xs
xsm
sm
md
lg

รายละเอียดเอกสารแฉคอมพ์ฉาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การชี้แจงต่อสื่อมวลชน กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในการประกวดราคาโครงการจัดทำระบบให้บริการประชาชน ด้านการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนแบบใหม่
สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการประกวดราคา
1 . มีการร้องเรียนจากบริษัทผู้ซื้อแบบประกวดราคาว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการประกวดราคาหลายประการ เช่น
- ระยะเวลาที่คณะกรรมการประกวดราคากำหนดให้ผู้ซื้อแบบดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เช่น การยื่นเอกสารการประกวดราคา การทดสอบทางเทคนิค เป็นระยะเวลาที่กระชั้นชิดเกินไป เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่มีรายละเอียดที่ต้องเตรียมการเป็นจำนวนมาก
- คณะกรรมการประกวคราคาได้มีการเพิ่มเติมรายละเอียดทางเทคนิค “มีระบบอิเล็กทรอนิคควบคุมกล่องใส่บัตรที่เครื่องผลิตบัตรเพื่อความปลอดภัยเป็นประโยชน์ของทางราชการ” เป็นการเปลี่ยนแปลง / เพิ่มเติมคุณลักษณะทางเทคนิค ซึ่งเป็นสาระสำคัญในขั้นตอนการร่าง TOR ทำให้เครื่องของบางบริษัทได้รับประโยชน์ โดยที่เครื่องของอีกหลายบริษัทอาจไม่อยู่ในข่ายคุณลักษณะนี้
2 . มีการแทรกแทรงกระบวนการประกวดราคาจากฝ่ายการเมือง (.......) และมอบหมายให้ …... เป็นผู้ควบคุมกระบวนการประกวดราคาตามโครงการฯ โดยมีรายละเอียดดังนี้
- 17 ธ.ค.52 แต่งตั้งคณะกรรมการประกวดราคา จำนวน 7 คน โดยมีนายจักรี ชื่นอุระ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ ระดับเชี่ยวชาญ สำนักบริหารการทะเบียน เป็นประธานกรรมการ และได้แต่งตั้งคณะกรรมการทดสอบด้านเทคนิค จำนวน 8 ราย โดยมี นายชวลิต ควรพันธุ์ เป็นประธานกรรมการ และข้าราชการฝ่ายเทคนิคคอมพิวเตอร์ (นักวิชาการคอมพิวเตอร์) ของสำนักบริหารการทะเบียนเป็นกรรมการ
คณะกรรมการประกวดราคา ที่มีนายจักรี ชื่นอุระ เป็นประธานกรรมการ ได้ทำบันทึกลงวันที่ 21 ธ.ค. แจ้งกำหนดขอบเขตการดำเนินงานโครงการฯ ต่ออธิบดีกรมการปกครองว่า จะต้องใช้เวลานับตั้งแต่วันประชุมชี้แจง ตอบข้อซักถามผู้จะยื่นเสนอราคา จนถึงการสรุปผลการประกวดราคาตั้งแต่ 23 ธ.ค.52 – 9 มี.ค.53 รวมระยะเวลาดำเนินการ 76 วัน ทั้งนี้ได้กำหนดช่วงเวลาในการทดสอบระบบ สำหรับผู้ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้น เป็นเวลา 42 วัน เพื่อให้ผู้ยื่นเสนอราคามีเวลาเตรียมตัวในการทดสอบระบบ (Benchmark) โดยจะมอบข้อมูลสำหรับใช้ในการทดสอบในวันประกาศผลผู้ผ่านข้อเสนอทางเทคนิค ตามที่ระบุไว้ในขอบเขตงาน (TOR) ในภาคผนวกที่ 13 ข้อ 6.2
