปี แต่เหลือประมาณร้อยละ 22 ของปริมาณดังกล่าวเท่านั้นที่ยังคงมีคุณภาพดี(2) และเนื่องจากความต้องการใช้น้ำที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดมีปริมาณลดลง กรีนพีซเชื่อว่าการปกป้องแหล่งน้ำจากภัยคุกคามมลพิษจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำสะอาดในอนาคต

ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของประชากรนับล้าน และมีประชากรจำนวนมากต้องอาศัยคุณภาพน้ำที่ดีเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต ในขณะนี้มีโรงงานบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางน้ำในระดับปานกลางและระดับสูงมากถึง 5,620 แห่ง และในแต่ละวัน มีปริมาณน้ำเสียระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา 304,581 ลูกบาศก์เมตร(3)

หน่วยศึกษาและเฝ้าระวังมลพิษทางน้ำของกรีนพีซพบสารเคมีอันตรายปนเปื้อนมากับน้ำทิ้งอุตสาหกรรม ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ทั้งมีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ไม่สามารถย่อยสลายได้ และยังสามารถสะสมได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กรีนพีซได้เปิดเผยรายงานพื้นที่และแหล่งน้ำที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำในประเทศไทย(4) ซึ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความเสี่ยงของการเกิดมลพิษในแหล่งน้ำมักอยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคม 2551 กรีนพีซได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางน้ำที่จัดทำร่วมกับศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC POLL) ซึ่งพบว่า ร้อยละ 86.5 ของชาวกรุงเทพฯและปริมณฑลมีความคิดเห็นว่ามลพิษทางน้ำเป็นปัญหาสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ร้อยละ 67.8 มีความคิดเห็นว่ากฎหมายเกี่ยวกับการปล่อยน้ำทิ้งหย่อนยาน ไม่ครอบคลุมสารเคมีอันตรายหลายชนิดและยังไม่เพียงพอในการแก้ปัญหา

“กฎหมายควบคุมการปล่อยน้ำทิ้งในปัจจุบันนั้นล่าสมัย แทนที่จะเน้นเอาผิดกับผู้ก่อมลพิษแต่กลับไม่มีมาตรการที่ชัดเจน ซ้ำยังเป็นการอนุญาตให้มีการปล่อยน้ำทิ้งปนเปื้อนสารพิษได้อย่างถูกกฎหมาย แม้ว่าประชาชนจะมีความกังวลต่อปัญหามลพิษทางน้ำที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่รัฐบาลก็ยังไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควรและไม่มีมาตรการใหม่ ๆ ที่ชัดเจนในการปกป้องแม่น้ำ” นายพลาย ภิรมย์กล่าว

ในระหว่างวันที่ 1 และ 2 พฤศจิกายน เนื่องในวันลอยกระทงนี้ กรีนพีซจัดกิจกรรม “ฟื้นฟูวิถีชีวิตลุ่มน้ำเจ้าพระยา” ร่วมกับเมืองโบราณ โดยภายในกิจกรรมประกอบด้วยนิทรรศการสถานการณ์น้ำในประเทศไทย ปัญหามลพิษทางน้ำ การปกป้องแหล่งน้ำจากมลพิษ รวมถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในลุ่มน้ำเจ้าพระยานิทรรศการดังกล่าวเปิดให้เข้าชม ในวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 52 เวลา 16.00 น. ถึง 22.00 น. ณ ส่วนสุวรรณภูมิ เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ

หมายเหตุ

(1) รายงานการพัฒนาแหล่งน้ำโลกของสหประชาชาติ 2549 (The 2nd UN World Water Development Report , 2006)

(2) รายงานประจำปีสำนักจัดการคุณภาพน้ำ พ.ศ. 2551" สำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมhttp://www.pcd.go.th/Public/Publications/en_print_report.cfm?task=water_annual51

(3) สถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา 2549 http://www.pcd.go.th/info_serv/water_Chaopraya50.cfm

(4) รายงานพื้นที่และแหล่งน้ำที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำในประเทศไทย ฉบับเต็มดาวน์โหลดได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/water-pollution-risk-areas-thailand ดาวน์โหลดรายงานฉบับย่อได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/water-pollution-risk-areas-thailand-briefing

(5) ร่วมปกป้องเจ้าพระยากับกรีนพีซ ได้ที่ http://waterpatrol.greenpeace.or.th
กำลังโหลดความคิดเห็น