xs
xsm
sm
md
lg

ผิดซ้ำ “แอดมิชชัน” การศึกษาเหลวหรือระบบห่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษโดย...คีตฌาณ์ ลอยเลิศ

เหมือนจะกลายเป็นปัญหาขาประจำเสียแล้ว สำหรับระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง หรือ “แอดมิชชัน” ที่พอถึงช่วงที่เด็กๆ ต้องสมัครคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย เป็นต้องมีเรื่องราวร้องเรียนกันวุ่นวายทุกปีไป ทั้งๆ ที่ระบบแอดมิชชันเพิ่งเริ่มนำมาใช้มาได้ไม่กี่ปี

เดิมทีการคัดนักเรียนเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยของไทยนั้น ใช้ระบบ “เอนทรานซ์” ที่ทุกคนรู้จักกันดีมากว่า 30 ปี ซึ่งระบบดังกล่าวได้รับความเชื่อถือและยอมรับว่า โปร่งใส ปัญหาน้อยสุด อย่างไรก็ตามระบบเอนทรานซ์นั้น เป็นระบบการสอบแข่งขัน เด็กจะเข้ามหาวิทยาลัยได้หรือไม่ได้ ตัดกันด้วยคะแนนเพียง 1-2 คะแนน ด้วยการสอบครั้งเดียว ดังนั้น จึงทำให้เกิดปัญหาเด็กในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทิ้งห้องเรียนเพื่ออ่านหนังสือ ยิ่งเลื่อนชั้นขึ้น ม.6 นักเรียนหลายคนแทบจะไม่เข้าชั้นเรียนเลย เอาเวลาไปขะมักเขม้นกับการอ่านหนังสือเพื่อเอนทรานซ์แทน รวมถึงนักเรียนต่างมุ่งกวดวิชากันเป็นบ้าเป็นหลัง จนทำให้เด็กหลายคนเครียดจัด และเมื่อผลเอนทรานซ์ที่ออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง บางคนตัดสินใจคิดสั้นฆ่าตัวตาย ซึ่งก็เป็นข่าวให้เห็นผ่านสื่อบ่อยครั้ง

ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลให้นักวิชาการด้านศึกษา เห็นว่า อนาคตของเด็กคนหนึ่งไม่ควรถูกตัดสินด้วยการสอบเพียงครั้งเดียว หรือเด็กคนไหนที่พลาดโอกาสการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยก็ต้องรออีกเป็นปีเพื่อเอนทรานซ์ใหม่อีกรอบ

ดังนั้น รัฐบาลในสมัย “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” จึงมีนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งรับผิดชอบระบบเอนทรานซ์ ปรับเปลี่ยนระบบคัดคนเข้ามหาวิทยาลัยเสียใหม่ โดยให้หันมาใช้ระบบ “แอดมิชชัน”แทน“เอนทรานซ์” และระบบแอดมิชชั่นก็ได้ถูกนำมาใช้ในปี 2549 เป็นปีแรก

ทั้งนี้ แอดมิชชันที่ถูกนำมาแทนที่ระบบเอนทรานซ์นั้น ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) ได้กำหนดสัดส่วนของผลการเรียนเฉลี่ยชั้น ม.ปลาย ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ (จีพีเอ) ผลการเรียนเฉลี่ยตลอดหลักสูตร ม.ปลาย (จีพีเอเอ็กซ์) และค่าเปอร์เซ็นต์ไทล์แรงก์ (พีอาร์) เป็นองค์ประกอบร่วมกับผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ในการพิจารณาคัดเด็กเข้ามหาวิทยาลัย โดยบางคณะ/สาขาวิชาที่ต้องการวัดแววเฉพาะด้าน เช่น ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ วัดแววความเป็นครู ก็อาจใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (เอเน็ต) ประกอบด้วย

