xs
xsm
sm
md
lg

เลือกโน้ตบุ๊ก นอกจากสเปคแล้วต้องดูหน้าจอด้วย! : LCDSpec

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เชื่อว่าหลายคนคงจะเตรียมเสียเงินให้กับอุปกรณ์ไฮเทคราคาพิเศษ และตื่นตาตื่นใจกับสินค้าใหม่ๆในงาน Commart X-Gen 2009 เป็นแน่แท้ โดยเฉพาะสินค้าที่ขายดิบขายดีมากที่สุดในงานครั้งก่อนอย่างคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก วันนี้เรามีคำแนะนำที่ผู้ซึ่งกำลังจะซื้อโน้ตบุ๊กไม่ควรมองข้าม

คนที่ไม่ชำนาญเรื่องไอทีอาจจะตัดสินใจซื้อโน้ตบุ๊กที่สเปคเครื่อง เช่น "CPU แรงๆ แรมเยอะๆ การ์ดจอแรงๆ จอ 14 นิ้ว" หรือ "CPU กลางๆ แรมเยอะๆ การ์ดจอไม่ต้องมีก็ได้ จอ 12 นิ้วก็พอ เน้นพกพา" หรือบางคนขอ "เน็ตบุ๊กหน้าจอเล็กๆ แบตทนๆ น้ำหนักน้อยๆ ราคาประหยัด"

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้คือ ความต้องการหน้าจอที่ระบุว่าเพียงว่า 14 นิ้ว, 12 นิ้ว ฯลฯ นั้นหมดยุคไปแล้ว เพราะนอกจากขนาดและความละเอียดแล้ว คุณควรจะมองจุดแข่งขันที่ค่ายแอลซีดีห่ำหั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตายด้วย ซึ่งได้แก่ 1. ความคมชัด ทั้งแสดงรูปภาพ อักษร 2. การให้สีสันที่ตรงกับความเป็นจริง เป็นธรรมชาติ 3. มีการแสดงผลที่ไว ต่อภาพที่ต้องเคลื่อนไหวเร็วๆ เช่นเกมต่างๆ 4. มีมุมมองที่กว้าง มองมุมไหนก็ชัด

และถ้าเป็นโน้ตบุ๊ก คุณควรจะพิจารณาเพิ่มอีกสี่ข้อ คือ 5. ประหยัดพลังงาน 6. สู้ต่อแสงแดด เมื่อทำงานกลางแจ้ง 7. ถนอมสายตา เมื่อใช้เป็นเวลานาน 8. ไม่สร้างความร้อนขึ้นมา
รูปภาพจาก akihabaranews
สี่ข้อแรกอาจไม่ต้องอธิบายอะไรมาก มันเป็นเรื่องปกติของคนที่จะซื้อจอ ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือว่าเป็นจอภาพที่ติดมากับโน้ตบุ๊กก็ตาม เพราะถ้าแสดงรูปภาพหรืออักษรไม่ชัดจะเอามาทำอะไร สีสันถ้าเพี้ยนไป คนทำงานที่ต้องใช้สีที่ตรงจริงๆ พวกงานพิมพ์ งานภาพถ่าย คงลำบากแน่ อาจจะต้องหาเครื่องมา Calibrate กันให้ยุ่งยาก ส่วนความไว ที่จะระบุ๊ก่ากันเป็น millisecond นั้น รู้กันว่าถ้ายิ่งน้อย มันก็ยิ่งดี

เจ้าสองค่าแรกเราอาจจะพิสูจน์ได้ด้วยตา แต่ข้อที่สามนั้น ตอนนี้รู้สึกมีแค่เพียงยี่ห้อเดียวเองนะครับ ที่เขาระบุว่าจอเขาแสดงผลได้เร็ว กี่ ms ก็ว่ากันไป… แถมเป็นยี่ห้อที่ขยันโถมการ์ดจอแรงๆมาใส่โน้ตบุ๊กด้วยสิ ส่วนความกว้างของมุมมอง หรือ view angle ช่วยให้คุณมองจอแล้ว มองมุมไหน ก็ได้สีสัน แสงสี ที่ใกล้เคียงกับการมองตรงๆ อันนี้แล้วแต่คนชอบนะครับ ผู้ใช้โน้ตบุ๊กบางคนอาจจะต้องการความเป็นส่วนตัว เมื่อนำเครื่องออกไปใช้ในที่สาธารณะ

