xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก "เอเรส" จรวดดาวรุ่งทดแทน "กระสวยอวกาศ" ของนาซา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพเปรียบเทียบยานอวกาศยุคต่างๆ ของนาซา ทั้งในอดีตและอนาคต (ซ้ายไปขวา) ยานแซทเทิร์นไฟว์ฟ รุ่นก่อนอะพอลโล, กระสวยอวกาศซึ่งกำลังจะถูกปลดระวาง, จรวดเอเรสวัน ซึ่งเพิ่งทดสอบจรวดท่อนแรกในปฏิบัติการ เอเรส วัน-เอกซ์ ถัดไปคือเอเรสโฟร์ และเอเรส ไฟว์ฟ จรวดในโครงการคอนสเตลาชัน ที่มีเป้าหมายพัฒนาระบบและยานเพื่อเดินทางสำรวจอวกาศ ซึ่งตั้งเป้าที่ดวงจันทร์และดาวอังคาร
ทำความรู้จัก "เอเรส" จรวดนำส่งยานอวกาศที่จะมาแทนที่ "กระสวยอวกาศ" ความหวังนาซากลับไปดวงจันทร์-สำรวจดาวอังคาร

การทดสอบยิงจรวดเอเรส วัน-เอกซ์ (Ares I-X) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ในคืนวันที่ 28 ต.ค.52 นี้ ณ ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Station) เป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบจรวดในโครงการคอนสเตลเลชัน (Constellation Program) ของนาซาที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาระบบและยานแบบใหม่ เพื่อใช้ในการสำรวจอวกาศยุคถัดไป

ทั้งนี้ยานอวกาศที่พัฒนาขึ้นใหม่นั้นจะใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสถานีอวกาศนานาชาติ ทดแทนกระสวยอวกาศที่มีกำหนดถูกปลดระวางในปี 2010 ที่จะถึงนี้ ตลอดจนใช้ในปฏิบัติการกลับไปสำรวจดวงจันทร์ และการมุ่งหน้าสำรวจดาวอังคาร รวมถึงการสำรวจอวกาศอื่นๆ

ยานอวกาศในโครงการคอนสเตลเลชันนั้น จะใช้ทั้งแนวคิดและบางส่วนของยานในโครงการอะพอลโล (Apollo) และโครงการกระสวยอวกาศ เพื่อสร้างยานอวกาศที่สามารถใช้งานได้และมีความคุ้มค่าทางการเงิน

สำหรับการทดสอบเอเรส วัน-เอกซ์ เป็นเพียงก้าวแรกของโครงการพัฒนายานและระบบใหม่เพื่อการสำรวจอวกาศของนาซา และหลังจากนี้ในปี 2014 ตามกำหนดจะมีการทดสอบเอเรส วัน-วาย (Ares I-Y) ซึ่งจะเป็นการยิงจรวดครั้งแรกที่ทดสอบระบบใหม่หลายๆ ระบบพร้อมกัน ซึ่งมีทั้งจรวด 5 ท่อนที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ระบบควบคุมเที่ยวบิน ระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทางด้านการบิน

จากนั้นจะมีการยิงจรวดทดสอบเที่ยวที่ 3 ซึ่งจะมีการทดสอบยาน "โอไรออน วัน" (Orion 1) อันจะเป็นการทดสอบจรวดเอเรส วัน (Ares I) ที่สมบูรณ์ด้วย โดยจะส่งยานโอไรออนที่ยังไม่มีคนขับขึ้นสู่วงโคจร

ส่วนปฏิบัติส่งมนุษย์โดยสารไปกับยานโอไรออนเที่ยวแรก จะเริ่มขึ้นในปี 2020 ซึ่งยานจะนำลูกเรือมุ่งสู่สถานีอวกาศนานาชาติ นอกจากนี้ยังมีการทดสอบเครื่องยนต์ส่วนบนด้วย

เอเรสเป็นชื่อเทพเจ้าแห่งสงครามของกรีก ซึ่งหมายถึงดาวอังคาร โดยจรวดเอเรสประกอบด้วย จรวดรุ่นเอเรส วัน ที่ส่วนบนเชื่อมต่อกับยานโอไรออน และเอเรส ไฟว์ฟ (Ares V) ซึ่งจะนำยานอวกาศของนาซาลงจอดบนดวงจันทร์ โดยบรรทุกสัมภาระสู่วงโคจรระดับต่ำของโลกได้ 206 ตัน และบรรทุกสัมภาระสู่ดวงจันทร์ได้ 78 ตัน

ยานโอไรออนที่มีหน้าที่ขนส่งลูกเรือนั้น จะนำนักบินอวกาศมุ่งสู่สถานีอวกาศนานาชาติและอวกาศส่วนอื่น โดยโอไรออนนี้มีความสามารถที่จะนัดพบยานลงจอดดวงจันทร์ "อัลแตร์" (Altair) ในโครงการคอนสเตลาชันเดียวกันนี้ และจรวดเอเรส ไฟว์ฟ ซึ่งจะแยกกับยานที่ระดับวงโคจรต่ำเพื่อนำส่งลูกเรือสู่ดวงจันทร์

สำหรับรูปร่างของยานโอไรออน ถูกออกแบบให้เหมือนกับแคปซูลในอดีต แต่มีข้อได้เปรียบที่ใช้เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ ระบบยังชีพ การขับเคลื่อน และระบบป้องกันความร้อนของศตวรรษที่ 21

ส่วนยานลงจอดดวงจันทร์อัลแตร์ สามารถจุนักบินอวกาศลงสู่ดวงจันทร์ได้ทั้งหมด 4 คน พร้อมทั้งระบบยังชีพ ซึ่งนักบินอวกาศสามารถปฎิบัติภารกิจสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ได้นาน 1 สัปดาห์

จากนั้นอัลแตร์จะนำนักบินอวกาศกลับไปยังยานโอไรออน ซึ่งจะนำลูกเรือทั้งหมดกลับสู่โลกต่อไป โดยอัลแตร์จะถูกขับเคลื่อนจากวงโคจรระดับต่ำของโลกสู่ดวงจันทร์ด้วยจรวดเอเรส ไฟว์ และจะกลับมาเชื่อมต่อกับโอไรออนอีกครั้งที่ตำแหน่งวงโคจรเดียวกันนี้
ภาพแสดงองค์ประกอบของจรวดเอเรส 1 ที่แยกเป็นส่วนต่างๆ ซึ่งเพิ่งมีการยิงจรวดทดสอบจรวดท่อนแรก ที่เรียกว่าการทดสอบจรวด เอเรส วัน-เอกซ์ เพื่อทดสอบจรวดท่อนแรก (ท่อนล่างของภาพ) ส่วนยานโอไรออนจะประกอบอยู่ในด้านบน ตรงท่อนที่ 2 ซึ่งจะเป็นส่วนขนส่งลูกเรือและนักบินอวกาศ
ภาพส่วนประกอบของจรวดเอเรส ไฟว์ฟ ซึ่งจรวดที่จะปลดออกในระยะแรก คือจรวดท่อนสีขาว 2 ท่อนล่าง จากนั้นจรวดท่อนสีส้มที่อยู่ตรงปลายจะปลดตัวออก โดยมียานลงจอดดวงจันทร์อัลแตร์อยู่ตรงตำแหน่งบนลำดับที่ 2 ซึ่งติดกับจรวดสำหรับแยกตัวจากวงโคจรของโลกในจรวดท่อนที่ 3 (บน)

กำลังโหลดความคิดเห็น