แม้ว่าองค์ประกอบที่ใช้ในการพิจารณาจะถูกกำหนดไว้ชัดเจนล่วงหน้าเป็นเวลา 3 ปี เพื่อให้เด็กนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้น ม.ปลาย ได้เตรียมตัวทัน แต่สัดส่วนของแต่ละองค์ประกอบที่นำมาพิจารณาคัดเลือกในแต่ละปีมีการปรับเปลี่ยนตลอดมา โดยปี 2551 นี้ ทปอ.กำหนดให้ใช้ จีพีเอ, จีพีเอเอ็กซ์, โอเน็ต และ เอเน็ต เป็นองค์ประกอบในการแอดมิชชัน

นอกจากองค์ประกอบที่หลากหลาย การปรับเปลี่ยนสัดส่วนขององค์ประกอบทุกปี อีกทั้งในการจัดทดสอบโอเน็ตครั้งแรกโดยสำนักงานทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เมื่อปี 2549 ซึ่ง “นายประทีป จันทร์คง” ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สทศ.ขณะนั้น ก็เกิดความผิดพลาดในการตรวจข้อสอบ และการประมวลผลครั้งใหญ่ ส่งผลให้แอดมิชชันกลายเป็นระบบการคัดเลือกคนเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่มีต้นทุนความน่าเชื่อถือต่ำตั้งแต่เริ่มต้น

ยิ่งในปีนี้ (2551) เกิดการร้องเรียนของกลุ่มเด็กที่พลาดการสอบเอเน็ตขึ้นอีก แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเกิดจากความไม่รับผิดชอบของตัวเด็กนักเรียนเอง แต่ “แอดมิชชัน” ก็กลายเป็นระบบที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่า มีปัญหามาก และบวกเข้ากับการเปลี่ยนองค์ประกอบการคัดเลือกในปี 2553 มาใช้ความถนัดทั่วไป หรือ GAT(General Aptitude Test) และความถนัดเฉพาะวิชาชีพ หรือ PAT(Professional Aptitude Test) แทนโอเน็ต และเอเน็ต และเปลี่ยนหน่วยงานรับผิดชอบจาก สกอ.มาเป็น ทปอ.ทำหน้าที่ในการแอดมิชชันแทน ก็ยิ่งตอกย้ำว่า แอดมิชชันเป็นระบบที่สร้างความสับสนให้กับตัวเด็กเป็นอย่างมาก

แม้ว่ากระแสสังคมจะวิพากษ์วิจารณ์ระบบแอดมิชชันอย่างหนัก รวมไปถึงมองว่าเป็นความล้มเหลวของระบบการศึกษาทั้งระบบ แต่ ทปอ.ก็ยังยืนยันหนักแน่นว่า เป็นระบบที่ผ่านการคิดวิเคราะห์มาอย่างดี และสามารถแก้ปัญหาที่เกิดจากระบบเอนทรานซ์ได้ เพียงแต่อยู่ในระยะเริ่มต้นของแอดมิชชั่นทำให้มีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

“รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์” อดีตประธาน ทปอ.ซึ่งดำรงตำแหน่งประธาน ทปอ.ในช่วงเปลี่ยนผ่านของเอนทรานซ์ไปสู่แอดมิชชัน และเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมกำหนดองค์ประกอบแอดมิชชันด้วย ได้ให้ความเห็นว่า ระบบแอดมิชชันไม่เพียงแต่ต้องการแก้ปัญหาของระบบเอนทรานซ์ แต่ยังต้องการให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมในสถานศึกษา เพื่อสร้างพฤติกรรมพึงประสงค์ในขณะศึกษาอยู่ระดับชั้น ม.ปลาย ด้วย ซึ่งข้อเสียของแอดมิชชันนั้นมีเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องใช้เวลาในการปรับระบบให้เข้าที่เข้าทางเท่านั้น ขณะที่คะแนนโอเน็ตที่เด็กสอบสามารถใช้ยื่นแอดมิชชันได้ถึง 2-3 ปี โดยไม่ต้องสอบใหม่ รวมถึงนำไปใช้ยื่นสมัครแอดมิชชันตรงกับทางมหาวิทยาลัยได้ด้วย จึงทำให้เด็กมีทางเลือกมากขึ้น ขณะที่การเอนทรานซ์สอบเพียงครั้งเดียวและใช้ตัดสินในปีนั้น หากจะสมัครใหม่ก็ต้องสอบใหม่อีกครั้ง

