“สัมพันธ์ ทองสมัคร” หนุน ศธ.ให้โรงเรียนจัดซื้อตำราเรียนตามหลักสูตรเดิม ยกเว้นโรงเรียนนำร่องที่ทดลองใช้หลักสูตรใหม่สอนเด็กให้ซื้อตำราใหม่ได้ ชี้ที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้เพราะคนพิมพ์หนังสือขายออกมาทะเลาะกันเอง ระบุสำนักพิมพ์บางแห่งพิมพ์ตำราเรียนใหม่ไว้รอแล้ว เกรงขายไม่ได้จะขาดทุน แฉ สนพ.ใหญ่ๆ บางแห่งพยายามสอดแทรกเข้าเป็น กมธ.การศึกษาเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง-จี้รัฐทบทวนอุดหนุน ร.ร.ปริยัติธรรมด้วย เพราะบางแห่งมีเณรเรียนถึง 200-300 รูป สบง จีวร และภัตตาหารไม่เพียงพอ แม้มีคนทำบุญ
นายสัมพันธ์ ทองสมัคร ที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการจัดซื้อตำราเรียนตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพว่า ขณะนี้มีปัญหาถกเถียงกันว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรให้โรงเรียนจัดซื้อตำราเรียนตามหลักสูตรเดิม พ.ศ.2544 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือให้ซื้อตำราเรียนตามหลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2550 ซึ่งจะเริ่มใช้จริงในปีการศึกษา 2553 หรือปีหน้า โดยขณะนี้ตำราเรียนตามหลักสูตรใหม่ที่สำนักพิมพ์ต่างๆ จะจัดพิมพ์นั้น อยู่ระหว่างตรวจเนื้อหาหนังสือจาก ศธ.อยู่ อย่างไรก็ตาม หนังสือเรียนไม่ใช่ตัวจักรสำคัญที่สุดสำหรับการศึกษาในยุคปัจจุบัน แต่เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากความรู้ต่างๆ ไม่ได้มีเฉพาะในหนังสือเรียน ซึ่งตนเห็นว่าหนังสือเรียนตามหลักสูตรเก่ายังสามารถใช้ได้อีกประมาณ 1-2 ปี ส่วนหนังสือเรียนตามหลักสูตรใหม่ที่จะใช้ในปีนี้มีเฉพาะโรงเรียนที่ทดลองใช้หลักสูตรใหม่นำร่องไม่กี่ร้อยแห่ง
“ปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่ขณะนี้เกิดจากสำนักพิมพ์ที่ผลิตตำราแข่งขันกัน โดยมีสำนักพิมพ์บางแห่งที่เล็งว่าในปีนี้จะมีการใช้แบบเรียนตามหลักสูตรใหม่อย่างแน่นอน จึงพิมพ์ตำราเรียนไว้รอเป็นจำนวนมาก ขณะที่โรงเรียนหลายแห่งมีตำราเรียนหลักสูตรเดิมที่ใช้ได้อยู่โดยไม่ต้องซื้อใหม่ และสามารถใช้ได้ตลอดปีการศึกษาหน้าเป็นการประหยัด หรือหากมีการปรับมาใช้หลักสูตรใหม่ ผมก็เชื่อว่าตำราเรียนเดิมยังสามารถนำมาใช้สอนเด็กได้ โดยครูผู้สอนต้องปรับปรุงข้อมูลบางอย่างให้ทันเหตุการณ์ขึ้น หรืออาจจะใช้ตำราเก่าควบคู่กับตำราใหม่สอนเด็กก็ได้ ปัญหาเรื่องนี้เกิดจากคนพิมพ์ตำราที่ออกมาทะเลาะกันเท่านั้น เพราะมีสำนักพิมพ์บางแห่งพิมพ์ตำรารอไว้และเกรงว่าจะขาดทุน ซึ่งสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ บางแห่งพยายามสอดแทรกคนของตัวเข้ามาเป็นกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎรชุดต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก และเป็นประโยชน์ต่อตนเองในการดำเนินธุรกิจ”นายสัมพันธ์ กล่าว
นอกจากนี้ นายสัมพันธ์ยังเสนอแนะด้วยว่า รัฐบาลประกาศนโยบายเรียนฟรี 15 ปีนั้นควรครอบคลุมถึงสามเณรที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมด้วย เนื่องจากสามเณรก็คือเด็กและเยาวชนของชาติเช่นกัน เพราะบางครอบครัวอาจมีปัญหาด้านค่าใช้จ่าย หรือเด็กอาจมีปัญหา เช่น ติดยาเสพติด พ่อแม่จึงส่งลูกมาเล่าเรียนในโรงเรียนปริยัติธรรม หรือส่งมารับการบำบัดกับทางวัด แต่รัฐบาลไม่ได้พูดถึงสามเณรกลุ่มนี้
“แม้ว่าพุทธศาสนิกชนจะทำบุญ ใส่บาตรทุกวัน และโรงเรียนปริยัติธรรมได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐอยู่แล้ว แต่โรงเรียนปริยัติธรรมบางแห่งมีพระภิกษุ สามเณรอยู่ถึง 200-300 รูป สบง จีวร หรือภัตตาหารไม่เพียงพอ บางวัดต้องซื้อข้าวสารมาหุงกันเอง ดังนั้น รัฐบาลจึงควรพิจารณาให้การอุดหนุนการศึกษาแก่สามเณรโรงเรียนปริยัติธรรม สังกัดสำนักพระพุทธศาสนาเพิ่มเติมด้วย ซึ่งในอดีตที่ยังไม่ได้ตั้งสำนักพระพุทธศาสนา โรงเรียนปริยัติธรรมอยู่ในสังกัด ศธ. ก็จะได้รับงบประมาณด้านการศึกษาด้วย ดังนั้น รัฐจึงควรทบทวนให้การอุดหนุนโรงเรียนปริยัติธรรมด้วย” นายสัมพันธ์กล่าว
