xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ย้ำ! เน้นพัฒนาคุณภาพครูให้ทันโลกสร้างคุณภาพการศึกษาชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“อภิสิทธิ์” เน้นพัฒนาคุณภาพครูเรียนรู้วิชาการ เทคโนโลยี ให้ทันกับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รัฐบาลเห็นความสำคัญด้านการศึกษา จัดงบ เรียนฟรี 15 ปี 1.8 หมื่นล้าน “จุรินทร์” แย้มทั่วโลกกำลังมีปัญหาคุณภาพครู ด้าน “คุณหญิงกษมา” รับ มีสื่อการเรียนการสอนต่ำ

เมืองทองธานี วันนี้ (24 มี.ค.) เวลา 09.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมสมัชชาการศึกษานานาชาติแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4 ในโอกาสวันครูโลก และการประชุมนานาชาติ UNESCO-APEID ครั้งที่ 12 นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาเปิดงานครั้งนี้ และทราบถึงความสำคัญของวันนี้เป็นอย่างดี นับตั้งแต่ปี 2500 ประเทศไทยได้กำหนดให้วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี เป็นวันครูแห่งชาติ และได้มีการกำหนดวันครูโลก เมื่อปี 2537 ไทยมีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศสมาชิก UNESCO ที่จะร่วมฉลองความสำคัญของวันนี้ ซึ่งถือเป็นวันที่ช่วยให้เราตระหนัก และเห็นความสำคัญถึงบทบาทสำคัญของครูทั่วโลก และยังเป็นโอกาสที่จะย้ำเตือนให้เห็นถึงข้อตกลงร่วมกันที่จะพัฒนาทั้งในด้านมาตรฐานวิชาชีพและคุณภาพชีวิตของครู

อีกทั้งรู้สึกยินดีที่ ศธ.ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เช่น UNESCO บริติช เคานซิล และ SEAMEO ได้ริเริ่มจัดงานครั้งนี้ขึ้น ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะประชุมหารือกันในระดับนานาชาติ เกี่ยวกับนวัตกรรมด้านการสอนและเรียนรู้ที่มีคุณภาพ คุณภาพของนักเรียนและระบบการศึกษานั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของครู ในปัจจุบันสังคมมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว ครูจึงต้องมีภาระหน้าที่ในการสร้างคนรุ่นหลังให้พร้อมรับมือกับสิ่งที่ต้องเผชิญในชีวิต

การพัฒนาคุณภาพของครูนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้เห็นความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ โดยเน้นการสร้างความพร้อมให้แก่ครูและการพัฒนาวิชาชีพครู นอกจากจะต้องมีความสามารถด้านวิชาการแล้ว แต่ยังต้องเน้นถึงด้านศีลธรรมและจริยธรรมด้วย

ส่วนการสร้างความพร้อมให้แก่ครูรุ่นใหม่ โดยมีโครงการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปริญญาตรี (หลักสูตร 5 ปี) เพื่อให้ครูรุ่นใหม่ได้มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติอย่างน้อย 1 ปี ก่อนที่จะสอนจริง ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการสอนอย่างต่อเนื่อง ครูที่ผ่านการศึกษาอบรมตามโครงการนี้จะต้องได้รับค่าตอบแทนเทียบเท่ากับข้าราชการระดับสูง

ขณะนี้ได้มีกระบวนการเพิ่มพูนครูที่มีความชำนาญแล้ว เราก็ยังต้องเรียนรู้ จากความรู้และประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ทั่วทุกส่วนของโลก ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียินดีรับคำแนะนำและมีความเชื่อมั่นว่าความรู้และประสบการณ์เหล่านี้มีคุณค่า อันจะนำไปสู่กระบวนการที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนาครูทั่วโลกต่อไป

นายกฯ กล่าวต่อว่า ไทยได้มีการพัฒนาคุณภาพการสอนและการเรียนรู้มาอย่างต่อเนื่อง และกว่า 13,000 โรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่แถบชนบท ต้องเผชิญกับปัญหาความขาดแคลนครูที่มีความรู้ความชำนาญ ส่งผลมาจากโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด ตลอดช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลได้สรรหาครูใหม่ กว่า 12,000 คน ในสาขาขาดแคลน โดย 17% ของครูใหม่นี้ได้มาจากผู้ที่ได้ทุนสมัยเรียนในระดับมัธยมศึกษา นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการ “คืนครูสู่ห้องเรียน” ที่ช่วยลดภาระงานด้านธุรการต่างๆ ให้แก่ครู ซึ่งภาระงานเหล่านี้กินเวลากว่า 30% ของเวลาการสอน