ขอสรุปว่าเทคโนโลยีใหม่ที่ควรมีในจอโน้ตบุ๊ก ได้แก่ เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน สู้ต่อแสงแดด ถนอมสายตา และไม่ร้อน เพราะเทคโนโลยีการประหยัดพลังงานในจอภาพจะทำให้จอภาพใช้พลังงานน้อยลง แบตเตอรรี่ก็จะหมดช้าลง โน้ตบุ๊กสมัยนี้ CPU, Ram, Harddisk ก็กินไฟมากพออยู่แล้ว ไม่ควรเพิ่มภาระตรงส่วนแสดงผลอีก
รูปภาพจาก labtopskin
โน้ตบุ๊กบางเครื่องตอนนี้มี Hybrid mode แล้ว สามารถเลือกการทำงานระหว่างการ์ดจอแยกกับการ์ดจอออนบอร์ดได้ ถ้าจะให้ผลักภาระมาที่จอแสดงผลย่อมไม่เป็นผลดี เมื่อเทียบกับหน้าจอที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น

ขณะเดียวกัน โน้ตบุ๊กเป็นคอมพิวเตอร์ที่พกพาไปทำงานที่ไหนก็ได้ แม้กระทั่งสถานที่กลางแจ้งหรือที่ที่มีแสงสะท้อน ถ้าเป็นจอโน้ตบุ๊กรุ่นเก่าอาจจะต้องเร่งแสงกันสุดฤทธิ์เพื่อให้มองเห็นรายละเอียด ซึ่งดีขึ้นบ้างไม่ดีขึ้นบ้าง หน้าจอที่มีเทคโนโลยีสู้ต่อแสงแดดได้เมื่อทำงานกลางแจ้งจะทำประโยชน์ได้อย่างมาก

นอกจากนี้ เทคโนโลยีจอภาพถนอมสายตายังเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญมาก เพราะจอโน้ตบุ๊กถูกวางในตำแหน่งที่ใกล้ตามากกว่าจอของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ถ้าเราต้องทำงานเป็นเวลานาน เราอาจจะปรับแสงให้ลดลงไปบ้าง แต่ก็ต้องแลกมากับรายละเอียดของภาพที่น้อยลง ถ้าตัวจอภาพมีรายละเอียดดีอยู่แล้ว การเร่งแสงก็จะไม่ทำให้รายละเอียดภาพลดลง เราก็ไม่ต้องเพ่งจอภาพนานๆ ที่อาจทำให้แสบตา และ ส่งผลเสียต่อสายตาได้
รูปภาพจาก a-bathing-bape.spaces.live.com EDIT IMAGE
สุดท้าย จอภาพไม่ควรสร้างความร้อนขึ้นมา อันนี้ก็สำคัญมากไม่แพ้กันเพราะท่อนล่างของโน้ตบุ๊กนั้นมีความร้อนสูงอยู่แล้ว บางรุ่นดีหน่อยทำช่องระบายความร้อนไว้ด้านข้างหรือด้านหลัง แต่บางยี่ห้อติดไว้ใต้คีย์บอร์ด ซึ่งเมื่อใช้งานเสร็จแล้วพับจอลงมา จอที่มีความร้อนจะถูกปิดทับลงไปสะสมความร้อน ยิ่งทำให้ความร้อนตัวเครื่องหนักเข้าไปอีก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับซิลิโคนติดคีย์บอร์ดยอดนิยม หากมามาเจอกับหน้าจอร้อนๆเมื่อปิดฝาลงไป ไม่อยากจะคิดเลยว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น..
รูปภาพจาก labtopskin EDIT IMAGE
นอกจากรายละเอียดข้างบน การเลือกโน๊ตบุ๊กโดยพิจารณาคุณสมบัติหน้าจอยังสามารถมองในมุมประเภทจอ สัดส่วนการแสดงภาพ และข้อมูลอื่นๆอีก โดยขณะนี้ หน้าจอโน้ตบุ๊กรุ่นทั่วไปที่มีขายในตลาดมีเพียงสองประเภทให้เลือก คือ TFT ชนิด TN และ LED

