นักวิชาการติง! รัฐแจกเงินเรียนฟรี พ่อแม่จะนำเงินใช้ผิดวัตถุประสงค์ หวั่นผู้บริหารโรงเรียนรวมหัวกับผู้ประกอบการซื้อ-ขายตำราเรียนและแบบเรียนเก่า กำชับ ศธ.วางระบบตรวจสอบให้เข้มแข็ง พร้อมเปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียนให้หลากหลาย
รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กรณีกระทรวงศึกษาธิการมีมติแจกเงินสดให้กับผู้ปกครองเพื่อนำเงินไปซื้อชุดนักเรียน ตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปีของรัฐบาลว่า หลังจากเสียเวลาประชาพิจารณ์ก็กลับไปใช้วิธีการเดิมๆ ที่ไม่ซับซ้อนแต่ไม่รับผิดชอบ คือการแจกเงิน ซึ่งวิธีนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ ในช่วงเปิดเทอมซึ่งเป็นช่วงที่คาดว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ผู้ปกครองก็จะมีเงินจากนโยบายเรียนฟรี 1,000 บาท รวมกับเงินช่วยผู้มีรายได้น้อยอีก 2,000 บาท รวม 3,000 บาท ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนตอนเปิดเทอมได้ แต่ข้อเสียคือ จะมีประชาชนจำนวนหนึ่งเมื่อได้รับเงินแล้วนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อนโยบายเรียนฟรี 15 ปี คือ การซื้อของที่ไม่มีคุณภาพ เช่น ชุดนักเรียน ยางลบ ดินสอ ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ทั้งอาจเกิดปัญหานำใบเสร็จปลอมมาหลอกทางการอีก
ส่วนในระดับกระทรวงก็ขาดการติดตามตรวจสอบ ซึ่งจะส่งผลให้เงินรั่วไหลไม่โปร่งใส โดยเฉพาะการเทขายหนังสือเรียนหรือตำราเก่า ซึ่งแม้จะมีคณะกรรมการตัดสินใจ 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง นักเรียน แต่ผู้บริหารมักจะมีเทคนิคต่างๆ และหากรวมหัวกับผู้ประกอบการรับค่าตอบแทน 20-30% เพื่อซื้อหนังสือเก่า ที่เหลืออีก 3 ฝ่ายก็ไม่มีทางจะคัดค้านได้ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะต้องวางระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง เช่น เปิดรับเรื่องร้องเรียนทางเว็บไซด์ ทางไปรษณีย์ หรือให้กลุ่มอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน นักการเมืองท้องถิ่น ตรวจสอบ นอกจากนี้สิ่งที่ต้องระวังและคาดว่าจะเกิดขึ้นแน่นอนคือ จำนวนเด็กผี ที่โผล่ขึ้นเพื่อรับเงินค่าหัวจากรัฐ ซึ่งเรื่องนี้ ศธ.ให้ความสนใจวางระบบตรวจสอบน้อยมาก
อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ ศธ.ควรทำควบคู่กับการแจกเงินคือ สร้างจิตสำนึกของสังคมในวงกว้าง โดยเฉพาะการสร้างจิตสำนึกให้พ่อแม่ตระหนักว่าเงินที่ได้รับเป็นเงินสำหรับอนาคตของลูก ไม่ควรนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น ซื้อเหล้า ของใช้ที่ไม่จำเป็น ส่วนผู้เกี่ยวข้องก็อย่าหาเงินหรือหาเปอร์เซ็นต์จากเงินส่วนนี้ เพื่อให้เงินเรียนฟรี 15 ปี ถึงโรงเรียนและเด็กอย่างแท้จริง
“ทุกปีก่อนเปิดเทอม พ่อแม่จะต้องเตรียมเงินสำหรับการเรียนของลูก อย่างน้อย 2,000 บาท สำหรับปีนี้เมื่อรัฐให้การช่วยเหลือ 1,000 บาท พ่อแม่ก็ควรนำเงินที่เตรียมไว้ต่อยอดสิ่งที่รัฐบาลให้มา ซึ่งจะเป็นเพิ่มโอกาสให้กับลูกมากขึ้น และเกิดความรู้สึกร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับประชาชนว่า การเรียนฟรี 15 ปี เป็นความร่วมมือของทั้ง 2 ฝ่าย” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว