xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการเสนอ “คนนอก” ร่วม กก.วิชาชีพครู ถ่วงดุลการเมืองชักใย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถกองค์กรวิชาชีพครู นักวิชาการเสนอให้มีบุคคลภายนอกเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นกรรมการวิชาชีพครูเพื่อถ่วงดุล ลดกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งให้น้อยที่สุด เพื่อกันการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แนะดึงคนดีเก่งเป็นครู ให้ผลตอบแทนสูง สร้างองค์กรวิชาชีพครูให้เข้มแข็งน่าเชื่อถือ เพื่อทำให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพขั้นสูง

เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ รศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวในการเปิดเสวนา “องค์รครู:องค์กรเพื่อการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาของชาติจริงหรือ” และบรรยายพิเศษ เรื่อง เป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ให้แก่ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาและข้าราชการครูในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ครู นอกเหนือจากการดำเนินการเรื่องการผลิตและพัฒนาครู แก้ไขปัญหาขาดแคลนครูแล้ว เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องคือ การบริหารงานบุคคล เนื่องจากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีเป็นจำนวนหลายแสนคน ซึ่งการบริหารงานบุคคลที่มีประสิทธิภาพและเที่ยงธรรม จะช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้กับข้าราชการครู แต่หากการบริหารงานบุคคลมีข้อครหาไม่เพียงแต่ไม่สร้างขวัญกำลังใจ แต่ยังสร้างความเสื่อมเสียให้กับวงการครูด้วย

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวอีกว่า สิ่งที่ปฏิบัติกันมานั้นการเลื่อน ลด ปลด ย้ายบุคลากร มักกระทำโดยผู้บังคับบัญชา ต่อมาได้กำหนดตัวชี้วัด และกระทำในรูปคณะบุคคล เพื่อไม่ให้สิทธิในการพิจารณาแก่ผู้บังคับบัญชาเพียงคนเดียว โดยคณะบุคคลนั้นมีทั้งผู้ที่เข้ามาโดยตำแหน่ง ประกอบด้วยผู้บริหาร 5 องค์กรหลัก และอีกส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งจากผู้แทนครู ซึ่งมีการกล่าวกันว่าการแต่งตั้งโยกย้ายมีการซื้อขายได้ เนื่องจากคณะบุคคลส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งหากมีการจ่ายเงินก็ต้องมีการถอนทุนคืน และหากเราตั้งเป้าหมายว่าการบริหารงานบุคคลต้องเกิดความเป็นธรรมสิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้ อีกทั้งจะทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่อยากเข้าสู่วิชาชีพครู

“ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นโจทย์ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะต้องเข้ามาปรับปรุงระบบการบริหารงานบุคคลของครู เพื่อให้เกิดขวัญและกำลังใจแก่ครูที่แท้จริง ซึ่งข้อสรุปในการประชุมจะนำไปใช้ในการดำเนินการปฏิรูปการศึกษารอบสอง และพัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพขั้นสูงต่อไป” รศ.ธงทอง กล่าว

จากนั้น เป็นการเสวนา เรื่อง “องค์กรครู:องค์กรเพื่อการพัฒนาการศึกษาของชาติจริงหรือ” โดยมี ดร.ดิเรก พรสีมา ประธานกรรมการคุรุสภา ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ศ.ศรีราชา เจริญพานิช เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ สมาชิกวุฒิสภา นายสมหมาย ปาริฉัตต์ กรรมการสภาการศึกษา ร่วมเสวนา

นายสมหมาย กล่าวว่า การควบคุมกำกับมาตรฐานวิชาชีพมี 3 ระดับ ระดับแรกได้แก่ การควบคุมตนเอง หากผู้มาดำรงตำแหน่งในองค์กรวิชาชีพและข้าราชการครูปฏิบัติงานมีคุณภาพมาตรฐาน ไม่ใช้อิทธิพลหรือใช้จำนวนเสียงที่มากกว่าไปแสวงหาประโยชน์ ควบคุมตนเองให้อยู่ในคุณธรรมและจริยธรรม ปัญหาก็จะน้อยลง 2.การควบคุมกันเอง ซึ่งสภาวิชาชีพคือการควบคุมกันเอง ต้องไม่ให้เกิดการฮั้วกันเอง หรือใช้อำนาจที่มีไปในทางไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นธรรม 3.การควบคุมโดยผู้อื่นหรือ ควบคุมโดยสังคมซึ่งเป็นสิ่งที่ตนอยากเรียกร้องให้เกิดขึ้น เพราะผู้อื่นไม่มีผลประโยชน์ได้เสีย องค์กรวิชาชีพครูก็ควรให้สังคมเข้ามาตรวจสอบควบคุมด้วย นอกจากนั้นสังคมยังรับรู้การตรวจสอบและการลงโทษครูโดยองค์กรวิชาชีพครูที่ดำเนินการกันเองน้อยมาก ซึ่งองค์กรวิชาชีพครูควรจะออกมาเปิดเผยว่าแต่ละปีมีการตรวจสอบเรื่องใด และลงโทษกันอย่างไร จำนวนเท่าไหร่ โดยไม่ต้องเกรงกลัวการเมือง องค์กรครูก็จะเกิดความเข้มแข็ง แต่หากยังคิดว่าเรื่องครูควรให้ครูตัดสินกันเองความน่าเชื่อถือก็ไม่เกิดขึ้น

