xs
xsm
sm
md
lg

คุมเข้ม “คุณหญิงกษมา” สั่ง ร.ร.ทำหนังสือขออนุญาต ก่อนรีดเงินผู้ปกครองเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศธ.ย้ำ ผอ.สพท.ทำความเข้าใจผู้บริหารสถานศึกษาและผู้ปกครอง ถึงนโยบายเรียนอย่างมีคุณภาพว่าฟรีอะไรบ้าง “คุณหญิงกษมา” สั่งโรงเรียนที่จะเก็บค่าบำรุงการศึกษาเพิ่มเติมต้องทำหนังสือขออนุญาตเข้ามาที่ สพฐ.กำชับให้มีสายด่วนไขข้อข้องใจผู้ปกครองเรื่องเรียนฟรี หากนักเรียนคนไหนไม่มีเงินเรียนให้แจ้งโดยด่วนเพื่อแก้ปัญหา ด้าน “จุรินทร์” เข้มระบุต่อไป สพท.ต้องให้คำตอบได้ว่าคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จะมีคุณภาพภายในกี่ปี

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานเปิดการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) กล่าวว่า นโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพให้สิทธินักเรียนทุกคน อย่างไรก็ตาม หากนักเรียน ผู้ปกครอง รายใดต้องการสละสิทธิชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน ก็แจงความประสงค์มาที่โรงเรียน เพื่อนำงบประมาณที่สละสิทธิไปช่วยโรงเรียนขนาดเล็กและด้อยโอกาส 600 แห่ง เนื่องจากมีผู้บริหารโรงเรียนบางแห่ง บอกว่า ในส่วนที่นักเรียนสละสิทธิ์ขอนำเงินนั้นมาจ่ายเป็นค่าน้ำค่าได้หรือไม่ ซึ่งตนอยากให้มีจิตสาธารณะ และฝาก ผอ.สพท.ทำความเข้าใจกับผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ปกครอง ว่า เรียนฟรีตามนโยบายของรัฐบาล ว่า ฟรีอย่างมีคุณภาพ ตามมาตรฐานของกระทรวง เพราะหลายคนดูเหมือนว่าไม่ได้ฟรีจริง

นายชัยวุฒิ กล่าวถึงผลสัมฤทธิ์ทางเรียน ว่า ไม่ว่าสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) หรือหน่วยงานทดสอบของต่างประเทศจะประเมินออกมาต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การอ่านคิดวิเคราะห์ ตราบใดเด็กคิดวิเคราะห์ไม่ได้ ก็คงต่ำกว่าเกณฑ์ เพราะฉะนั้น ผอ.สพท.ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง พร้อมกันนี้ ขอฝาก ผอ.สพท.ว่า ให้ดูแลโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนขนาดเล็ก ในพื้นที่ของตนเอง เพราะปัญหาแต่ละแห่งจะแตกต่างกันไป จะต้องเอาใจใส่โรงเรียนเหล่านี้ให้มากขึ้น และต้องหาวิธีแก้ไข หากปล่อยไว้เนิ่นนานเด็กจะสูญเสียโอกาส

ขณะนี้มีกระแสว่า รัฐบาลจะส่งเงินถึงโรงเรียน เพื่อจัดสรรให้ผู้ปกครองซื้อชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียนเดือนพฤษภาคม ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมเงินส่วนนี้ไว้แล้ว รับรองว่าทันก่อนเปิดเทอมแน่นอน

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานปี 2552 ในการประชุมสัมมนา ผอ.สพท.ว่า นโยบายสำคัญที่ผู้อำนวยการ สพท.ทั่วประเทศ จะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ โครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพของรัฐบาล เพื่อให้โรงเรียนทุกแห่งปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แก่ การตรวจสอบฐานข้อมูลนักเรียนให้ถูกต้อง การชี้แจงทำความเข้าใจกับภาคี 5 ฝ่าย ได้แก่ คณะกรรมการโรงเรียน ตัวแทนผู้ปกครอง ตัวแทนนักเรียน ตัวแทนครู และผู้นำชุมชน การเชิญชวนให้นักเรียนที่มีศักยภาพสละสิทธิ์ให้แก่โรงเรียนด้อยโอกาส ส่วนเรื่องตำราเรียนในปีนี้ หลายวิชาที่เนื้อหายังไม่เป็นปัจจุบัน อยู่ระหว่างตรวจสอบและทำใบแทรกเพิ่มเนื้อหาเพื่อให้มีใช้ทันเปิดภาคเรียน