และปีนี้ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณกว่า 18,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมปลาย ซึ่งรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณกว่า 21.8 เปอร์เซ็นต์ของการใช้ง่ายเงินรัฐบาลทั้งหมด เป็นงบประมาณด้านศึกษาเพื่อให้นักเรียนได้รับค่าเล่าเรียนฟรี ชุดนักเรียน หนังสือ และอุปกรณ์ด้านการศึกษาต่างๆ รวมทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น ลูกเสือ การออกค่าย การเรียนพิเศษ คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต นอกเหนือจากชั่วโมงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รับการสอนและการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เด็กนักเรียน

“รัฐบาลได้มีกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายของนวัตกรรมด้านการสอนและเรียนรู้ที่มีคุณภาพ แต่ไทยยังคงต้องการการเรียนรู้ และประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ ด้วย” นายกฯ กล่าว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีหัวข้อสำคัญ คือ การพัฒนาครู เพื่อนำไปสู่การศึกษาที่มีคุณภาพ จะมีการหารือเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาครูว่าจะทำอย่างไร ทั้งในส่วนของกระบวนการเรียนการสอน การใช้เทคโนโลยี รวมถึงการอบรมทุกด้าน เพราะคุณภาพการศึกษาหัวใจสำคัญอยู่ที่ตัวครู

ครูมีปัญหาด้านคุณภาพหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่กำลังเป็นปัญหาทั้งโลก ที่มีปัญหาลักษณะใกล้เคียงกัน และไม่ว่าประเทศไหนจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอน นำความรู้ใหม่เข้ามาพัฒนา จะได้นำไปสอนเด็ก และไทย ก็เป็นหนึ่งที่มีปัญหาในโลก ปัญหาดังกล่าวจึงทำให้เราต้องมีการปฏิรูปการศึกษา รอบ 2 ซึ่งหัวใจสำคัญคือเรื่องคุณภาพ คุณภาพวัดผลสัมฤทธิ์ตรงตัวเด็ก โดยครูจะเป็นกุญแจสำคัญ

ถามว่า งบเรียนฟรี 15 ปี จะแก้ปัญหาการศึกษาทั้งระบบหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่ง และงบเรียนฟรี ที่รัฐจัดให้ตกประมาณ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงมาก หากเทียบสัดส่วนถือว่าสูงที่สุดในแถบเอเชีย ถือว่าเราให้ความสำคัญสูงมาก โดยเฉพาะรัฐบาลชุดนี้ และปีหน้า ตนเชื่อว่า ตัวเลขยังสูงอยู่ เพราะต้องการลงทุนทางปัญญาและการศึกษา เป็นพิเศษ

เมื่อถามว่า คุณภาพการศึกษาไทยเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า คุณภาพของเด็ก ครูเราจะมีจุดอ่อนมากกว่าที่อื่น ในเรื่องสื่อการเรียนการสอน ยังมีไม่มากเท่าที่ควร รวมถึงความพร้อมในครอบครัวที่ให้การสนับสนุนด้วย เด็กที่ได้คะแนนดีๆ ส่วนใหญ่จะมีหนังสือ คอมพิวเตอร์ เพราะฉะนั้นเด็กของเราจะเสียเปรียบในเรื่องทำนองนี้

ครั้นถามถึงผลการประเมินของ สมศ.พบว่า มีโรงเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ คุณหญิงกษมา กล่าวว่า ผลประเมินพบว่ามีโรงเรียนกว่า 4 พันโรง มีครูไม่ตรงวุฒิ ผลการเรียนของเด็กยังไม่ถึงเป้า อย่างไรก็ตาม ถ้าดูภาพรวมเปอร์เซนต์ผ่านการประเมินสูงขึ้น ขยับขึ้นมา 78 เปอร์เซ็นต์ ครั้งแรกผ่านเกณฑ์ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะพอใจแค่นี้ เพราะโรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์ยังไม่อยู่ในระดับที่พอใจได้ ขณะนี้เร่งให้สำนักงานเขตพื้นที่ทุกแห่งตั้งเป้าหมาย เริ่มต้นโรงเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ว่ามีกี่โรงแล้วปรับปรุง ส่วนใหญ่เน้นการปรับปรุงเรื่องผู้บริหาร โรงเรียนจำนวนไม่น้อยซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีผู้บริหาร และยังปัญหาของครู ไม่เข้าใจระบบประกันคุณภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น