"นาซา" นับถอยหลังทดสอบยิง “เอเรส วัน-เอกซ์” จรวดนำส่งนักบินอวกาศสำรวจดวงจันทร์-ดาวอังคาร ซึ่งจะเข้ามาแทนที่ “ฝูงกระสวยอวกาศ” ที่กำลังจะถูกปลดระวาง แต่สภาพอากาศอาจไม่เป็นใจ ทำให้ต้องกำหนดส่งครั้งที่สอง ต้องการเวลาเพียงแค่ไม่กี่นาทีสำหรับทดสอบ
จรวดเอเรส วัน-เอกซ์ (Ares I-X) ที่จะเข้ามารับหน้าที่แทนกระสวยอวกาศขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) จอดสงบนิ่งอยู่ที่ฐานปล่อยจรวด 39เอ (39B) ของศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ในรัฐฟลอริดา สหรัฐฯ โดยมีกำหนดยิงทดสอบรอบแรกในเวลา 19.00 น.ของวันที่ 27 ต.ค.52 ตามเวลาประเทศไทย
หลังจากเรียกเจ้าหน้าที่ประจำการเมื่อเวลา 12.00 น.ตามเวลาประเทศไทย เอเอฟพีระบุว่าเจ้าหน้าที่กว่า 30 ทีมได้เข้าประจำที่ศูนย์ควบคุมการปล่อยจรวดของศูนย์อวกาศเคนเนดี ซึ่งการทดสอบครั้งนี้ มีความสำคัญต่อการเดินทางออกไปสำรวจอวกาศของสหรัฐฯ ในอนาคต โดยจรวดเอเรส วัน ถูกออกแบบมาให้แทนที่กระสวยอวกาศรุ่นเก่า และนำส่งนักบินอวกาศกลับไปสำรวจดวงจันทร์ และมุ่งหน้าสู่ดาวอังคาร
ภายในการยิงจรวดทดสอบมูลค่า 15,575 ล้านบาทที่กินเวลาเพียง 2 นาทีครึ่งนี้ มีเซนเซอร์กว่า 700 จุด ให้เจ้าหน้าที่ของนาซานำข้อมูลการปล่อยจรวดไปวิเคราะห์ โดยจรวดท่อนแรก จะมีร่มชูชีพบังคับทิศทางให้ตรงลงในมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเก็บกู้กลับมาวิเคราะห์ ส่วนจรวดท่อนอื่นเป็นของปลอมที่ถูกปล่อยให้ตกอย่างอิสระในมหาสมุทร
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นจากการยิงจรวดครั้งนี้ นาซาระบุว่า พวกเขาจะได้เรียนรู้อย่างมากจากการปล่อยจรวด โดยนาซาจะได้ทดสอบและพิสูจน์ฮาร์ดแวร์ แบบจำลอง เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ และการเชื่อมต่อระหว่างยานปล่อยจรวดเอเรส-วันกับภาคพื้นดิน ซึ่งเป็นก้าวแรกสำหรับจรวดแบบมีคนขับรุ่นใหม่ ที่จะมาแทนที่กระสวยอวกาศ
สำหรับการปล่อยจรวดเพื่อทดสอบนี้ นาซาขอสภาพอากาศที่ดีเพียง 15 นาที เพื่อยิงจรวดได้ แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถดำเนินการได้ในครั้งแรก ทำให้นาซาตั้งเป้าโอกาสที่สองในช่วงเวลา 19.00 น.ของวันพุธที่ 28 ต.ค.นี้ ซึ่งพยากรณ์อากาศระบุว่าสภาพอากาศเอื้ออำนวย 60% แต่ถ้าอากาศไม่เป็นใจจริงๆ ก็ต้องเลื่อนกำลังทดสอบออกไปเป็นเดือนหน้า.