xs
xsm
sm
md
lg

ปรับโฉม "ครูตู้" แค่ปลายนิ้วคลิก คุณครูก็สอนได้-เด็กเรียนเข้าใจขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สื่อการสอน eDLTV ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครูได้หรือช่วยให้ครูที่สอนไม่ตรงเอกสอนนักเรียนได้ง่ายขึ้น อย่างเช่น คุณครูเชาวินิจ คำมาก ครูประจำวิชาฟิสิกส์ โรงเรียนปากพลีวิทยาคาร จ.นครนายก ที่ต้องมารับหน้าที่สอนวิชาคณิตศาสตร์ ม.ต้น เป็นการชั่วคราว เนื่องจากคุณครูคณิตศาสตร์ลาป่วย
ได้วุฒิครูเอกภาษาอังกฤษ แต่ต้องมาเป็นครูวิชาคณิต ส่วนครูสอนวิทย์คิดไม่ตก เพราะเรียนจบเอกประถมวัย ปัญหาขาดแคลนครูหรือครูสอนวิชาไม่ตรงกับสาขาที่เรียนจบมาแบบนี้ พบไม่น้อยในโรงเรียนขยายโอกาศเกือบทุกแห่งทั่วประเทศ ทำให้คุณครูเหล่านี้ต้องทำการบ้านหนักยิ่งกว่าลูกศิษย์เสียอีก จึงเป็นที่มาของ "ครูตู้" และ "eDLTV" ครูตู้โฉมใหม่ที่ช่วยลดช่องว่างทางการศึกษาของเด็กไทยให้แคบลงกว่าเดิม

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้ดำเนินกิจกรรมภายใต้ "โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" ร่วมกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม จัดทำสื่ออีดีแอลทีวี (Electronics Distance Learning Television: eDLTV) โดยนำวีดิทัศน์และเนื้อหาการสอน จากโรงเรียนวังไกลกังวลมาบรรจุไว้ในระบบอีเลิร์นนิง (e-learning) หรือ อีดีแอลสแควร์ (eDL-Square) เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา และลดปัญหาของ "ครูตู้" หรือ สถานีโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ รองประธานกรรมการโครงการฯ ให้ข้อมูลว่า ปัญหาที่พบบ่อยจากการเรียนกับครูตู้ คือทางโรงเรียนไม่สามารจัดตารางเรียนให้ตรงกับตารางสอนของโรงเรียนวังไกลกังวลได้ และบ่อยครั้งที่นักเรียนตามบทเรียนของครูตู้ไม่ทัน และไม่สามารถหยุดการสอนของครูตู้หรือดูย้อนกลับได้ เพราะว่าเป็นการถ่ายทอดสด

ทว่าเมื่อนำสื่อการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม ที่ถ่ายทอดสดจากโรงเรียนวังไกลกังวลมาจัดเก็บลงบนอีเลิร์นนิง เพื่อใช้งานในโรงเรียนที่ขาดแคลนครู โดยสามารถเรียกใช้งานได้อย่างสะดวก ทั้งแบบออนไลน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (http://edltv.thai.net) หรือแบบออฟไลน์จากเครื่องเซิร์ฟเวอร์ (Server) หรือเอ็กซ์เทอร์นัล ฮาร์ดดิสก์ (external Harddisk) ทำให้สามารถเลือกเรียนช่วงเวลาไหนก็ได้ โดยไม่ต้องตรงตามเวลาการสอนของโรงเรียนวังไกลกังวล และครูก็สามารถศึกษาเนื้อหามาก่อนได้ แทนที่จะต้องมาดูไปพร้อมกับนักเรียน นอกจากนั้นนักเรียนยังสามารถศึกษาเพิ่มเติมเองได้ด้วยตัวเองจากคอมพิวเตอร์โดยตรง

โรงเรียนวัดโพธิ์แทน อ.องครักษ์ จ.นครนายก เป็นโรงเรียนประถมศึกษาขยายโอกาศแห่งหนึ่งที่นำเอาสื่อ eDLTV มาใช้ในโรงเรือนเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครูที่จบตรงกับสาขาที่สอน ซึ่งนายโสภณ อั๋นบางไทร ครูวิชาคณิตศาสตร์คนหนึ่งของโรงเรียนวัดโพธิ์แทน เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าเขาเรียนจบครูวิชาเอกภาษาอังกฤษด้วยทุนคุรุทายาท แต่ต้องมาสอนวิชาคณิตศาสตร์ตั้งแต่เริ่มแรกเป็นครูที่โรงเรียนในบ้านเกิด เพราะช่วงนั้นทางโรงเรียนกำลังขาดครูสอนคณิตศาสตร์พอดี

