xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” รับปฏิรูปการศึกษาไทยยังหลงทาง แนะที่ผ่านมาถือเป็นบทเรียน ทำครั้งนี้ให้สำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“มาร์ค” เปรียบ “ปฏิรูปการศึกษา” เหมือนการปรับแก้รัฐธรรมนูญ ชี้ลองมาทุกวิธีแต่ยังหลงทาง ฝากปฏิรูปรอบใหม่อย่ามัวแต่ทะเลาะกันจนเสียเวลา ให้มองเป้าหมายเป็นหลัก ระบุหากการศึกษายังมุ่งเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ยังปฏิรูปการศึกษาไม่ได้ ด้าน “วิจิตร” ฝากโจทย์พัฒนาครูประจำการให้พร้อมรับปฏิรูปการศึกษา และขยับการศึกษาเฉลี่ยคนไทยให้เป็น 12 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 8.2 ปี

วันนี้ (14 พ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่สโมสรทหารบก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในการเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางและนโยบายของรัฐบาลต่อการปฏิรูปการศึกษารอบสอง” ว่า ตนเชื่อว่าขณะนี้สังคมตั้งคำถามว่า การปฏิรูปการศึกษาในปี 2542 ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวและคงคิดว่าปฏิรูปในรอบใหม่นี้ จะนำไปสู่ปัญหาความยุ่งยากหลายสิ่ง ทั้งนี้ หากพิจารณาจากเป้าหมายในการปฏิรูปการศึกษาเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 3 ข้อ คือ 1.การกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง 2.การมีส่วนร่วมทางการศึกษา และ 3.การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ต้องยอมรับว่า ในขั้นตอนการดำเนินการที่จะไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวนั้น ต้องมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ อาทิ การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการ มีการยุบรวมหน่วยงานด้านการศึกษาเพื่อให้การทำงานมีเอกภาพและมีการบูรณาการมากยิ่งขึ้น การปรับระบบการจัดสรรทรัพยากร การจัดสรรงบประมาณ และอื่นๆ ทั้งนี้แม้จะมีความสำเร็จในหลายด้าน แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของสังคม และหลายคนก็คิดว่ายังไปได้ไม่ไกลอย่างที่คิด

“ผมมองว่าการปฏิรูปการศึกษา เป็นปัญหาใหญ่พอกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะแม้จะมีการปรับแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาก็พยายามใช้ทุกวิธีการแล้ว ทั้งรวมเขต แบ่งเขต แต่ก็ยังจับไม่ถูกจุด เช่นเดียวกันการปฏิรูปการศึกษา 10 ปีที่ผ่านมา บางด้านอาจจะยังหลงทาง หรือเดินวนเวียนอยู่บ้าง อาทิ การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ในเรื่องการเรียนฟรี ที่ยังมีเสียงบ่นอยู่ตลอดว่ายังไม่ฟรีจริง ระบบการคัดเลือกบุคคคลเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา ที่ยังไม่สอดคล้องกับระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะเป้าหมายสำคัญ คือ คุณภาพการศึกษา เห็นได้จากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กไทยในแต่ละช่วงชั้นที่ยังคงเป็นที่น่าผิดหวัง ดังนั้น สิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งในการปฏิรูปการศึกษาในรอบใหม่นี้ คือ มีปัญหาใดบ้างที่ยังเป็นอุปสรรค เป็นคอขวดอยู่ ไม่สามารถผ่าฟันไปได้ สำรวจว่าจุดใดบ้างในการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ผ่านมาที่ยังล้มเหลว ไม่ก้าวหน้า เพื่อนำมาแก้ไขให้ตรงจุด และทำให้การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่จะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนและแท้จริง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายกฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำบทเรียนจากการการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ผ่านมา มาเป็นแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่นี้ โดยเฉพาะปัญหาเมื่อมีการเดินหน้าการปฏิรูปกันจริงๆ กลับไปมัวเสียเวลา และถกเถียงขัดแย้งกันในเรื่องไม่ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพการศึกษา เช่น การปรับโครงสร้างหน่วยงาน เป็นต้น เพราะจนถึงวันนี้แม้โครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก แต่เนื้อหาหรือระบบการบริหารกลับไม่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ในการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ไม่ว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านใด อาทิ การปรับโครงสร้าง การตั้งหน่วยงานใหม่ สิ่งจำเป็นที่สุดคือจะต้องมองมองถึงเป้าหมายสุดท้ายว่า ทั้งหมดคือเครื่องมือในการสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นในวงการศึกษา ไม่ใช่มัวไปเสียเวลากับการถกเถียงสร้างความขัดแย้งกัน จนลืมเป้าหมายที่สำคัญไป เพราะตราบใดที่การปฏิรูปการศึกษายังก้าวไม่พ้นจุดนี้ได้ ต่อให้ปฏิรูปกันกี่รอบก็เสียดายเวลาเปล่า