ฝ่ายการเมืองในกระทรวงมหาดไทย ไม่เห็นชอบในแผนดังกล่าว เพราะต้องการให้แล้วเสร็จ และมีการลงนามในสัญญาภายใน ก.พ.53 ซึ่งคณะกรรมการประกวดราคาไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามความต้องการของฝ่ายการเมือง เนื่องจากต้องนำความเห็นของคณะกรรมการจัดระบบคอมพิวเตอร์ภาครัฐ ที่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน
- 30 ธ.ค.52 แต่งตั้งคณะกรรมการประกวดราคาชุดที่ 2 จำนวน 7 คน โดยมี โดยมี นายอวยชัย อินทร์นาค ผู้อำนวยสำนักบริหารการทะเบียน เป็นประธานกรรมการ ตามข้อเสนอแนะของฝ่ายการเมือง
- 7 ม.ค.53 คณะกรรมการประกวดราคาชุดที่ 2 ได้เชิญผู้ซื้อแบบจำนวน 7 ราย เข้ารับฟังคำชี้แจง และตอบข้อซักถามผู้ที่จะยื่นเสนอแบบ ณ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง โดยในระหว่างการชี้แจง นายปรีดา บุญประคอง กรรมการประกวดราคา ได้แจ้งในที่ประชุมว่า คณะกรรมการประกวดราคามีความต้องการเพิ่มคุณลักษณะเฉพาะของเครื่องพิมพ์บัตรประจำตัวประชาชน ดังนี้ “มีระบบอิเล็กทรอนิคควบคุมกล่องใส่บัตรที่เครื่องผลิตบัตรเพื่อความปลอดภัยเป็นประโยชน์ของทางราชการ”
ซึ่งมิได้เป็นคุณสมบัติของเครื่องพิมพ์บัตรประจำตัวประชาชน ที่ระบุไว้ในขอบเขตงานตามภาคผนวกที่ 4 ข้อ 2.8 ของขอบเขตงาน (TOR) และในที่ประชุมผู้เข้ารับฟังคำชี้แจงหลายราย รวมทั้งบริษัท คอนโทรลดาต้า (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ดาต้าโปรดักส์ ท็อปปังฟอร์ม จำกัดได้แสดงความไม่เห็นด้วยในการเพิ่มคุณสมบัติเฉพาะของเครื่องพิมพ์บัตรตามที่กรรมการแจ้ง
สาเหตุที่นายปรีดา บุญประคอง กรรมการประกวดราคา แจ้งในที่ประชุมเนื่องจากได้รับคำสั่งจาก…...ผู้ควบคุมโครงการฯ ให้เพิ่มเติมคุณลักษณะเฉพาะของเครื่องพิมพ์บัตรประจำตัวประชาชน เพราะฝ่ายการเมืองต้องการผลักดันให้มีการใช้เครื่องพิมพ์บัตรประจำตัวประชาชน ของผู้เข้าประกวดราคารายหนึ่งที่มีคุณลักษณะตรงตามข้อกำหนดที่เพิ่มเติมขึ้นมา ซึ่งเครื่องพิมพ์บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นเสนอราคารายอื่นไม่มีคุณลักษณะเฉพาะตรงตามข้อกำหนดดังกล่าว จึงเป็นสาเหตุที่มีการร้องเรียนไปยัง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย
- 18 ม.ค. 53 ทางราชการได้ถูกฝ่ายการเมืองร้องขอให้โยกย้ายข้าราชการฝ่ายเทคนิคคอมพิวเตอร์ (นักวิชาการคอมพิวเตอร์) จำนวน 14 ราย ไปช่วยราชการในจังหวัดต่างๆ และ ศอ.บต. โดยข้าราชการที่ถูกไปช่วยราชการเป็นทั้งคณะกรรมการกำหนดขอบเขตงาน จำนวน 3 ราย รวมทั้งประธานกรรมการกำหนดขอบเขตงาน และคณะทำงานทดสอบด้านเทคนิค จำนวน 5 ราย รวมทั้งประธานกรรมการทดสอบด้านเทคนิค
- 20 ม.ค.53 ได้มีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานทดสอบด้านเทคนิคชุดใหม่ จำนวน 6 ราย โดยมีนายประวีณ แจ่มศักดิ์ เจ้าพนักงานปกครอง ชำนาญการพิเศษ เป็นประธานกรรมการ ตามข้อเสนอของ …...ผู้ควบคุมโครงการฯ
- 28 ม.ค.53 ประธานกรรมการประกวดราคา มีหนังสือแจ้งผู้เสนอราคาที่ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้น มาจับฉลากเพื่อทำการทดสอบระบบ (Benchmark)ในวันที่ 2 ก.พ.53 และกำหนดทำการทดสอบระบบ (Benchmark) ในวันที่3-4 ก.พ.53