"สอนคณิตศาสตร์มานาน 11 ปีแล้วตั้งแต่เริ่มต้นเป็นครู ทั้งที่ตอนเรียนแทบไม่ได้ข้องเกี่ยวกับคณิตศาสตร์เลยสักนิด ช่วงแรกๆ ต้องนอนดึกถึงตีสามตีสี่ เพราะต้องเตรียมการสอน เพราะเราไม่ได้เรียนจบทางด้านนี้โดยตรง ต้องทำการบ้านหนัก ถ้านักเรียนมีข้อสงสัยในชั่วโมงเรียนนอกเหนือจากที่เตรียมการสอนมา ก็ต้องขอติดค้างไว้ก่อนแล้วไปค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อมาตอบนักเรียนในชั่วโมงถัดไป ขณะที่การรับสัญญาณถ่ายทอดสดจากโรงเรียนวังไกลกังวลก็ช่วยได้มากขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาเนื่องจากครูตู้สอนเร็ว เมื่อเด็กตามไม่ทันก็ไม่สามารถหยุดได้" ครูโสภณ เล่าถึงปัญหาก่อนหน้านี้

เมื่อนำ eDLTV มาใช้ในโรงเรียน ครูโสภณบอกว่าช่วยสร้างความมั่นใจให้เขาได้มากขึ้นเยอะ ครูสามารถศึกษาบทเรียนจากครูตู้ได้ก่อนล่วงหน้า และจะเลือกสอนเนื้อหาบทไหนก่อนก็ได้ ระหว่างการสอนก็หยุดได้และเรียกดูย้อนกลับได้เมื่อเด็กตามไม่ทัน นักเรียนเองก็ชอบ สนุกกับการเรียนมากขึ้น เหมือนมีครูสองคนและมีเพื่อนในห้องอีกหลายคน

ครูสุชญา บำรุงกิจ ก็ประสบปัญหาคล้ายกับครูโสภณ เพราะเป็นครูประจำวิชาวิทยาศาสตร์ มานาน 15 ปี ตั้งแต่เริ่มเป็นครู ทั้งที่เรียนจบวิชาเอกประถมวัย ช่วงแรกๆ จึงหนักใจและเหนื่อยมาก เพราะไม่เคยเรียนวิทยาศาสตร์มาก่อน แต่ก็พยายามหาความรู้เพื่อนำมาสอนนักเรียน ที่ไหนมีการอบรมครูวิทย์ก็ไปเข้าไปเข้าร่วมกับเขา เรียนรู้เพิ่มเพิ่มและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

"วิทยาศาสตร์เป็นวิชาปฏิบัติ เมื่อมีครูตู้มาช่วยสอน ทำให้เป็นกันเองกับเด็กมากขึ้น หรือใช้สอนเสริมในภาคทฤษฎี ก็ช่วยสร้างความมั่นใจได้มากขึ้น เราสามารถค้นคว้ามาก่อนล่วงหน้าได้ และเกิดมุมมองใหม่ในการเรียนการสอนเพิ่มเติมจากครูตู้ เด็กได้เห็นบรรยากาศการเรียนของโรงเรียนวังไกลกังวลที่แตกต่างออกไป ทำให้ได้เปิดโลกทัศน์กว้างขึ้น" ครูวิทยาศาสตร์เล่าความเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนหลังจากมี eDLTV เป็นตัวช่วย

แล้วผู้เรียนคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง ด.ช.ศุภพงษ์ แสงแก้ว ชั้น ม.2 เป็นตัวแทนนักเรียนโรงเรียนวัดโพธิ์แทน เล่าให้ฟังในขณะเรียนวิทยาศาสตร์กับครูตู้จาก eDLTV ว่ารู้สึกเหมือนได้ดูทีวีไปด้วยเรียนไปด้วย ได้ทั้งความรู้และสนุกสนาน ได้ยินเสียงเพื่อนๆ จากโรงเรียนวังไกลกังวลด้วย เหมือนมีเพื่อนในห้องเรียนเพิ่มขึ้น และมีครู 2 คน ช่วงไหนตามไม่ทันก็สามารถดูย้อนกลับได้ ทำให้เข้าใจบทเรียนมากขึ้น