“ควรมีการวางระบบการติดตามการดำเนินการของโรงเรียนต่างๆ อย่างใกล้ชิดและเข้มงวด มีระบบสายด่วนให้ตอบคำถามแก่ผู้ปกครองภายใน 1 วัน เพราะโครงการเรียนฟรีมีคนจับตาอย่างใกล้ชิด”

คุณหญิงกษมา กล่าวกำชับ ผอ.สพท.ดูแลการเก็บเงินบำรุงการศึกษาเพิ่มเติมของโรงเรียน โดยให้โรงเรียนที่เรียกเก็บเงินให้ทำหนังสือขออนุญาตเข้ามายัง สพฐ.อย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ จะได้นำไปเทียบกับปีก่อน หากโรงเรียนใดไม่เคยเรียกเก็บก็ไม่ควรมีการเรียกเก็บในปีนี้ โรงเรียนที่เคยเรียกเก็บควรเก็บน้อยลง เนื่องจากรัฐบาลช่วยสนับสนุนเพิ่มในโครงการเรียนฟรีแล้ว หากเป็นห้องเรียน EP (English Program) ซึ่งจะเก็บมาจ้างครูต่างชาติ ตรงนี้สามารถทำได้ อย่างข้อมูลปีที่ผ่านมา มีโรงเรียน ร้อยละ 90 ไม่มีการเรียกเก็บ มีโรงเรียนประมาณ 300 โรง ซึ่งเรียกเก็บเกินกว่า 1 พันบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลได้มีการจัดสรรเพิ่มก็ควรเก็บน้อยลง

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวถึงนมโรงเรียนว่า อยากให้ ผอ.สพท.เช็กว่า โรงเรียนแห่งไหนมีปัญหาก็ให้บอกผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง คือ ท้องถิ่นที่จัดซื้อ แล้วรีบดำเนินการแก้ไขปัญหา ถ้าพบปัญหาหลายจุด ควรแจ้งให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยทราบด้วย ส่วนเรื่องอาหารกลางวัน อาจได้รับงบประมาณเพิ่มเติมในปีงบประมาณหน้า

สำหรับนโยบายการรับนักเรียน ขอให้ ผอ.สพท.สำรวจนักเรียนที่ตกหล่นไม่ได้เข้าเรียน รวมไปถึงไม่ได้เข้าเรียน เพราะต้องทำงาน หรือตั้งครรภ์ระหว่างเรียน ให้สามารถกลับมาเข้าเรียนได้ เพราะช่วงนี้อาจมีสถานประกอบการบางแห่งปิดกิจการหรือตัดลดคนงาน ซึ่งปีนี้อาจไม่ใช่ปีทองของเศรษฐกิจ แต่จะเป็นปีทองของการกลับมาเข้าเรียน พร้อมกันนี้ ย้ำห้ามโรงเรียนรับเงินแปะเจี๊ยะ

คุณหญิงกษมา ยังฝากเรื่องรอยต่อ นักเรียนเรียน ป.6 จะเรียนไป ม.1 นักเรียน ม.3 จะเรียน ม.4 และนักเรียน ม.6 จะเรียนต่อระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะช่วงที่เด็กจะเลื่อนขึ้นไปเรียนมหาวิทยาลัยแต่นักเรียนมีฐานะยากจนแล้วอยู่ระหว่างการกู้เงิน กยศ.หากมีปัญหาเรื่องค่าเล่าเรียนให้บอก สพฐ.จะรีบแก้ปัญหาดังกล่าวให้ ส่วนเรื่องนักเรียนต่างจังหวัดขายตัว ผอ.สพท.อย่าวางเฉย ปล่อยปะละเลยขอให้ดูเรื่องนี้เป็นพิเศษ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ศธ.กำลังดำเนินการปรับแผนการศึกษาระดับชาติ เพราะรัฐธรรมนูญเปลี่ยน จึงต้องมีการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ขณะนี้ได้มอบหมายให้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)รับไปดำเนินการ เมื่อก่อนเรามีแผนการศึกษาระดับชาติ แต่ไม่มีการศึกษาระดับจังหวัด ต่อไปต้องมีแผนการศึกษาระดับจังหวัด เหตุผลที่ต้องมีแผนระดับจังหวัด เพราะมีโรงเรียนอุนุบาล ประถม มัธยม อาชีวศึกษา อุดมศึกษา วิทยาลัยชุมชน กศน.นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนอยู่ในความดูแลของกระทรวงอื่น จะมีลักษณะต่างคนต่างกำหนดทิศทาง ถึงเวลาที่แต่ละจังหวัดจะเดินหน้าอย่างไร มีการวางแผนร่วมกัน มาดูว่าจะผลิต นักเรียน นักศึกษา ให้สอดคล้องกับงานในท้องถิ่น