TFT แบบ TN เป็นที่นิยมมามากในช่วงที่ผ่านมา เพราะนอกจากจะให้รายละเอียดภาพที่คมชัด สีสันสดใส ดูแล้วสบายตา ราคายังไม่แพงมากอีกตังหาก แสดงผลได้รวดเร็ว (เฉพาะบางยี่ห้อ) แต่ต้องแลกมากับสีสันที่อาจจะผิดเพี้ยนไปในแต่ละผู้ผลิต เพราะยังขาดการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจน บางยี่ห้ออาจจะแสดงผลสีอมฟ้า อมเหลือง ต้องไปดูว่ายี่ห้อไหนให้สีถูกใจมากที่สุด

TFT แบบ TN ยังมีจุดอ่อนเรื่องความร้อน แต่ก็แค่ระดับอุ่นๆ เรื่องการสู้แดดนั้นทำได้ไม่ดีนัก

จอ TFT มีให้เลือกทั้งแบบ matte (ด้าน-ไม่เงา) และ แบบcoated (พ่อค้ามักจะเรียกกันว่า จอกระจก เพราะมันเงา) แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแบบเคลือบเงา เพื่อให้ดูแล้ว สีสันสดใสขึ้น สว่างมากขึ้น แต่บางคนบ่นว่าแสดงมันสะท้อนเข้าตา อันนี้ก็แล้วแต่คนมอง
รูปภาพจาก drycreekphoto EDIT IMAGE
ขณะที่ LED เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่นอกจากจะนำมาใส่ใน LED TV ยังมีการนำมาใส่ในโน้ตบุ๊กด้วย สิ่งแรกที่เห็นคือ “มันบางลง” และ “น้ำหนักเบา” กว่าจอแบบ TFT เพราะไม่ต้องมีส่วนส่องสว่างอยู่ด้านหลังจอ ทำให้สว่างทั่วทั้งจอ แล้วยังให้สีสันที่สดสวยกว่าแบบ TFT อีกด้วย อีกอย่างหนึ่งคือ มันประหยัดไฟมากขึ้น สีสันยังคงเหมือนกับจอ TFT คือต่างผู้ผลิตก็ต่างมาตรฐาน แต่ความเพี้ยนจะไม่เห็นเด่นชัด

ความไวในการแสดงผลของ LED ถือว่าดีขึ้นกว่าจอ TFT ความร้อนลดน้อยลง สำคัญที่สุดคือมันสู้ต่อแสงแดดที่สะท้อนเข้ามาได้ดี

จอ LED ส่วนมากจะเคลือบเงา การสะท้อนแสงเข้าตานั้นไม่มากเท่าจอ TFT และเมื่อปรับความสว่างให้ลดลง รายละเอียดภาพจะยังคงอยู่ในระดับเดิม ส่วนเรื่องราคา ยอมรับว่าแพงกว่า TFT แต่กำลังมีแนวโน้มว่า LED ถูกลงเรื่อยๆ และ จะมาแทนที่ TFT ในที่สุด

เรื่องสัดส่วนภาพ ทั้งจอภาพโน้ตบุ๊กและจอภาพคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะนั้นจะมีสัดส่วนจอภาพให้เลือกอยู่ 3 ขนาด คือ 4:3 16:10 และ 16:9
รูปภาพจาก nvworld EDIT IMAGE
สัดส่วน 4:3 ถูกใช้มานานตั้งแต่จอคอมพ์แบบ CRT หรือจอโทรทัศน์แบบหลอด จนมาเป็นโน้ตบุ๊กที่ใช้จอ LCD ก็ยังคงใช้ 4:3 ความละเอียดตั้งแต่ VGA: 640×480 SVGA: 800×600 XGA: 1024×768 SXGA: 1280×1024