ดร.พนม กล่าวว่า การผลิตครู 5 ปีที่มีขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมวิศวกรจึงผลิต 4 ปีได้ ซึ่งการผลิตครูที่ต้องใช้เวชาถึง 5 ปีนั่นเพราะยึดเวลาเป็นเรื่องสำคัญ หากเรามีกระบวนการผลิตครูที่ดี ผลิตครูดี 24 ชั่วโมง ไม่ใช่เพียง 4-5 ชั่วโมงต่อวันเราจะสร้างครูดีได้ และทำอย่างไรจะจัดระบบการพัฒนาครูให้นักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องน้อยที่สุด นอกจากนี้การดำเนินการตามเกณฑ์การพิจารณาให้ใบประกอบวิชาชีพครูต้องไม่ลดหย่อน องค์กรวิชาชีพครูแบบคุรุสภาต้องเข้มงวด ขณะเดียวกันกระบวนการถอดถอนใบประกอบวิชาชีพก็ต้องรัดกุม นอกจากนี้ควรมีการสอบวัดผลอีกครั้งก่อนให้บัณฑิตครูได้เข้าสู่วิชาชีพครู เพื่อดูว่าเด็กที่จบครูพร้อมจะเป็นครูหรือไม่ โดยอาจให้สอบสะสมคะแนนหลายๆ ครั้งก็ได้ เพราะการสอบก็เป็นการสอนอย่างหนึ่งผ่านทางข้อสอบ ว่าการจะเป็นครูที่ดีต้องเป็นอย่างไร ผมอยากเห็นคุรุสภาทำเรื่องนี้ เพื่อให้ครูต้องปรับปรุงและตื่นตัวตลอดเวลา

ดร.ดิเรก กล่าวว่า ตนอยากให้บัณฑิตครูที่จบใหม่ต้องเข้ารับการทดสอบก่อนเข้าสู่วิชาชีพครู เช่นเดียวกับวิศวกรต้องผ่านการทดสอบก่อนเข้าสู่งวิชาชีพ รวมทั้งการต่ออายุใบกระกอบวิชาชีพก็ควรต้องมีการทดสอบก่อนด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวก็เป็นเพียงแนวคิดที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะเพียงแค่เสนอแนะไปก็มีเสียงคัดค้านจากข้าราชการครูเข้ามามากมาย ดังนั้น จึงไม่สามารถผลักดันให้เกิดผลได้ ซึ่งการจะพัฒนาวิชาชีพที่ได้รับการยอมรับก็จะต้องสร้างองค์กรวิชาชีพให้มีความเข้มแข็ง

ด้าน ดร.ประเสริฐ กล่าวว่า องค์ประกอบที่สำคัญประการหนึ่งของคณะกรรมการคุรุสภา ซึ่งให้มาจากการเลือกตั้งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา 19 คน ซึ่งเป็นตัวเลขจำนวนมาก ยิ่งเทียบกับจำนวนกรรมการโดยตำแหน่ง 5 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน ตนเห็นว่าเปิดโอกาสให้บุคคลที่มาจากภายนอกวงการศึกษาน้อยไป ควรมีการเพิ่มจำนวนบุคคลจากภายนอกมากขึ้น รวมถึงต้องเชื่อมโยงองค์กรวิชาชีพครูเข้ากับการบริหารงานบุคคลของครูด้วย

ศ.ศรีราชา กล่าวว่า หน้าที่ขององค์กรครูที่สำคัญ คือ ต้องเอาคนเลวออกจากระบบให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอาคนเลวมานั่งบริหารระบบยิ่งล้มเหลว ครูต้องมีความรู้ แต่ครูยุคปัจจุบันไม่ค่อยมีความรู้ ตนเสนอให้จัดหลักสูตรครู 6 ปี เพื่อแข่งกับแพทย์ เมื่อเรียนจบแล้วมีผลตอบแทนจำนวนมาก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ารายได้เป็นเรื่องสำคัญ การให้ผลตอบแทนสูงเพื่อเป็นเป้าหมายของเด็กว่าสามารถฝากอนาคตของชีวิตไว้กับอาชีพครูได้ ต้องเปลี่ยนระบบการผลิตครูให้เหมาะสมกับกับบริบทสังคมไทย เพื่อให้คนเก่ง คนดีเข้าสู่วิชาชีพครู

เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวอีกว่า การพัฒนาครูต้องสังคายนาระบบของวิชาชีพครูใหม่ โดยควรมีบุคคลภายนอกเข้าไปถ่วงดุลกับบุคคลภายในที่อาจจะช่วยปกปิดความผิดกันเอง ต้องเปลี่ยนวิธีการสรรหากรรมการวิชาชีพใหม่ โดยการสรรหาต้องไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่วิธีการที่จะให้ได้มาต้องใช้องค์กรที่น่าเชื่อถือ ลดจำนวนผู้ที่มาจากการเลือกตั้งให้น้อยลง ให้คนที่ปลอดการเมืองและมีความซื่อสัตย์ยุติธรรมเป็นผู้สรรหากรรมการองค์กรวิชาชีพ รวมทั้งต้องตั้งคุณสมบัติผู้มาเป็นกรรมการองค์กรวิชาชีพให้มีความดีเด่นมากขึ้น เพื่อขวางผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองเข้าสู่องค์กรวิชาชีพครู ให้บุคคลที่มาจากภายนอกเข้ามาถ่วงดุลหรือเป็นพยานในการแต่งตั้งปรับลดโยกย้ายตำแหน่งด้วย และองค์กรครูจะต้องตระหนักถึงบทบาทและอำนาจหน้าที่ของตนเอง โดยเฉพาะประธานองค์กรต้องเป็นผู้นำด้านความบริสุทธิ์ยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น