xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาการศึกษาชายแดนใต้ แก้ไม่ได้ไฟใต้ไม่ดับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ โดยคีตฌาณ์ ลอยเลิศ

ไฟใต้ที่เกิดขึ้นจากการก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลาบางอำเภอ ซึ่งยืดเยื้อมาหลายปี ผ่านมาหลายรัฐบาล และยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ดังกล่าวอย่างมาก

จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ตามที่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมอบหมาย เพื่อจัดทำข้อเสนอนโยบายการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ ได้พบปัญหาด้านการศึกษาหลายประการ

เริ่มจากปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาที่พบว่านักเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ระดับชั้น ม.3 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากการทดสอบของสำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ต่ำกว่าร้อยละ 50 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ขณะที่ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต ในปีการศึกษา 2550 ของชั้น ม.6 ก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศทุกวิชา โดยคะแนนที่ออกมา 3 จังหวัดชายแดนใต้อยู่ในอันดับรั้งท้ายของประเทศ

นอกจากนี้ โรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 200 แห่ง ก็ไม่ผ่านการรับรองจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เนื่องมาจากความไม่สงบในพื้นที่ ทำให้นักเรียนและครูไม่มีความปลอดภัยในการมาโรงเรียน ขณะที่เด็กนักเรียนในช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-3) ในปี 2550 มีเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ถึงร้อยละ 30.82 เนื่องจากเด็กมุสลิมส่วนหนึ่งไม่ต้องการเรียนภาษาไทย แต่ต้องการมีทักษะการเรียนภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอาหรับ ส่งผลให้เด็กย้ายออกจากโรงเรียนสามัญไปไปเข้าเรียนปอเนาะแทน

สำหรับปัญหาด้านครูและบุคลากรทางการศึกษา พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีครูแสดงความจำนงขอย้ายออกนอกพื้นที่ถึง 1,500 คน โดยร้อยละ 70 ของครูกลุ่มนี้สอนวิชาหลัก 4 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนครูอย่างหนัก แม้จะจ้างครูอัตราจ้างเข้ามาทดแทนแต่ความรู้และประสบการณ์ของครูอัตราจ้างที่ยังไม่มากพอจึงไม่สามารถทดแทนกันได้ อีกทั้งนโยบายดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อโรงเรียนเอกชน เนื่องจากครูโรงเรียนเอกชนส่วนหนึ่งลาออกไปสมัครงานในโรงเรียนของรัฐ

นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้เรียนในสถาบันปอเนาะไม่สามารถเทียบโอนวุฒิการศึกษาได้ เนื่องจากเน้นการเรียนคัมภีร์อัล-กุรอาน และภาษาอาหรับ ซึ่งแนวทางและวิธีการสอนไม่มีการกำหนดตายตัวขึ้นอยู่กับโต๊ะครูเป็นหลัก ดังนั้น ปอเนาะส่วนใหญ่จึงไม่มีหลักสูตรแน่นอน และไม่มีการวัดผลที่เป็นระบบ ส่งผลให้ผู้เรียนที่จบจากสถาบันปอเนาะส่วนใหญ่ต้องไปศึกษาต่อต่างประเทศ

ประกอบกับที่ผ่านมา รัฐมีนโยบายให้เปิดโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจำนวนมาก ทำให้เด็กไทยพุทธและเด็กไทยมุสลิม ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาขึ้นไปแยกกันเรียนคนละโรงเรียน โดยในระดับประถมศึกษาเด็กไทยพุทธ และเด็กไทยมุสลิม ยังเรียนร่วมกันถึง ร้อยละ 70 แต่ในระดับมัธยมศึกษาซึ่งเป็นช่วงสำคัญในการปลูกฝังความคิด เด็กไทยพุทธ และเด็กไทยมุสลิม แยกกันเรียนถึงร้อยละ 70

ที่สำคัญกว่านั้น คือ สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนไม่มีหน่วยงานในส่วนภูมิภาคดูแลรับผิดชอบโรงเรียนเอกชนโดยตรง ส่งผลให้โรงเรียนเอกชนทั่วไป โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถานศึกษาปอเนาะและ ตาดีกา ขาดการดูแลให้คำแนะนำช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเพียงพอและทันการณ์ แม้ว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จะให้อำนาจสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในการดูแล แต่ก็ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง

ส่วนเรื่องการอุดหนุนและสนับสนุนงบประมาณ พบปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน โดยโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่เป็นมูลนิธิจะได้รับการอุดหนุนร้อยละ 100 ขณะที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามอื่นๆ ได้รับการอุดหนุนร้อยละ 70 นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างครูที่สอนวิชาสามัญ และครูที่สอนศาสนาอย่างเดียว เนื่องจากรัฐอุดหนุนโรงเรียนที่สอนควบวิชาสามัญด้วยค่าใช้จ่ายรายหัวผู้เรียน แต่ไม่ได้ให้การอุดหนุนสำหรับครูผู้สอนศาสนาเพิ่มเติมโดยใช้งบประมาณร่วมกัน แม้ว่าในทางปฏิบัติโรงเรียนจะพยายามจัดสรรให้ครูที่สอนศาสนาอิสลามด้วย แต่หลายแห่งไม่สามารถจัดสรรได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามอย่างเดียว ซึ่งได้รับการอุดหนุนครูผู้สอนตามขนาดโรงเรียนเท่านั้น

ขณะที่การตรวจสอบการอุดหนุนงบ ก็ยังมีจุดอ่อนอีกมาก เพราะไม่มีการตรวจสอบระหว่างปีว่ามีการลาออกกลางคันหรือไม่ และแม้จะตรวจสอบโดยเลขประจำตัว 13 หลัก แต่ในทางปฏิบัติมีการตั้งชื่อและนามสกุลซ้ำกันจำนวนมาก แต่ไม่มีการตรวจสอบรายชื่อเทียบกับเลขประจำตัวประชาชนว่ามีตัวตนจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการอุดหนุนงบให้สถานศึกษาเอกชนนั้น ฝ่ายการศึกษา กับ ฝ่ายความมั่นคง ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน โดยฝ่ายการศึกษาเห็นว่า งบให้สถานศึกษาเอกชนเป็นงบที่จำเป็นต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และงบไม่เพียงพอ ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงเห็นว่างบประมาณที่รัฐให้สถานศึกษาเอกชนมีจำนวนมาก แต่ก็ไม่เกิดการพัฒนาและเห็นว่าควรทบทวนโยบายดังกล่าว

ส่วนการจัดสรรทุนการศึกษาในพื้นที่ มีจำนวนน้อยมากเพียงปีละประมาณ 500 ทุนต่อระดับช่วงชั้น ในขณะที่แต่ละปีมีเด็กเรียนมัธยมศึกษาเป็นแสนคน ซึ่งฝ่ายความมั่นคงได้ตั้งข้อสังเกตว่า เยาวชนที่รัฐส่งเสริมยังมีน้อยมากและไม่ทันต่อการพัฒนาพื้นที่ ขณะที่การส่งเสริมอาชีพก็ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต บางอาชีพไม่ตรงตามความต้องการของท้องถิ่น และการแนะนำอาชีพก็ทำซ้ำกันทุกปี เช่น การทำขนม การตัดผม การเย็บผ้า เป็นต้น

...ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลชุดนี้จะต้องเร่งแก้ไข เพราะหลายคนเชื่อว่า “การศึกษา” คือ ปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ด้ามขวานได้เป็นอย่างดี
กำลังโหลดความคิดเห็น