ซึ่งการกำหนดวันจับฉลากในวันที่ 2 ก.พ.53 และวันทดสอบระบบในวันที่ 3-4 ก.พ.53 ซึ่งมีระยะเวลาเตรียมการหลังจากได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการทดสอบ ที่กรมการปกครอง จะมอบให้เพียง 1 วันเท่านั้น แตกต่างจากการกำหนดขอบเขตงานของคณะกรรมการประกวดราคาชุดที่มี นายจักรี ชื่นอุระ เป็นประธานกรรมการ ซึ่งกรรมการชุดดังกล่าว ได้กำหนดระยะเวลาเตรียมการหลังจากได้ข้อมูลที่ใช้ในการทดสอบเป็นเวลา 42 วัน โดยในข้อกำหนดขอบเขตงาน (TOR) ในภาคผนวก 13 ข้อ 6.2
- 1 ก.พ. 53 ได้มีคำสั่งย้าย นายอวยชัย อินทร์นาค ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน ไปดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดบุรีรัมย์ และแต่งตั้ง นายพิภาพ ดำทองสุข ปลัดจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน พร้อมทั้งแต่งตั้งนายพิภพ ดำทองสุข ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียนคนใหม่ เป็นประธานกรรมการประกวดราคา ชุดที่ 3 ตามข้อเสนอของ ……ผู้ควบคุมโครงการฯ
- 2 ก.พ.53 คณะกรรมการประกวดราคาชุดที่ 3 ได้ประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติด้านเทคนิค จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัทคอนโทรลดาต้า (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทไทยอีควิพเม็นต์ รีเสิร์ช จำกัด และได้กำหนดวันทดสอบระบบคอมพิวเตอร์ในวันที่ 3และ4 ก.พ. 53 พร้อมทั้งได้ส่งมอบ Hard Disk สำหรับบรรจุข้อมูลที่ใช้ในการทดสอบของทั้ง 2 บริษัทที่ได้ให้ไว้ในวันชี้แจงและตอบข้อซักถามผู้ที่จะยื่นเสนอแบบ (วันที่ 7 ม.ค. 53 )
- 2 ก.พ.53 บริษัท คอนโทรล ด้าต้า (ประเทศไทย) จำกัดได้มีหนังสือแจ้งประธานกรรมการประกวดราคา แจ้งว่า Harddisk ที่ได้รับมอบคืน จากรรมการประกวดราคาในวันประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติด้านเทคนิค (2 ก.พ.53 ) ไม่มีข้อมูลที่ใช้ในการทดสอบด้านเทคนิคบรรจุอยู่ จึงขอส่ง Harddisk กลับมาเพื่อบรรจุข้อมูลให้ใหม่ เพื่อให้ทันเวลาการทดสอบ
- 2 ก.พ.53 นายประวีณ แจ่มศักดิ์ ประธานคณะทำงานทดสอบด้านเทคนิค ได้มีหนังสือแจ้งบริษัทผู้ผ่านคุณสมบัติด้านเทคนิคทั้ง 2 ราย ว่าได้รับแจ้งจากนายวิเชียร ชิดชนกนารถ ผู้อำนวยการส่วนบริหารและพัฒนาเทคโนโลยีการทะเบียนในฐานะประธานกรรมการกำหนดขอบเขตงาน (TOR) ว่าระบบคอมพิวเตอร์ COS จำลองยังจัดทำไม่แล้วเสร็จจึงไม่สามารถให้ข้อมูลในขณะนี้ได้ และขอให้บริษัทผู้ยื่นข้อเสนอนำข้อมูลตัวอย่างสำหรับใช้ทดลองโปรแกรมในแผ่น CD-ROM ที่ได้รับในวันฟังคำชี้แจงฯ พร้อมทั้งขยายจำนวนข้อมูลด้วยเทคนิคคอมพิวเตอร์และจัดเครื่องคอมพิวเตอร์ SERVER เพื่อใช้ประกอบทำการทดสอบแทนเครื่อง COS จำลองที่คณะทำงานทดสอบด้านเทคนิคไม่ได้รับมา
