xs
xsm
sm
md
lg

“สมเกียรติ” หวั่นเรียนฟรี 15 ปี สร้างเด็กผีผลาญสมบัติชาติ ศธ.ยันเลข ปชช.กันอยู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วนพรรค ปชป.
“สมเกียรติ” ห่วงนักเรียนผีโผล่ เพราะนโยบายเรียนฟรี 15 ปี สนับสนุนถึง 5 รายการ เป็นเม็ดเงินมหาศาลจูงใจ ร.ร.สร้างเด็กผี วอน ศธ.คาดโทษและกำหนดบทลงโทษรุนแรง เพราะถือเป็นการปล้นทรัพยากรชาติ ขณะที่ ศธ.ยันให้ระบบตัวเลข 13 หลัก และประสานกรมการปกครองตรวจสอบทะเบียนราษฎร กันปัญหาเด็กผี แฉสัมพันธ์ผู้บริหารโรงเรียนกับสำนักพิมพ์ หวั่นพลิกแพลงขายหนังสือเสริมอื่นๆ ให้ผู้ปกครองอีก เปิดช่องให้ร้องเรียนผ่าน กมธ.การศึกษาฯ


เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่อาคารรัฐสภา 3 คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายอภิชาติ การิกาญจน์ ในฐานประธาน กมธ.การศึกษา เป็นประธานการประชุม โดยพิจารณาประเด็นนโยบายเรียนฟรี 15 อย่างมีคุณภาพ ซึ่งมี นางศรีวิการ์ เมฆธวัชชัยกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าชี้แจงในประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้ กมธ.ได้ซักถามถึงแนวปฏิบัติของนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อาทิ การจัดซื้อหนังสือเรียน คุณภาพของหนังสือเรียน การแจกเงินให้ผู้ปกครองนำไปซื้อชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน

นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ที่ประชุมได้แสดงความห่วงใยเกี่ยวกับปัญหาการจัดทำตัวเลขเท็จของจำนวนนักเรียน หรือเด็กผี เพื่อขอใช้สิทธิ์รับเงินตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้เกิดขึ้นมานานแล้วในสังคมไทย โดยเฉพาะในโรงเรียนเอกชนบางแห่ง และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนไม่มาก ดังนั้น ในเวลานี้เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายเรียนฟรีฯ จะทำให้โรงเรียนและผู้ปกครองได้รับเงินในส่วนนี้เป็นจำนวนมาก จึงเป็นแรงจูงใจที่ทำให้โรงเรียนจะสร้างเด็กผีมากขึ้นกว่าเดิม

“ในอดีตเด็กผีจะได้รับเงินอุดหนุนเพียงอย่างเดียว แต่ในปีการศึกษาหน้าจะได้รับเงินทั้ง 5 รายการ ผมจึงคิดว่าเม็ดเงินมหาศาลในส่วนนี้จะเป็นเส้นทางอันตรายของนโยบายเรียนฟรีฯ ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะต้องกำชับเรื่องนี้ไปยังโรงเรียนทุกแห่ง เพื่อคาดโทษไว้ก่อน และควรจะต้องกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนด้วย เพราะถือเป็นการปล้นทรัพยากรของชาติผ่านโรงเรียน” นายสมเกียรติ กล่าว

นอกจากนี้ นายสมเกียรติ ยังกล่าวถึงการจัดซื้อตำราเรียนด้วยว่า ที่ประชุมห่วงใยเกี่ยวกับปัญหาผลประโยชน์จากการสั่งซื้อหนังสือเรียนก็เป็นประเด็นที่รุนแรงไม่ต่างกัน เพราะที่ผ่านมาโรงเรียนจะสร้างความคุ้นเคยในการผูกสัมพันธ์กับสำนักพิมพ์ โดยสำนักพิมพ์จะให้ส่วนลดตั้งแต่ 10-40% ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ก็อาจจะไม่ทิ้งพฤติกรรมเดิม โดยในปีการศึกษาหน้าแม้รัฐบาลจะให้ค่าหนังสือเรียนแล้ว แต่โรงเรียนเหล่านี้ก็จะพลิกแพลงไปซื้อหนังสือประเภทอื่น เพื่อบีบบังคับให้นักเรียน และผู้ปกครองเดือดร้อนอีก ประเด็นนี้จึงจะส่งผลกระทบต่อนโยบายเรียนฟรีฯ และความนิยมของรัฐบาล จึงอยากให้จับตาโรงเรียนขนาดใหญ่ที่บังคับให้นักเรียนซื้อแบบฝึกหัด หนังสือเสริมประสบการณ์ และหนังสืออ่านประกอบที่นอกจากหนังสือเรียนหลัก