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า อีกทั้งผู้ที่อยู่ในสังคมการศึกษาจะต้องเอาชนะแรงเฉื่อยให้ได้ ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่ยึดติดกับค่านิยมเดิมๆ เช่น แม้จะมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างไร แต่การะบบการศึกษาต่อยังยึดอยู่กับค่านิยมการมุ่งเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษาเป็นหลักก็ปรับเดินหน้าได้ยาก การปรับวิธีการเรียนการสอนโดยลดเนื้อหาในห้องเรียนลง เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเองนอกห้องเรียน แต่สุดท้ายการวัดผลประเมินผลยังคงยึดที่เกณฑ์การสอบเป็นหลักก็เกิดขึ้นไม่ได้

ด้านนายวิจิตร ศรีสอ้าน อดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาในรอบแรกเมื่อปี 2542 ได้มีการปรับรื้อในหลายเรื่องแล้ว ดังนั้น ในการปฏิรูปรอบสองนี้จึงควรเป็นการปรับแต่งในสิ่งที่เป็นปัญหาในการปฏิรูปรอบแรกให้ดี และทันสมัยขึ้น รวมถึงต้องเติมเต็มสิ่งที่ขาดอยู่ด้วย เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ในการปฏิรูปรอบสองควรจะต้องมีการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพการศึกษาทุกระดับ โดยมุ่งพัฒนาปัจจัยคุณภาพทุกด้าน นอกจากนี้จะต้องเร่งรัดการยกระดับการศึกษาของประชาชน ให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี จากปัจจุบันการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 8.2 ปี ภายใน 8 ปี รวมทั้งจะต้องแก้ปัญหาขาดแคลนครูและเร่งรัดพัฒนาครูด้วย โดยเฉพาะครู และคณาจารย์ประจำการ ประมาณ 6 แสนคนที่ต้องได้รับการพัฒนาให้พร้อมในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งขณะนี้ยังขับเคลื่อนไม่เต็มที่ทำให้การปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จเท่าที่ควร นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงตัวผู้เรียนที่ต้องได้รับการพัฒนาให้มีความพร้อมสำหรับการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งควรดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แต่ที่ผ่านมารัฐยังไม่ได้เข้าไปดูแลมากนัก สิ่งสำคัญการพัฒนาผู้เรียนที่ถือว่าขาดไปมาก ได้แก่ เรื่องคุณธรรมที่ต้องเร่งปลูกฝังอย่างจริงจัง

“การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา นับจากปี 2542 เป็น 9 ปีที่การปฏิรูปการศึกษาใม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ถ้าประเมินจากพิมพ์เขียวการปฏิรูปการศึกษาที่วางไว้จะพบว่างานไม่เสร็จตามกรอบเวลา มีเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่ทำสำเร็จ คือ การประกันคุณภาพภายนอกของ สมศ. อย่างไรก็ตาม การประเมินภายนอก รอบ 3 ที่จะเกิดขึ้นนั้น สิ่งที่ต้องเน้นเพราะเป็นเรื่องสำคัญมาก ได้แก่ การประเมินผลผลิตและผลลัพธ์ทางการศึกษา โดย สมศ.ควรต้องมีมาตรฐานขั้นต่ำ และมาตรฐานดังกล่าวนั้น ต้องเป็นมาตรฐานที่สามารถใช้ได้กับสถานศึกษาทั่วประเทศ อีกทั้งผลประเมินของ สมศ.ควรถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาด้วย ไม่ใช่นำไปไว้บนหิ้งเพียงอย่างดียว”นายวิจิตร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น