นายสัมพันธ์ ทองสมัคร ที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการจัดซื้อตำราเรียนตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพว่า ขณะนี้มีปัญหาถกเถียงกันว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรให้โรงเรียนจัดซื้อตำราเรียนตามหลักสูตรเดิม พ.ศ.2544 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือให้ซื้อตำราเรียนตามหลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2550 ซึ่งจะเริ่มใช้จริงในปีการศึกษา 2553 หรือปีหน้า โดยขณะนี้ตำราเรียนตามหลักสูตรใหม่ที่สำนักพิมพ์ต่างๆ จะจัดพิมพ์นั้น อยู่ระหว่างตรวจเนื้อหาหนังสือจาก ศธ.อยู่ อย่างไรก็ตาม หนังสือเรียนไม่ใช่ตัวจักรสำคัญที่สุดสำหรับการศึกษาในยุคปัจจุบัน แต่เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากความรู้ต่างๆ ไม่ได้มีเฉพาะในหนังสือเรียน ซึ่งตนเห็นว่าหนังสือเรียนตามหลักสูตรเก่ายังสามารถใช้ได้อีกประมาณ 1-2 ปี ส่วนหนังสือเรียนตามหลักสูตรใหม่ที่จะใช้ในปีนี้มีเฉพาะโรงเรียนที่ทดลองใช้หลักสูตรใหม่นำร่องไม่กี่ร้อยแห่ง
“ปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่ขณะนี้เกิดจากสำนักพิมพ์ที่ผลิตตำราแข่งขันกัน โดยมีสำนักพิมพ์บางแห่งที่เล็งว่าในปีนี้จะมีการใช้แบบเรียนตามหลักสูตรใหม่อย่างแน่นอน จึงพิมพ์ตำราเรียนไว้รอเป็นจำนวนมาก ขณะที่โรงเรียนหลายแห่งมีตำราเรียนหลักสูตรเดิมที่ใช้ได้อยู่โดยไม่ต้องซื้อใหม่ และสามารถใช้ได้ตลอดปีการศึกษาหน้าเป็นการประหยัด หรือหากมีการปรับมาใช้หลักสูตรใหม่ ผมก็เชื่อว่าตำราเรียนเดิมยังสามารถนำมาใช้สอนเด็กได้ โดยครูผู้สอนต้องปรับปรุงข้อมูลบางอย่างให้ทันเหตุการณ์ขึ้น หรืออาจจะใช้ตำราเก่าควบคู่กับตำราใหม่สอนเด็กก็ได้ ปัญหาเรื่องนี้เกิดจากคนพิมพ์ตำราที่ออกมาทะเลาะกันเท่านั้น เพราะมีสำนักพิมพ์บางแห่งพิมพ์ตำรารอไว้และเกรงว่าจะขาดทุน ซึ่งสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ บางแห่งพยายามสอดแทรกคนของตัวเข้ามาเป็นกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎรชุดต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก และเป็นประโยชน์ต่อตนเองในการดำเนินธุรกิจ”นายสัมพันธ์ กล่าว
นอกจากนี้ นายสัมพันธ์ยังเสนอแนะด้วยว่า รัฐบาลประกาศนโยบายเรียนฟรี 15 ปีนั้นควรครอบคลุมถึงสามเณรที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมด้วย เนื่องจากสามเณรก็คือเด็กและเยาวชนของชาติเช่นกัน เพราะบางครอบครัวอาจมีปัญหาด้านค่าใช้จ่าย หรือเด็กอาจมีปัญหา เช่น ติดยาเสพติด พ่อแม่จึงส่งลูกมาเล่าเรียนในโรงเรียนปริยัติธรรม หรือส่งมารับการบำบัดกับทางวัด แต่รัฐบาลไม่ได้พูดถึงสามเณรกลุ่มนี้
“แม้ว่าพุทธศาสนิกชนจะทำบุญ ใส่บาตรทุกวัน และโรงเรียนปริยัติธรรมได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐอยู่แล้ว แต่โรงเรียนปริยัติธรรมบางแห่งมีพระภิกษุ สามเณรอยู่ถึง 200-300 รูป สบง จีวร หรือภัตตาหารไม่เพียงพอ บางวัดต้องซื้อข้าวสารมาหุงกันเอง ดังนั้น รัฐบาลจึงควรพิจารณาให้การอุดหนุนการศึกษาแก่สามเณรโรงเรียนปริยัติธรรม สังกัดสำนักพระพุทธศาสนาเพิ่มเติมด้วย ซึ่งในอดีตที่ยังไม่ได้ตั้งสำนักพระพุทธศาสนา โรงเรียนปริยัติธรรมอยู่ในสังกัด ศธ. ก็จะได้รับงบประมาณด้านการศึกษาด้วย ดังนั้น รัฐจึงควรทบทวนให้การอุดหนุนโรงเรียนปริยัติธรรมด้วย” นายสัมพันธ์กล่าว