“ค่าหนังสือเรียนที่รัฐจัดให้จะครอบคลุมทุกอย่างแล้ว ทั้งแบบเรียน และแบบฝึกหัด จึงไม่จำเป็นต้องให้นักเรียนซื้ออีก ส่วนหนังสือประเภทอื่นทางโรงเรียนจะต้องจัดหาให้เด็ก เพราะโรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนอยู่แล้ว ทั้งนี้ ในเดือน พ.ค. หากมีโรงเรียนใดให้นักเรียนซื้อแบบฝึกหัด หรือหนังสือเสริมประสบการณ์ สามารถร้องเรียนมาได้ที่ กมธ.การศึกษา และจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อรัฐสภา และ ศธ.ต่อไป เพื่อให้ทราบว่าโรงเรียนเหล่านี้ยังอาศัยช่องทำลายนโยบายของการเรียนฟรี ให้ผู้ปกครองรู้สึกว่าฟรีไม่จริงในเรื่องหนังสือเรียนทั้งที่รัฐจัดสรรให้ไปแล้ว” นายสมเกียรติ กล่าว

นายสมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า การตั้งภาคี 4 ฝ่ายขึ้นมาพิจารณาการจัดซื้อหนังสือเรียนนั้น จะช่วยลดปัญหาการฮั้วกันได้ แต่จะต้องสะท้อนผ่านการประชุมและลงมติร่วมกัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดกรณีที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ร่วมกับฝ่ายบริหารของโรงเรียนซื้อสำนักพิมพ์ใดสำนักพิมพ์หนึ่ง เพื่อหาผลประโยชน์ร่วมกัน จากนั้นสำนักพิมพ์อื่นก็จะมาร้องเรียนทำให้นโยบายเรียนฟรีฯ เกิดความชุลมุนในเรื่องผลประโยชน์ ทั้งนี้ นโยบายเรียนฟรีฯ ซึ่งใช้เม็ดเงินเกือบ 2 หมื่นล้าน จะเป็นนโยบายแห่งผลประโยชน์ของวงการศึกษา โดยที่ผ่านมาการทุจริตเรื่องการซื้อหนังสือเรียนก็เกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นขององค์การค้าของคุรุสภา หรือสำนักพิมพ์อื่นๆ ประมาณ 7-8 แห่ง ซึ่งจะมีการแข่งขันกันสูงมากในเรื่องของผลประโยชน์ และเม็ดเงินที่ผ่านหนังสือเรียน

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายให้ใช้หนังสือยืมเรียนนั้น ในแต่ละปีหนังสือที่นักเรียนนำไปใช้จะต้องมีการชำรุด ฉีกขาดอย่างแน่นอน ซึ่งการชำรุดของหนังสือนี้ก็จะต้องมีการจัดซื้อใหม่ และอาจจะเป็นช่องทางให้เกิดทุจริตคอร์รัปชันได้ จึงอยากให้ ศธ.เปิดเผยตัวเลขประสิทธิภาพในการดูแลหนังสือยืมเรียนในแต่ละปีให้สาธารณชนได้ทราบ เพราะตนคาดการณ์ว่าจะมีหนังสือยืมเรียนที่ใช้การได้ในปีต่อไปไม่ถึง 20%

นายชัยพฤกษ์ เสรีรัตน์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กล่าวว่า อีกประมาณ 2 สัปดาห์ สพฐ.จะให้โรงเรียนในสังกัดชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องนโยบายเรียนฟรี 15 ปี กับผู้ปกครองทั่วประเทศว่านักเรียนจะได้รับการสนับสนุน 5 เรื่อง คือ ค่าเล่าเรียน ชุดนักเรียน หนังสือเรียน ค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและ อุปกรณ์การเรียนเพื่อให้ผู้ปกครองเข้าใจในนโยบายเรียนฟรี นอกจากนี้ สพฐ.กำลังให้โรงเรียนทั่วประเทศในสังกัดประมาณ 3 หมื่นกว่าแห่งไปสำรวจว่าจะมีนักเรียนคนใดบ้างที่สละสิทธิ์ไม่ขอรับการสนับสนุนในนโยบายเรียนฟรีโดยจะได้ข้อมูลประมาณวันที่ 6 มีนาคมนี้

“เรื่องของเด็กนักเรียนที่ไม่ได้เป็นนักเรียนแต่มีการนำชื่อเข้ามาเป็นนักเรียนผีตามที่เป็นห่วงกันนั้น สพฐ.มีระบบการตรวจสอบด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักอยู่แล้ว ส่วนเด็กที่ไม่มีเลข 13 หลัก เช่น เด็กชายขอบ สพฐ.ได้กำหนดรหัสพิเศษให้แล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อความมั่นใจในเรื่องนี้อธิบดีกรมการปกครองได้รับปากที่จะให้สำนักทะเบียนราษฏร์ช่วยตรวจสอบเลข 13 หลักอีกครั้งหนึ่ง”นายชัยพฤกษ์ กล่าว

