นาซาเริ่มต้นทดสอบยิงจรวด Ares I-X สวยงาม แต่ยังไม่สมบูรณ์แบบเท่าที่ควร หลังร่มชูชีพของบูสเตอร์กางไม่ครบ เป็นเหตุให้บูสเตอร์จุดระเบิดตกกระแทกลงทะเลอย่างแรงจนมีรอยบุบเบ้อเริ่ม ระดมทีมวิศวกรเร่งพิสูจน์สาเหตุสัปดาห์นี้ ด้านผู้จัดการภารกิจบอกไม่กระทบความสำเร็จภาพรวม พร้อมขอร้องสื่อมวลชนหยุดเล่นประเด็นนี้
เมื่อคืนวันที่ 28 ต.ค.52 ที่ผ่านมา ตามเวลาในประเทศไทย องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เริ่มทดสอบจรวด เอเรสวัน-เอกซ์ (Ares I-X) เป็นครั้งแรก ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) มลรัฐฟลอริดา ซึ่งหลังจากเอเรสวัน-เอกซ์ ทะยานขึ้นฟ้าเพียง 2 นาที จรวดก็แยกชิ้นส่วนในขั้นแรก โดยปลดตัวบูสเตอร์จุดระเบิดออกเป็นท่อนแรก และตกลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก
ทว่าร่มชูชีพของบูสเตอร์จุดระเบิดนี้ 2 ใน 3 ชุด ทำงานผิดปกติ โดยทั้งหมดกางออกทันทีหลังที่บูสเตอร์แยกตัวออกมา แต่ร่มชูชีพชุดหนึ่งได้แฟบลงอย่างรวดเร็ว และอีกชุดก็แฟบตามไปด้วย เป็นเหตุให้บูสเตอร์ตกลงกระแทกพื้นผิวน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกอย่างแรงกว่าที่คาดไว้ จนทำให้ตัวบูสเตอร์เป็นรอยบุบขนาดใหญ่ด้วย ซึ่งร่มชูชีพแต่ละชุดนี้มีขนาดกว้างประมาณ 150 ฟุต ถูกออกแบบขึ้นมาสำหรับนำบูสเตอร์ตกลงสู่แอตแลนติกอย่างนุ่มนวล
อย่างไรก็ดี เอพีระบุว่า บ็อบ เอสส์ (Bob Ess) ผู้จัดการประจำภารกิจ กล่าวว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องนอกประเด็น เพราะบูสเตอร์ดังกล่าวนั้นไม่ได้จะถูกนำกลับมาใช้ในการส่งจรวดครั้งต่อไปอยู่แล้ว และปัญหาที่เกิดกับร่มชูชีพในครั้งนี้ก็ไม่อาจไปลดคุณค่าของความสำเร็จทั้งหมดในการทดสอบจรวดเอเรสวัน-เอกซ์ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาได้
"อย่าเล่นประเด็นข่าวนี้กันมากนักเลย เราไม่ได้กังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย ไม่มีการสืบสวนใดๆ สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ไม่มีสิ่งผิดปกติใดๆ ทั้งสิ้น และเรากำลังผ่านไปสู่การทดสอบหลังการบินตามปกติ" เอสส์ กล่าวขอร้องสื่อมวลชน
ผู้จัดการประจำภารกิจบอกอีกว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้น อาจเป็นเพราะความบกพร่องที่ตัวร่มชูชีพชุดดังกล่าว ซึ่งทีมวิศวกรจะเริ่มตรวจสอบหาข้อเท็จจริงในต้นสัปดาห์แรกของเดือน พ.ย. นี้ หลังจากที่นักประดาน้ำได้กู้บูสเตอร์ขึ้นจากมหาสมุทรมาถึงท่าเรือแล้วตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา และจะนำกลับไปตรวจสอบที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ของนาซายังเผยอีกถึงความเสียหายที่มากกว่ากรณีนี้เกิดขึ้นด้วยในระหว่างการทดสอบยิงจรวดเอเรสวัน-เอกซ์ โดยหลังจากที่จรวดถูกส่งขึ้นไปแล้ว เกิดเหตุสารพิษจากเชื้อเพลิงขับเคลื่อนจรวดรั่วไหลบริเวณฐานปล่อยจรวด 39B ทำให้นาซาต้องเร่งอพยพอออกจาบริเวณนั้นทันทีเพื่อความปลอดภัย ก่อนที่จะให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบและซ่อมแซมส่วนที่เสียหายต่อไปดังที่ยูนิเวอร์สทูเดย์รายงาน.