xs
xsm
sm
md
lg

ดึงงบไทยเข้มแข็งปั๊มครู 2 หมื่นเร่งบรรจุพันที่นั่งสอน ร.ร.บ้านเกิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
เผยแผนดูดงบ “ไทยเข้มแข็ง” ผลิตครู 1.9 หมื่นคน ระบุ หมื่นคนแรกให้ทุน นศ.สาขาขาดแคลนเรียนวิชาชีพครูเพิ่มปีครึ่งก่อนบรรจุ ส่วนอีก 9 พันอัตรารองรับ นศ.ครูหลักสูตร 5 ปี “วรากรณ์” ลั่นเตรียมขอเงินรัฐบาลด่วนรับสมัคร นศ.สาขาอื่นอีกพันอัตรา กลับรับราชการครูบ้านเกิด แก้ขาดแคลนครูเร่งด่วน

รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการวางแผนการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เปิดเผยว่า คณะกรรมการวางแผนการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษากำลังเร่งจัดทำแผนการผลิตและพัฒนาครู โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 215 ล้านบาท มีแผนผลิตและพัฒนาครู 20,000 อัตรา โดยแบ่งออกเป็น 2 โครงการ คือ

โครงการผลิตครูตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ของรัฐบาล ซึ่งจะเปิดรับสมัครนักศึกษาครุศาสตร์ จำนวน 19,000 คน ในจำนวนนี้ 10,000 อัตรา จะรับสมัครนักศึกษาในสาขาขาดแคลน เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เป็นต้น เพื่อเข้ามาศึกษาต่อด้านวิชาชีพครูเป็นเวลา 1 ปีครึ่ง

โดยระหว่างศึกษาวิชาชีพครู 1 ปีครึ่ง จะได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลด้วย และจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูทำการสอนในพื้นที่ขาดแคลนเมื่อศึกษาจบ โดยแต่ละคนจะทราบพื้นที่ที่จะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ล่วงหน้า เพื่อประกอบการตัดสินใจและไม่เปลี่ยนใจในภายหลัง ส่วนนี้หากได้รับงบประมาณตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งจากรัฐบาลก็จะเร่งดำเนินการทันที

ส่วนอีก 9,000 อัตรา จะให้กับนักศึกษาครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ โดยนักศึกษากลุ่มนี้จะได้รับทุนการศึกษาต่อเนื่องตลอดหลักสูตรเป็นระยะเวลา 5 ปี และเมื่อสำเร็จการศึกษาจะมีอัตราข้าราชการครูรับบรรจุเข้าทำงานทันทีเช่นกัน โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2553

ดร.วรากรณ์ กล่าวอีกว่า อีกโครงการหนึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนที่ขออนุมัติจากรัฐบาล เพื่อเปิดรับสมัครนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนครู และกำลังศึกษาอยู่ในสาขาขาดแคลน จำนวน 1,000 คน เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการครู โดยจะพิจารณาจากผลการเรียน ความมีใจรักวิชาชีพครู บุคลิกภาพ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นการแก้ปัญหาขาดแคลนครูเฉพาะหน้า โดยจัดสรรอัตราข้าราชการรับบรรจุทันทีที่เรียนจบ เพียงแต่ไม่มีทุนการศึกษาให้ เชื่อว่า จะสามารถคัดสรรนักศึกษาที่มีคุณภาพเข้าสู่วิชาชีพครู และแก้ปัญหาขาดแคลนครูในระยะเร่งด่วนได้ทันท่วงที ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนเสนอต่อ ครม.หาก ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากไม่ต้องใช้งบประมาณ

อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่า การเรียนการสอนคุรุศาสตร์ที่ผ่านมานั้น มุ่งเน้นเรื่องวิธีการเรียนการสอนมากเกินไป จนทำให้อ่อนเรื่องเนื้อหา ซึ่งในอนาคตจะต้องปรับการเรียนการสอนทั้งเรื่องวิธีการและเนื้อหาไปควบคู่กัน
กำลังโหลดความคิดเห็น