นายประกอบ รัตนพันธ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษก กมธ.การศึกษา กล่าวว่า สิ่งที่ตนเป็นห่วงในนโยบายเรียนฟรี 15 ปี คือ การที่จะมีการนำเด็กผีเข้ามาในรายชื่อโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนบางแห่งที่ทราบมาว่ามีการตั้งโรงเรียนขึ้นมาเพื่อหาผลประโยชน์จากการศึกษา แม้ ศธ.จะระบุว่าสามารถตรวจสอบหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก แต่ก็ยังมีช่องทางของรายชื่อเด็กผีเพราะโรงเรียนเหล่านี้จะนำชื่อนักเรียนมาใส่ไว้และจ่ายเงินบางส่วนให้เด็กแม้จะไม่ได้มาเรียนก็ตาม ซึ่งโรงเรียนกลุ่มนี้รับเด็กเข้ามาใครจะเรียนไม่เรียนก็ได้จบออกมาก็ไม่มีคุณภาพ

ด้านนางเกื้อกุล เตือนกุล นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่าปัญหาเด็กผีในโรงเรียนเอกชนนั้น น่าจะมีน้อยมากและโรงเรียนกลุ่มนี้ก็ต้องเก่งมากๆ ซึ่งในช่วงปี 2550-2551 ทางสมาคมโรงเรียนเอกชนศึกษาไม่ได้รับการร้องเรียนเข้ามาเลยเกี่ยวกับเด็กผี

นายสมพันธ์ ทองสมัคร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะที่ปรึกษา กมธ.การศึกษาฯ กล่าวว่า สิ่งที่ตนเป็นห่วงและอยากให้ ศธ.ระมัดวัง เพราะทราบข้อมูลมาว่ามีสำนักพิมพ์เอกชนหลายแห่งได้พิมพ์หนังสือเรียนที่สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 เอาไว้แล้วและต้องการจะนำมาขายใช้ในปีการศึกษา2552 นี้ ดังนั้น จึงอยากให้มีการปรับปรุงเนื้อหาหนังสือเรียนที่ใช้กันอยู่เพื่อให้ใช่ต่อไปได้อีก

นายสุชาติ วงศ์สุวรรณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สพฐ.กล่าวว่า หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน2551จะใช้กับโรงเรียนทั่วประเทศในปีการศึกษา 2553 โดยในส่วนของหนังสือเรียนระหว่างนี้จะอนุโลมให้ใช้หนังสือเรียนตามหลักสูตร 2544 ไปก่อนเพราะเนื้อหาสาระไม่ได้แตกต่างกันและในปี 2553 จะใช้หนังสือเรียนตามหลักสูตรใหม่ ซึ่งในเดือนมีนาคมนี้ สพฐ.จะเริ่มตรวจหนังสือเรียนตามหลักสูตรใหม่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 และระดับชั้น ม.1และ ม.4

นายพีระ พนาสุภณ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กมธ.การศึกษาฯ กล่าวว่าขณะนี้สำนักพิมพ์เอกชนหลายแห่งมีความพร้อมที่จะจัดพิมพ์หนังสือเรียนตามหลักสูตรใหม่เพื่อมาใช้ในปีการศึกษา 2551 นี้แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายของ สพฐ.ว่า จะให้จัดพิมพ์ออกมาหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนตัวในฐานะที่มีสำนักพิมพ์อยู่ไม่อยากให้โรงเรียนต้องใช้หนังสือเก่า และพร้อมที่จะพิมพ์หนังสือตามหลักสูตรใหม่ออกมาแม้ว่าจะมีหนังสือหลักสูตร 2544 ค้างสต๊อกอยู่จำนวนมากเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่า นโยบายที่จะให้ใช้หนังสือในหลักสูตร 2544 นั้นจะเป็นประโยชน์กับสำนักพิมพ์ที่มีหนังสือเก่าค้างสต๊อกจำนวนมาก

ด้านนายอภิชาติ การิกาญจน์ ประธาน กมธ.การศึกษา สภาผู้แทนราษฏร กล่าวภายหลังการประชุม ว่า จากการรับฟังการชี้แจงของ ศธ.นโยบายเรียนฟรี 15 ปี มีความลงตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดำเนินการในส่วนที่โรงเรียนต้องรับผิดชอบ เช่น ค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมการให้เกิดความพร้อมในทางปฏิบัติ ส่วนปัญหาเรื่องหนังสือเรียนที่จะจัดซื้อให้สถานศึกษาตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพนั้นมีเรื่องแทรกซ้อนหลายเรื่องระหว่างการประกาศใช้หลักสูตรใหม่ของปีการศึกษา 2551 แต่ยังไม่มีตำราเรียนที่พร้อมใช้กับหลักสูตรใหม่แต่อย่างใด ทำให้ยังต้องใช้หนังสือเรียนของหลักสูตร 2544 อีกช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งตนพอใจกับการชี้แจงของ ศธ.


กำลังโหลดความคิดเห็น