“เราเคยชินกับเอนทรานซ์มานาน เมื่อเปลี่ยนระบบใหม่จึงยังไม่วางใจ แต่ก็ต้องยอมรับว่า แอดมิชชันอาจจะมีจุดอ่อน ก็ต้องดูแลแก้ไขกันไป ขณะเดียวกัน เด็กก็ต้องปรับตัวเอาใจใส่ และรับผิดชอบ ติดตามเกณฑ์ และเงื่อนไขการแอดมิชชันให้ดี เรื่องของเราเองต้องไม่ปล่อยปละละเลย ซึ่งปัญหาการสมัครไม่ทันในระบบเอนทรานซ์ก็มีเหมือนกัน แต่ทุกคนยอมรับ และยินยอมที่จะสอบในปีต่อไป”

รศ.ดร.ประเสริฐ บอกด้วยว่า ส่วนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เสนอให้ยกเครื่องระบบแอดมิชชั่นใหม่นั้น เป็นข้อเสนอที่ดีเพราะระบบใดก็ตามที่ถูกนำมาใช้ ต้องมีการปรับปรุง เช่นเดียวกับระบบเอนทรานซ์กว่าจะลงตัวก็ต้องใช้ระยะเวลานานเช่นกัน และเมื่อใช้มาต่อเนื่องยาวนานก็พบปัญหาอีกได้ ดังนั้น การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องดำเนินการอยู่แล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามต้องแจ้งล่วงหน้า 3 ปี เพื่อให้เด็กได้เตรียมตัว

ส่วน “แบ๊งค์ งามอรุณโชติ” นิสิตปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตนักเรียน ม.ปลาย ที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนระบบ โดยแบ๊งค์เป็นรุ่นรองสุดท้ายก่อนเลิกใช้ระบบเอนทรานซ์ และในฐานะผู้ใช้บริการระบบ เขาให้ความเห็นว่า ข้อดีของเอนทรานซ์ เป็นระบบที่ดำเนินอย่างยาวนาน ผ่านการขัดเกลาเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อยจนระบบเสถียร ทำให้ความศรัทธาเชื่อถือต่อตัวระบบมีสูง แต่ข้อด้อยของเอนทรานซ์คือทำให้เกิดคำถามว่า ข้อสอบเอนทรานซ์คัดเด็กได้ดีจริงหรือไม่ เพราะเด็กที่ทำกิจกรรม หรือมีความสามารถอื่นๆ ผ่านการคัดเลือกโดยระบบเอนทรานซ์ได้อย่างลำบาก

ขณะที่แอดมิชชันเป็นความพยายามเฟ้นหาเด็กที่สอดคล้องเหมาะสมกับสาขาวิชามากที่สุด แต่ก็มีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นและระบบยังไม่ดี ซึ่งเป็นธรรมดาของระบบใหม่ ที่ผู้จัดการศึกษาน่าจะคาดการณ์ได้ว่าจะเจอแรงเสียดทานพอสมควร

“ผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ ต้องเรียนรู้จากปัญหาในแต่ละปีเพื่อแก้ไข เพราะระบบใหม่ผิดพลาดได้ แต่ต้องไม่ผิดซ้ำ เพราะเมื่อไหร่ที่คนไม่ศรัทธากับระบบการคัดกรองคนเข้าสู่ระบบการศึกษา นั่นจะกลายเป็นความล้มเหลวของระบบการศึกษาทั้งหมดทันที”

แบ๊งค์ แนะด้วยว่า ทปอ.ในฐานะที่ต้องรับผิดชอบแอดมิชชันในปีต่อไป ควรสื่อสารกับสาธารณะให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งการตอบคำถามว่าทำไมต้องเปลี่ยนระบบ หรือการประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์ต่างๆ ในการแอดมิชชั่นให้เด็กรับรู้อย่างทั่วถึง เพราะขณะนี้ความศรัทธาระบบการคัดกรองคนเข้าสู่มหาวิทยาลัยอยู่ในภาวะวิกฤติ ขณะเดียวกันเด็กก็ต้องรู้จักรับผิดชอบตนเองติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้