แต่แล้วสัดส่วนนี้ก็สูญพันธุ์ โน้ตบุ๊กในตลาดขณะนี้ไม่มีสัดส่วนหน้าจอนี้จำหน่ายแล้ว จะมีก็แต่จอคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่ยังพอมีเหลือให้เห็นกันบ้าง จอสัดส่วนนี้มีดีตรงที่ เหมาะสำหรับใช้ทำงานพวกเอกสาร ทำงานทั่วไป เพราะสามารถแสดงผลแนวตั้งได้ดี ไม่ต้องเลื่อนจอขึ้นลงบ่อยครั้งให้ปวดหัว แต่จะมีปัญหาก็ตรงที่เวลาดูภาพยนตร์จาก DVD จะปรากฏขอบหนาๆให้เห็น แต่ไม่มีปัญหากับไฟล์หนังจาก VCD เนื่องจากใช้สัดส่วน 4:3 อยู่แล้ว ดูได้เต็มจอ ไม่มีขอบ เหมือนดูในโทรทัศน์จอแก้ว
รูปภาพจาก Lenovo
จนกระทั่งกระแสจอ Widescreen เริ่มเข้ามาเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ผู้ผลิตก็เริ่มใช้สัดส่วน 16:10 กับเครื่องคอมพิวเตอร์ ในขณะที่จอ LCD TV นั้นใช้สัดส่วน 16:9 เนื่องจากเป็นสัดส่วนในการดูภาพยนตร์จาก DVD ความละเอียดของ 16:10 ที่เห็นกันบ่อยๆ น่าจะเป็น WXGA:1280×800 WXGA+:1440×900

สัดส่วนนี้อาจทำให้ต้องปรับค่าความละเอียดจนวุ่นวายเพราะเครื่องโปรเจคเตอร์รุ่นเก่ายังไม่รองรับ Widescreen กระทั่งช่วงหลัง โปรเจคเตอร์จึงพัฒนาให้รองรับ Widescreen บ้างแล้ว

สัดส่วน 16:10 ถูกแทนที่ด้วยมาตรฐานใหม่นั่นคือ 16:9 จุดประสงค์คือต้องการให้เป็นสัดส่วนเดียวกับ LCD TV เนื่องจากผู้ใช้จอสัดส่วน 16:10 มักมีปัญหาเรื่องขอบบน-ล่างขณะชมภาพยนตร์ DVD ซึ่งมักใช้สัดส่วน 16:9 ทำให้เหลือขอบอีก 0.5 ทั้งบนและล่าง หรืออาจใช้สัดส่วน Anamorphic Widescreen ที่ต้องการให้ผู้ชมเห็นรายละเอียดกว้างครบทั้งจอเหมือนที่ฉายในโรงภาพยนตร์ ซึ่งหากปรับสัดส่วน ใบหน้าคนในภาพยนตร์จะยืดยาวขึ้นผิดรูปร่าง
รูปภาพจาก Dell
สำหรับโน้ตบุ๊ก ความละเอียดที่พบเห็นกันได้มากที่สุดมีสองขนาด คือ 1366×768 (เท่ากับ LCD TV แบบ HD-ready) และแบบ Full HD 1920×1080
รูปภาพจาก Lenovo / Acer
รูปเปรียบเทียบระหว่างจอ 4:3/16:10 และ 16:9 ดังนี้เลยนะครับ
รูปภาพจาก lcdspec.com
สรุปคือ คุณควรจะตัดสินใจก่อนว่าจะเลือกใช้จออะไร สัดส่วนเท่าไร ขนาดของหน้าจอตามชอบ นอกจากนั้นก็อยู่ที่”ตา”ของคุณแล้ว ว่าชอบจอของเครื่องไหนมากกว่ากัน

ที่สำคัญคือนอกจากจะดูที่สเปคของเครื่อง จอภาพก็เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ เพราะเป็นส่วนที่ติดต่อกับคุณโดยตรง ถ้าจอภาพดีคุณก็จะใช้เครื่องอย่างมีความสุข กับสเปคที่พึงพอใจ แต่ถ้าจอภาพไม่ดี แม้เครื่องคอมพิวเตอร์จะดีแค่ไหน คุณก็อาจจะไม่มีความสุขกับมันก็ได้

ข้อสงสงสัยและปัญหาต่างๆเกี่ยวกับ LCD TV, Monitor และจอภาพ ติดตามได้ที่ LCDSpec.com

บทความโดย the_bunz, LCDSpec.com
กำลังโหลดความคิดเห็น