“มีแผนการศึกษาจังหวัดยังไม่พอ ต้องมีแผนกลุ่มจังหวัด 19 กลุ่ม โดยนำจังหวัดใกล้เคียงกันมารวมเป็นกลุ่มจังหวัด ซึ่งมอบให้ผู้ตรวจราชการ ทำแผนกลุ่มจังหวัด และระดับจังหวัด มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าคงเห็นแผน”

รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า การศึกษาขั้นพื้นฐาน แยกเป็น ประถม มัธยม แต่ไม่ได้แยกโดยเด็ดขาด แยกแค่ภารกิจ จะมีเขตมัธยม 19 เขต คงต้องมาแก้ปัญหากฎหมาย 3 ฉบับ ระหว่างที่ยังไม่ได้แก้กฎหมาย ต้องปรับวิธีการบริหารงานบุคคล ระหว่างประถมและมัธยม รวมถึงงบประมาณด้วย อย่างไรก็ดี การแยกมัธยมได้มีข้อแลกเปลี่ยน นั่นคือ การศึกษาต้องมีคุณภาพ มีเป้าหมายชัดเจน หากทำไม่ได้เขาต้องรับผิดชอบ พร้อมกันนี้จะปรับลดเขตพื้นที่การศึกษาจาก 185 เขต เหลือ 182 เขต กระทรวงจะกระจายอำนาจ ความรับผิดชอบให้เขตพื้นที่ เพราะฉะนั้นถัดจากนี้ต้องรับผิดชอบงานนโยบาย งานการศึกษา แก้ปัญหาทุกปัญหาในเขตพื้นที่ อย่างนโยบายเรียนฟรี 15 ปี เขตพื้นที่ต้องเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะได้มีการส่งงบประมาณไปยังโรงเรียน พร้อมกันนี้เขตพื้นที่ต้องกำหนดแผน แนวทางการปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อผลักดันไปสู่ความสำเร็จ แต่ส่วนกลางจะติดตามประเมินผลพร้อมทั้งให้คุณให้โทษ

“ต่อไปคุณภาพการศึกษาแต่ละเขตพื้นที่จะต้องมีคำตอบว่า ภายในกี่ปีคุณภาพการศึกษาจะพัฒนาขึ้นเท่าไหร่ จะพัฒนาครูอย่างไรโดยไม่แยกว่าเป็นครูของรัฐบาลหรือเอกชน อีกทั้งต้องมีแผนการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก เด็กตีกัน เด็กพิเศษ เด็กต่างชาติ เป็นต้น ว่า มีแผนแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง หากทำสำเร็จ สพฐ.ต้องพูนบำเหน็จ” นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า รอง ผอ.เขต 11-12 คน ต้องตอบได้ว่าแต่ละคนไหนรับผิดชอบเรื่องอะไร สิ่งเหล่านี้เป็นการพิสูจน์ฝีมือการบริหารของ ผอ.สพท.

นายจุรินทร์ กล่าวถึงการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ว่า สพฐ.เสนอมาแล้ว แต่ขอดูรายละเอียดอีกครั้งว่าอะไรเก็บได้เก็บไม่ได้ แต่ที่เก็บไม่ได้ เช่น คอมพิวเตอร์ ค่ายกิจกรรม เพราะรัฐบาลจ่ายให้แล้วและไม่ต้องการให้มีการเรียกเก็บซ้ำซ้อน อะไรที่รัฐจัดให้แล้วก็ไม่ให้เก็บ ไม่ใช่เก็บตามอำเภอใจ นอกจากนี้โรงเรียนต้องไม่ลิดรอนสิทธิเด็กยากจน อย่างมีเด็ก 10 คน 8 คนผู้ปกครองมีฐานะจ่ายได้ ส่วนอีก 2 คนผู้ปกครองจ่ายไม่ได้ ต้องให้เด็กทั้ง 10 คน มีสิทธิ์เรียนเหมือนกัน

ส่วนห้องเรียนพิเศษ ต้องมีการแจกแจงว่าเก็บเงินเป็นค่าอะไรบ้างจำนวนเท่าไหร่ และส่วนไหนรัฐจ่ายแล้วต้องเก็บลดลงหรือไม่จัดเก็บเลย อย่างครูชาวต่างชาติ คงต้องมีเกณฑ์ว่าจ่ายเท่าไหร่
กำลังโหลดความคิดเห็น