- 3 ก.พ.53 คณะทำงานทดสอบด้านเทคนิค ดำเนินการทดสอบด้านเทคนิคของระบบคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ประกอบ (Benchmark) ระบบคอมพิวเตอร์ ของบริษัท ไทยอีควิพเม็นต์ รีเสิร์ช จำกัด ผลปรากฏว่า ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ (เกิน 80 คะแนนของ 200 คะแนน) โดยได้คะแนนการทดสอบ 180 คะแนน / ผ่านการทดสอบ
- 4 ก.พ.53 คณะทำงานทดสอบด้านเทคนิค ดำเนินการทดสอบด้านเทคนิคของระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประกอบระบบคอมพิวเตอร์ ของ บริษัท คอนโทรล ดาต้า (ประเทศไทย) จำกัด ผลปรากฏว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ (เกิน 80 คะแนนของ 200 คะแนน) โดยได้คะแนนการทดสอบ 190 คะแนน / ผ่านการทดสอบ
- 6 ก.พ.53 คณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตงาน (TOR) ที่มี นายวิเชียร ชิดชนกนารถ เป็นประธานกรรมการ พร้อมด้วยกรรมการทั้ง 4 คน ได้ทำบันทึกถึงอธิบดีกรมการปกครอง โต้แย้งผลการทดสอบทางด้านเทคนิค (Benchmark) ของผู้ผ่านการทดสอบทั้ง 2 ราย ซึ่งทำการทดสอบในวันที่ 3 และ4 ก.พ.53 ไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดในขอบเขตงาน และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า บริษัทฯ ที่ผ่านการทดสอบสามารถดำเนินงานตามโครงการฯได้ และหากมีการลงนามในสัญญากับบริษัทรายได้รายหนึ่ง อาจจะส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการให้บริการประชาชนด้านการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน ณ สำนักทะเบียนอำเภอ/ท้องถิ่นทั่วประเทศรวมถึงกระทบกับหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์กับกรมการปกครอง
คณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตงาน โดยให้เหตุผลว่าระยะเวลาในการทดสอบหลังจากที่ได้ข้อมูลในวันประกาศผลผู้ผ่านคุณสมบัติด้านเทคนิคเพียง 1 วันไม่สามารถดำเนินการได้ในทางปฏิบัติ เพราะมีขั้นตอนการเตรียมการเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 7 วันและการที่คณะทำงานทดสอบด้านเทคนิคเปลี่ยนแปลงกระบวนการทดสอบด้านเทคนิค (Benchmark) โดยพลกาล เป็นการกระทำเกินอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานทดสอบด้านเทคนิคและผลที่ได้รับจากการทดสอบไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าระบบคอมพิวเตอร์และความรู้ความสามารถของบริษัทผู้ผ่านการทดสอบทั้ง 2 ราย เหมาะสมที่จะเป็นคู่สัญญากับกรมการปกครอง ในการดำเนินโครงการฯ
ทั้งนี้ประธานคณะกรรมการร่างขอบเขตงาน นายวิเชียร ชิดชนกนารถ ยืนยันว่าไม่เคยได้รับการประสานงานจากประธานคณะทำงานทดสอบด้านเทคนิค แต่อย่างใด และการที่ประธานคณะทำงานทดสอบด้านเทคนิคกล่าวอ้างว่าได้รับแจ้งจาก นายวิเชียร ชิดชนกนารถ ว่ายังจัดทำเครื่อง COS จำลอง ไม่แล้วเสร็จจึงไม่สามารถให้ข้อมูลได้ในขณะนี้ นายวิเชียร ชิดชนกนารถ ตั้งข้อสังเกตุว่าอาจเป็นการกล่าวอ้างเพื่อหลีกเลี่ยงการทดสอบ (Benchmark) ตามข้อกำหนดของขอบเขตงาน (TOR)
