xs
xsm
sm
md
lg

จวกปฏิรูปการศึกษาพลาด-ขาดครู ทำเด็กไทยคะแนนโอเน็ตต่ำ วอน "มาร์ค" ลงมาดูแลด้วยตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการจวกปฏิรูปการศึกษาผิดพลาดส่งผลให้เด็กไทยทำคะแนนโอเน็ตได้น้อย สะท้อนคุณภาพการศึกษาต่ำลง เรียกร้อง “จุรินทร์”วางเป้าหมาย 2 ปีจากนี้จะดำเนินการเรื่องใดให้เห็นผล วอน “อภิสิทธิ์”ลงมาดูแลเรื่องการศึกษาด้วยตนเอง ชี้ชัดผลการศึกษาตกต่ำเกิดจากปัญหาการขาดแคลนครู และครูประจำการที่มีอยู่ไม่ได้รับการพัฒนา ด้าน "ชัยวุฒิ" เผย 9 เม.ย.นี้ประชุมแก้ปัญหาการเรียนสอน 5 วิชาหลัก ตั้งแต่ประถม-อุดมศึกษา

จากผลคะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ระดับชั้น ป.6 , ม. 3 และ ม.6 ซึ่งพบว่า คะแนนเฉลี่ยตกลงหมดทุกวิชา รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ข้อมูลของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) แสดงให้เห็นว่าเด็กไทยยิ่งอยู่ในระบบการศึกษานานเท่าไร คุณภาพยิ่งลดต่ำลง และปัญหาคุณภาพการศึกษาก็ลามเข้าถึงระดับอุดมศึกษาแล้ว เพราะได้เด็กที่มีด้อยคุณภาพมาเรื่อยๆ ซึ่งคุณภาพการศึกษาที่ดิ่งเหวลงไปทุกขณะ กลับไม่มีเจ้าภาพหรือฝ่ายใดเข้ามาแสดงความรับผิดชอบ ทั้งฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำ จึงยิ่งทำให้คุณภาพการศึกษาสาหัสขึ้นทุกที แต่หาผู้รับผิดชอบไม่ได้

รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่พบได้ชัดเจนจากการสอบโอเน็ต4ปีที่ผ่านมาคือ ข้อสอบโอเน็ตของสทศ.เน้นการคิด วิเคราะห์ หาเหตุผล แต่กระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนยังเป็นแบบท่องจำ80-90% จึงเป็นเรื่องที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง เป็นตลกทางการศึกษาที่ขำไม่ออก ดังนั้น โรงเรียนจะต้องเปลี่ยนวิธีการสอน และกระบวนการเรียนรู้ครั้งใหญ่ ส่วนฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.ศึกษาธิการ ควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษา เพราะไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ โดยวางเป้าหมายไว้ว่า 2 ปีจากนี้ จะยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างไร เช่น ร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆ ในการผลิตซอฟแวร์และกระจายองค์ความรู้ในวิชาหลักทั้ง 5 ไปให้ถึงตัวเด็ก ผ่านสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาล ทั้ง ช่อง 11 และ ทีวีไทย

“10 ปีของการปฏิรูปการศึกษา ได้ผลิดอกออกผลออกมาแล้วว่า คุณภาพของเด็กไทยลดต่ำลงเรื่อยๆ เป็นการล้มเหลวด้านคุณภาพการศึกษาอย่างสิ้นเชิง ขณะเดียวกันครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน เข้าสู่เงินเดือนและวิทยฐานะใหม่ ได้ดิบได้ดีกันถ้วนหน้า ซึ่งเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ผิดพลาดมหาศาล เป็นผลร้ายของการปฏิรูปการศึกษาในรอบที่ผ่านมา ผมอยากเสนอว่า งานการศึกษาอยู่เหนือบ่ากว่าแรงของนายจุรินทร์ และ รมช.ศึกษาธิการ 2 คนแล้ว ควรให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลงมาดูแล้วเองได้แล้ว” รศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) กล่าวว่า ปัญหาเกิดจาก 2 เรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลต้องเร่งแก้ไขคือ เรื่องแรก การพัฒนาคุณภาพครูตั้งแต่กระบวนการผลิตครู จะต้องคัดเลือกคนเก่ง คนดีและจบตรงสาขามาเป็นครู แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการจัดระบบการผลิตครู รวมทั้งการพัฒนาครูอย่างเป็นระบบก็ยังไม่ได้มีการตั้งกองทุนพัฒนาครูขึ้นมา ครูประจำการที่มีอยู่ 4-5 หมื่นคนยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรทั้งที่ช่วงปิดเทอมควรให้ครูกลุ่มนี้ได้มาอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ และมีการคืนครูให้แก่เด็กโดยไม่ให้ครูต้องไปทำงานธุรการเพื่อให้สอนเด็กได้เต็มที่ซึ่งศธ.ก็มีนโยบายเรื่องนี้อยู่แล้ว และต้องนำเทคโนโลยีและสื่อการสอนที่ทันสมัยเข้ามาช่วยสอนเด็กและสนับสนุนให้พ่อแม่ซึ่งถือเป็นครูคนแรกของลูกเข้ามาส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกให้มากขึ้น