ขณะที่มุมมองของนักวิชาการด้านการศึกษา “ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์” รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เห็นว่า ปัจจุบันระบบอุดมศึกษามีคุณภาพอ่อนลงเกือบทุกสาขา เนื่องจากระบบการคัดคนเข้าเรียนไม่ค่อยได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ เด็กอยากเรียนสาขาใดไม่ค่อยได้เรียน เพราะมีคะแนนเป็นตัวกำหนด และระบบการเรียนการสอนก็ไม่เอื้อให้คนเก่ง คนมีความสามารถได้รับการพัฒนาตามศักยภาพ ส่วนระบบกบริหารจัดการก็ค่อนข้างมีปัญหามาก เพราะขณะนี้มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่ออกนอกระบบไปก็อยู่ในขั้นของการพัฒนาซึ่งยังไม่ลงตัว ส่วนมหาวิทยาลัยของรัฐที่อยู่ในระบบราชการแม้มีอิสระ แต่ก็ไม่ได้รับการส่งเสริมจากภาคราชการ ส่วนระบบการตรวจสอบประเมินผล แม้จะมหาวิทยาลัยจะผ่านการประเมินจาก สมศ.แต่ก็ยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าบัณฑิตไม่มีคุณภาพ ดังนั้น บทบาทของมหาวิทยาลัยจึงไม่สนองตอบต่อสังคมเท่าไหร่นัก

“ส่วนระบบการคัดคนที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย ที่เปลี่ยนเป็นระบบแอดมิชชั่นก็ไม่ได้ดีกว่าเดิม แอดมิชชันไม่ได้ทำให้เด็กลดการกวดวิชาลง กลับเพิ่มรายวิชาในการกวดวิชามากขึ้น เพราะการกวดวิชาขึ้นอยู่กับความไม่เท่าเทียมกันของโอกาสและทางเลือกในการเข้ามหาวิทยาลัย เด็กกวดวิชา เพราะต้องการเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ โดยเลือกมหาวิทยาลัยที่ดี เพื่อเข้าสู่วิชาชีพที่ดี ไม่ว่าจะปรับวิธีการคัดเลือกคนอย่างไร การกวดวิชาของเด็กก็ไปในแนวทางนั้นเสมอ อีกทั้งองค์ประกอบที่มากเกินไปของแอดมิชชันกลายเป็นภาระแก่เด็ก และเมื่อพิจารณาคัดคนจากองค์ประกอบนั้นนิด อันนี้หน่อยเฉลี่ยๆ กันไปเลยทำให้มหาวิทยาลัยคัดได้เฉพาะเด็กระดับกลางๆ เท่านั้น”

รศ.ดร.ไพฑูรย์ เสนอแนะว่า ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องควรมาตั้งต้นกันใหม่ พิจารณาว่าเป้าหมายการคัดเด็กเข้ามหาวิทยาลัยคืออะไร โดยมีแนว 2 แนวทาง คือ 1.นำระบบเอนทรานซ์มาปรับใหม่ให้เหมาะสม เพราะเป็นระบบที่ดีพอสมควร และมีความน่าเชื่อถือ 2.พิจารณาว่าแต่ละมหาวิทยาลัยสามารถคัดเลือกเด็กเองได้มากน้อยแค่ไหน แต่ละแห่งมีสาขาอะไร และต้องคุยกับกลุ่มวิชาชีพเฉพาะ เช่น แพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ว่าต้องการเด็กอย่างไร เพราะเราควรเปลี่ยนมาคัดเลือกคนตามกลุ่มวิชาชีพ

“ทปอ.ค่อนข้างยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่วางแผนมาแล้วน่าจะดีที่สุด ซึ่งแนวคิดอาจจะดูดี แต่แนวทางการปฏิบัติยังมีปัญหา จึงน่าจะยอมรับความเป็นจริง และมาทบทวนใหม่ โดยต้องทบทวนระบบอุดมศึกษาทั้งระบบไปพร้อมกันด้วยเพื่อพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้น ไม่เช่นนั้นอุดมศึกษาจะแย่ลงทั้งหมด” นักวิชาการด้านการศึกษากล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น