-9 ก.พ.53 เวลา 10.00 น. – 11.45 น. ได้มีการเสนอราคาด้วยระบบอิเลคทรอนิกส์ (E-Auction) ณ บริษัท สวนกุหลาบเซอรารี่ซีล จำกัด ผู้ให้บริการตลาดกลางอิเลคทรอนิกส์ ผลปรากฏว่า บริษัท ไทยอีควิพเม็นต์ รีเสิร์ช จำกัด เสนอราคา 3,480,000,000 บาท และบริษัท คอนโทรล ดาต้า (ประเทศไทย) จำกัด เสนอราคา 3,476,000,000 บาท
- 12 ก.พ.53 คณะกรรมการประกวดราคาได้เสนอผลการประมูลเช่าระบบคอมพิวเตอรฯ ดังกล่าว โดยมีความเห็น ควรเช่าคอมพิวเตอร์ดังกล่าว จาก บริษัท คอนโทรล ดาต้า (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเงิน 3,475,000,000 บาท ซึ่ง รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการปกครอง เห็นชอบและลงนามในหนังสือถึง ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อเรียน รมว.มหาดไทย พิจารณาอนุมัติ
3. นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาให้กระทรวงมหาดไทย ชี้แจงข้อเท็จในเรื่องดังกล่าว ตามหนังสือที่ นร 0405 (ลน)/ 2069 ลงวันที่ 15 ก.พ.53

ทั้งนี้ ผลที่อาจเกิดขึ้นหากไม่ดำเนินการทดสอบทางเทคนิค (Benchmark) ตามที่กำหนดไว้ใน TOR หากกรมการปกครองลงนามในสัญญากับผู้ยื่นข้อเสนอรายใดโดยผู้ยื่นข้อเสนอรายนั้นไม่ผ่านการทดสอบที่ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ใน TOR อาจส่งผลกระทบกับการดำเนินการโครงการฯ ดังนี้
โครงการจัดทำระบบการให้บริการประชาชนด้านการทะเบียนแบบใหม่
1 . ไม่สามารถมั่นใจได้ว่า บริษัทผู้ยื่นข้อเสนอสามารถจัดสร้างฐานข้อมูทะเบียนกลางทดแทนระบบฐานข้อมูลทะเบียนกลางที่กรมการปกครองใช้งานอยู่เดิม ตามโครงสร้างฐานข้อมูลและรายการข้อมูลที่กรมการปกครองกำหนด
2 . ไม่สามารถมั่นใจได้ว่า ระบบเครื่องคอมพิวเตอร์ที่นำเสนอสามารถรองรับการให้บริการแก่ผู้ใช้งานระบบฐานข้อมูลทะเบียนกลางได้ไม่ต่ำกว่า 50,000 รายโดยมีอัตราการตอบสนองที่ 15,000 รายพร้อมกันในเวลาไม่เกิน 1 วินาที โดยไม่นับรวมเวลาในส่วนของระบบสื่อสารข้อมูล เพื่อให้มั่นใจว่าระบบที่นำเสนอสามารถตอบสนองต่อปริมาณการใช้งานฐานข้อมูลทะเบียนกลางที่เพิ่มขึ้นได้
3 . ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าระบบเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่นำเสนอสามารถรองรับการให้บริการ การประมวลผลและจัดพิมพ์บัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ จำนวน 1,077 แห่ง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4 . ไม่สามารถมั่นใจได้ว่า บริษัทผู้ยื่นข้อเสนอมีความสามารถในการออกแบบและพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ระบบการให้บริการทางด้านการทะเบียนทั้งระบบให้ตรงตามความต้องการ