ด้านโรงเรียนปากพลีวิทยาคาร อ.ปากพลี จ.นครนายก เป็นโรงเรียนขนาดกลางที่ค่อนข้างมีความพร้อมและครูส่วนใหญ่สอนตรงกับวิชาเอกที่จบมา และเป็น 1 ใน 76 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ โดยได้รับเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายหรือเซิร์ฟเวอร์พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 1 เครื่อง และนำสื่อ eDLTV มาช่วยเสริมในการสอนหรือช่วยสอนแทนในบางวิชาหรือบางโอกาสที่ขาดแคลนครู และส่งเสริมให้นักเรียนได้ค้นคว้าเพิ่มเติมจากคอมพิวเตอร์นอกเวลาเรียนได้

น.ส.ลลิตวดี นวลจันทร์ ชั้น ม.5 ที่ได้เรียนวิชาเคมีจาก eDLTV บอกว่าได้ความรู้เพิ่มเติมมากขึ้นจากที่ครูสอนในห้องเรียน มีคำอธิบายอย่างละเอียด ส่วนไหนไม่เข้าใจก็ถามเพิ่มเติมได้จากคุณครู และยังมีแบบฝึกหัดเพิ่มเติมจำนวนมากให้ทดลองทำ ใช้ได้ทั้งในชั่วโมงเรียนหรือค้นคว้าทบทวนในยามว่าง ช่วยให้เราเตรียมตัวสอบได้ดียิ่งขึ้นโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปเรียนเพิ่มเติมจากโรงเรียนกวดวิชา

ขณะที่ครูเชาวินิจ คำมาก ครูประจำวิชาฟิสิกส์ของโรงเรียนปากพลีวิทยาคาร ที่ต้องรับหน้าที่สอนวิชาคณิตศาสตร์เพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งวิชา แทนคุณครูคณิตศาสตร์คนหนึ่งที่ลาป่วย ครูเชาวนิจบอกว่าสื่อ eDLTV ช่วยได้มาก เพราะมีเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์ตรงตามหนังสือเรียนที่ใช้สอน ทำให้ครูไม่ต้องเตรียมการสอนมาก แม้สอนประจำวิชาหนึ่ง ก็สามารถข้ามไปสอนอีกวิชาหนึ่งได้ไม่ลำบาก

อย่างไรก็ตาม eDLTV ยังมีปัญหาทางด้านเทคนิคอยู่บ้าง เช่น แสดงภาษาที่อ่านไม่รู้เรื่อง หรือเนื้อหาข้างในไม่ตรงกับหัวข้อที่บอกไว้ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องก็พยายามแก้ไขปรับปรุงระบบให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เนคเทคได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 35 แห่งทั่วประเทศ เพื่อแจกจ่ายระบบ eDL-Square พร้อมสื่อ eDLTV ไปยังโรงเรียนและผู้สนใจทั่วไปเพื่อนำไปใช้งานในรูปแบบออฟไลน์

โรงเรียนที่สนใจสามารถติดต่อขอรับสำเนาระบบพร้อมสื่อได้จากเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏที่อยู่ใกล้ได้ หรือใช้งานแบบออนไลน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ทันทีที่เว็บไซต์ http://edltv.thai.net เพียงเท่านี้ก็เข้าได้ถึงบทเรียนการสอนทางไกลที่อยู่ใกล้เพียงปลายนิ้ว.
ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์
ครูโสภณ อั๋นบางไทร ครูวิชาคณิตศาสตร์ที่เรียนจบเอกวิชาภาษาอังกฤษ
ครูสุชญา บำรุงกิจ เรียนจบวิชาเอกประถมวัย แต่ต้องมาสอนวิทยาศาสตร์เพราะโรงเรียนต้นสังกัดขาดครูจบวิทย์
ครูตู้ ช่วยครูวิทย์สอนนักเรียนทำแล็บวิเคราะห์สารอาหาร
เด็กๆ ชั้น ม.2 โรงเรียนวัดโพธิ์แทน สนุกกับการเรียนวิทยาศาสตร์ภาคปฏิบัติที่มีครูตู้เป็นผู้สอนร่วมกับครูตัวจริง
ด.ช.ศุภพงษ์ แสงแก้ว
น.ส.ลลิตวดี นวลจันทร์ ทบทวนบทเรียนวิเคมีเพิ่มเติมได้จากครูตู้ไฮเทค ไม่ต้องพึ่งพาโรงเรียนกวดวิชาราคาแพง
กำลังโหลดความคิดเห็น