xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” สั่ง สพฐ.สางปัญหาตำราเรียนล้าสมัย สนพ.ขายแบบเรียนหลักสูตรใหม่ใน ร.ร.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.ศธ.
“จุรินทร์” มอบ สพฐ.ประสานสำนักพิมพ์หนังสือเอกชนปรับเนื้อหาตำราเรียนให้ทันสมัย หากมีตำราเรียนล้าสมัยจำหน่ายในโรงเรียน ถือเป็นความบกพร่องของ สพฐ.ระบุ ปีการศึกษาหน้ายังใช้ตำราเรียนเดิม หากมีตำราเรียนใหม่หลุดไปจำหน่ายในสถานศึกษา สพฐ.ต่องรับผิดชอบเพราะยังไม่อนุญาตให้ใช้ตำราเรียนหลักสูตรใหม่

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่าสำนักพิมพ์เอกชนบางแห่งได้นำหนังสือเรียนที่ล้าสมัยมาจำหน่ายให้แก่สถานศึกษา เพื่อใช้ในปีการศึกษา 2552 นั้น ตนได้สอบถามเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แล้ว แต่คงต้องยอมรับว่ามีหนังสือจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะในวิชาสังคมศึกษา ที่เนื้อหาสาระปรับเปลี่ยนไม่ทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น 1 ปีเปลี่ยนไปแล้วถึง 3 รัฐบาล รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ได้เปลี่ยนเป็นรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นต้น ดังนั้น ตนจึงได้มอบหมายให้ สพฐ.ไปประสานกับทางสำนักพิมพ์เอกชน ให้ดำเนินการปรับปรุงข้อมูล ในตำราให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบัน โดยอาจะพิมพ์ใบแทรก แต่ถ้าหากสำนักพิมพ์เอกชนไม่ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้ทันสมัย ก็เป็นหน้าที่ของ สพฐ.ที่จะพิจารณาว่าตำราเรียนเหล่านั้นเหมาะสมที่จะยังคงอยู่ในบัญชีรายชื่อที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในโรงเรียนในปีการศึกษา 2552 หรือไม่

ต่อข้อถามว่า ตามระเบียบปฏิบัติ สพฐ.จะต้องตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องของหนังสือเรียนเป็นระยะๆ แต่เมื่อมีหนังสือที่ข้อมูลล้าสมัยเข้าไปขายในโรงเรียนได้ โดยไม่มีใบแทรกแก้ไขข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน จะถือเป็นความบกพร่องของ สพฐ.ที่ไม่มีการตรวจสอบหนังสือเรียนหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ให้เวลา สพฐ.ไปประสานกับสำนักพิมพ์เอกชนเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว แต่หากยังไม่มีการปรับปรุงใดๆ ก็จึงค่อยมาพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของหนังสือเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 หรือหลักสูตรใหม่นั้น ตนได้รับรายงานจาก สพฐ.ว่า ยังไม่มีการอนุญาตให้สำนักพิมพ์เอกชนรายใดจัดพิมพ์หนังสือเรียนตามหลักสูตรใหม่ หากมีหนังสือใหม่ หลุดเข้าไปจำหน่ายในสถานศึกษาก็เป็นอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของ สพฐ.โดยตรงที่ต้องไปตรวจสอบ เพราะขณะนี้ยังไม่มีการอนุญาตให้ใช้หนังสือเรียนตามหลักสูตรใหม่ในปีการศึกษา 2552 แต่จะให้ใช้หนังสือเรียนตามหลักสูตรใหม่ได้ในปีการศึกษา 2553 เป็นต้นไป โดยในระดับ ป.1ถึง ป.6 และ ม.1 และ ม.4 ซึ่งขณะนี้ตนได้มอบหมายให้ สพฐ.เพิ่มคณะกรรมการตรวจต้นฉบับหนังสือเรียนตามหลักสูตรใหม่ของสำนักพิมพ์เอกชนที่จะเริ่มส่งต้นฉบับเข้ามาให้ตรวจในปลายเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น เพื่อจะได้ตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วและจัดพิมพ์แล้วเสร็จทันในปีการศึกษา 2553

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับโรงเรียนในโครงการนำร่องใช้หลักสูตรใหม่ ในปีการศึกษา 2552 จำนวน 555 โรงเรียนทั่วประเทศนั้น แม่ว่าโรงเรียนในกลุ่มนี้จะใช้หนังสือเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 หรือหลักสูตรปัจจุบันนั้น แต่ สพฐ.จะต้องประสานงานกับสำนักพิมพ์เอกชนให้ปรับปรุงเนื้อหาให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ในปัจจุบันโดยอาจจะทำเป็นใบแทรกเช่นเดียวกัน เพราะเรื่องนี้เป็นข้อตกลงกับโรงเรียนไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า นำร่องใช้หลักสูตรใหม่ แต่ใช้หนังสือเรียนตามหลักสูตรปัจจุบัน เพียงแต่ว่าครูก็จะต้องไปอบรมวิธีการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตรใหม่

“สพฐ.ก็ต้องทำเอกสารประกอบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับหลักสูตรใหม่ เพิ่มเติมให้แก่ครู แม้ว่าจะใช้หนังสือเรียนตามหลักสูตรเก่า แต่เนื้อหาก็จะไม่แตกต่างจากหลักสูตรใหม่ เนื่องจากหลักสูตรปัจจุบันและหลักสูตรใหม่ไม่ได้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ต่างการเพียงหลักสูตรปัจจุบันหนังสือที่ใช้ร่วมกันเป็นช่วงชั้น แต่หลักสูตรใหม่จะแยกเป็นชั้นปี อย่างไรก็ตามจะมีการดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษต่อไป”รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น