5 . ไม่สามารถมั่นใจได้ว่า บริษัทผู้ยื่นข้อเสนอสามารถออกแบบและพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ โดยใช้สถาปัตยกรรมเชิงบริการ (Service Oriented Architecture : SOA) ได้ทันกำหนดเวลาการส่งมอบระบบให้แก่กรมการปกครอง โดยจะต้องดำเนินการออกแบบและพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ให้แล้วเสร็จในเวลาที่กำหนดการทดสอบ
6 . ไม่สามารถมั่นใจได้ว่า บริษัทผู้ยื่นข้อเสนอสามารถดำเนินการจัดการฐานข้อมูลระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านระบบได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ ทั้งระบบเดิมที่กรมการปกครองใช้งานอยู่และระบบงานใหม่ที่จะส่งมอบ ให้ทำงานคู่ขนานกัน (Parallel Run) และมีข้อมูลในฐานข้อมูลทะเบียนกลางของทั้ง 2 ระบบ ถูกต้องตรงกันตลอดเวลา (Synchronize) โดยไม่มีผลกระทบต่อการบริการประชาชน ณ สำนักทะเบียนและส่วนราชการอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลทะเบียนกลางที่จำนวนกว่า 90 หน่วยงาน

โครงการการจัดทำระบบบัตรประจำตัวประชาชนแบบใหม่
1 . ไม่สามารถมั่นใจได้ว่า บริษัทผู้ยื่นข้อเสนอสามารถ จัดสร้างข้อมูลลักษณะลายนิ้วมือจากภาพลายนิ้วมือได้
2 .ไม่สามารถมั่นใจได้ว่า บริษัทผู้ยื่นข้อเสนอสามารถสร้างระบบจัดเก็บข้อมูลลักษณะลายนิ้วมือในเครื่องให้บริการเปรียบเทียบลายพิมพ์นิ้วมือ (Fingerprint Matcher) ที่มีขีดความสามารถในการตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว
3 . ไม่สามารถมั่นใจได้ว่า บริษัทผู้ยื่นข้อเสนอมีความสามารถในการออกแบบวิเคราะห์และพัฒนาโปรแกรมให้ตรงตามความต้องการของระบบงานการให้บริการด้านบัตรประจำตัวประชาชน และสามารถทำงานร่วมกับระบบการให้บริการด้านการทะเบียนราษฎรในระบบเดิมได้เป็นอย่างดี โดยใช้สถาปัตยกรรมเชิงบริการ (Service Oriented Architecture : SOA) ได้ทันกำหนดเวลาการส่งมอบระบบให้แก่กรมการปกครอง
4 . ไม่สามารถมั่นใจได้ว่า บริษัทผู้ยื่นข้อเสนอได้นำเสนออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับปริมาณงานจำนวนมากได้
5 . ไม่สามารถมั่นใจได้ว่า บริษัทผู้ยื่นข้อเสนอจะมีระบบการควบคุมการเบิกจ่ายบัตรที่มีประสิทธิภาพสามารถควบคุมบัตรที่อยู่ในระบบได้ทุกใบ
6 . ไม่สามารถมั่นใจได้ว่า บริษัทผู้ยื่นข้อเสนอมีความสามารถในการพัฒนาระบบการเปรียบเทียบลักษณะลายนิ้วมือเพื่อการยืนยันตัวบุคคล ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
7 . ไม่สามารถมั่นใจได้ว่า บริษัทผู้ยื่นข้อเสนอมีระบบการตรวจสอบลักษณะลายนิ้วมือได้ พร้อมๆ กัน 1,000 จอภาพในแบบของ การตรวจสอบแบบ 1:1 ที่จะต้องได้ผลตอบสนองอย่างรวดเร็ว และถูกต้อง
8 . ไม่สามารถมั่นใจได้ว่า บริษัทผู้ยื่นข้อเสนอมีระบบการตรวจสอบลักษณะลายนิ้วมือได้ในแบบของ การตรวจสอบแบบ 1:M ทั้งจากภาพที่เป็นแบบ Scanner และ ข้อมูลลักษณะลายนิ้วมือแบบ Live Thump และมีความถูกต้อง รวดเร็ว สามารถตอบสนองได้ภายเวลาที่ต้องการได้
กำลังโหลดความคิดเห็น