ศ.ดร.สมหวัง กล่าวอีกว่า คุณภาพการศึกษานั้นดูที่ผลสอบโอเน็ต ผลสอบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง(เอเน็ต) และคุณภาพสถานศึกษา สิ่งที่ ศธ.ต้องเร่งทำคือการพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสที่เสนอให้มีโครงการ 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด เพื่อให้แต่ละจังหวัดมีมหาวิทยาลัยมาเป็นพี่เลี้ยงช่วยพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาดำเนินการ คงทำไม่ได้ในระยะเวลาสั้น

น.ส.นารี วงศ์สิโรจน์กุล รักษาการผอ.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) กล่าวว่า ปัญหาเด็กมีผลคะแนนโอเน็ตตกต่ำนั้น สสวท.มองเห็นแนวโน้มก่อนหน้านี้แล้วว่าจะเป็นเช่นนี้เพราะมีครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์เกษียณก่อนกำหนด(เออร์ลี่รีไทร์)เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ ดังนั้น ปัญหาใหญ่ขณะนี้คือ การขาดแคลนครูและคุณภาพครูโดยเฉพาะครูคณิตศาสตร์ ซึ่งศธ.ทราบปัญหานี้ดีและกำลังดำเนินการแก้ไขแล้ว รวมทั้งการยกระดับคุณภาพการศึกษาในวิชาภาษาไทย วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งศธ.ได้จัดทำแผนยกคุณภาพการศึกษาใน 3 วิชานี้โดยมีนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศธ.)เป็นประธานคณะกรรมการจัดทำร่างแผนนี้โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สพฐ. สสวท.ช่วยกันจัดทำร่างแผนและทำงานร่วมกันโดยจะมีการนำเสนอร่างแผนที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบเพื่อหาข้อสรุปแผนในภาพรวมในวันที่ 9 เมษายนนี้ 

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่าการที่ผลวิเคราะห์คะแนนโอเน็ต 4 ปีต่ำลง ถือเป็นเรื่องปกติเนื่องจากเด็กบางคนอาจจะไม่ตั้งใจสอบเพราะไม่ได้นำคะแนนไปใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา หรือแอดมิชชัน ซึ่งเด็กจำนวนนี้ถือว่าเป็นเด็กส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงไปฉุดคะแนนส่วนใหญ่ให้ต่ำลงด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะปฏิเสธว่าคะแนนของเราไม่ดีขึ้น ก็ต้องยอมรับว่าคะแนนของเด็กไทยตกเกณฑ์และต้องได้รับการพัฒนา

นายชัยวุฒิ ยังกล่าวด้วยว่าในวันพุธ ที่ 9 เม.ย.นี้ตนจะประชุมร่วมกับคณะกรรมการการเพื่อแก้ไขปัญหาการเรียนการสอนรายวิชา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาไทย โดยได้เพิ่มวิชาภาษาอังกฤษและสังคม ร่วมเป็น 5 วิชาหลัก เพื่อสรุปแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาตั้งแต่ระดับประถม-อุดมศึกษา และเสนอให้ที่ประชุมกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาต่อไป สำหรับแนวทางเบื้องต้นจะมีการดำเนินงานใน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2.การพัฒนาครู 3.การพัฒนาหลักสูตร 4.การเตรียมพร้อมในการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน และ5.การประเมินผล
กำลังโหลดความคิดเห็น