สมศ.เผยผลประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของคณะคุรุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ 57 สถาบันอุดมศึกษารอบสอง พบคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผ่านการประเมินระดับดีมากเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ส่วนใหญ่อยู่ในระดับพอใช้เท่านั้น ส่วนใหญ่ยังมีปัญหาในเรื่องคุณภาพบัณฑิตและงานวิจัย ชี้หลักสูตรส่วนใหญ่เน้นวิชาครูมากเกินไป
วันนี้ (30 ก.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดการประชุม “การปฏิรูปการศึกษารอบสอง การประเมินรอบสาม : คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา” และปาฐกถาพิเศษ ว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ตนได้ลงนามในหนังสือสรุปทิศทางการปฏิรูปการศึกษารอบสอง เพื่อจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้ว โดยประเด็นที่จะนำเสนอ ครม.นั้น การปฏิรูปการศึกษารอบสองจะเป็นการปรับแต่งและต่อยอด ติดตามการปฏิรูปการศึกษาที่ดำเนินการมาตั้งแต่รอบแรก ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การปฏิรูปการศึกษารอบแรกจะเน้นเรื่องการปรับโครงสร้างขององค์กรทางการศึกษามารวมด้วยกันจนเกิดเป็น ศธ.และยังเกิดองค์กรขึ้นอีกหลายแห่งจากการปฏิรูปการศึกษา อาทิ สถาบันทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) ที่ทำหน้าที่วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สมศ.ที่ทำหน้าที่วัดมาตรฐานคุณภาพของสถานศึกษา และยังมีอีกหลายองค์กรที่เกิดขึ้นแล้วและองค์กรที่ยังไม่ได้ดำเนินการ นอกจากนี้ ในช่วง10 ปีที่ผ่านมาได้เน้นการปฏิรูปการศึกษาในระบบค่อนข้างมาก
รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า เรื่องที่ต้องติดตาต่อยอดในการปฏิรูปการศึกษารอบสอง คือ เรื่องคุณภาพ การให้ความสำคัญกับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่เสนอ ครม.จะเน้นผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน คือ ต้องการทำให้คนไทยทุกคนได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยการศึกษาทุกระบบ ทั้งการศึกษาการศึกษาขั้นพื้นฐาน สายอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา ซึ่งการศึกษานอกระบบก็จะต้องมีคุณภาพ โดยมีเรื่องที่ เน้น 3 เรื่อง ที่ต้องช่วยกัน คือ 1.คุณภาพจะเน้นสร้างคุณภาพคนไทยยุคใหม่ การพัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่ การการบริหารจัดการยุคใหม่ และพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ 2.โอกาส และ 3.การมีส่วนร่วมจะต้องให้ทุกส่วนเข้ามาร่วมในการสนับสนุนการศึกษา นอกจากนี้จะมีการเสนอ ครม.ตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ในการพัฒนาอบรมวิชาชีพครูเพื่อคุมคุณภาพของครู และการเข้ามาดูแลการผลิตครูของครูหรืออาจารย์ในคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ซึ่งต้องยอมรับว่ากำลังจะเป็นวิกฤติหนักอันเนื่องจากปัญหาการขาดครูของครูหรืออาจารย์ในคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ที่จะมีการเกษียณอายุราชการเกินครึ่งของจำนวนอาจารย์ที่มีอยู่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า จากผลการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของคณะคุรุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ 57 สถาบันอุดมศึกษารอบสอง พบว่า มีเพียง คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ผ่านประเมินในระดับดีมาก อีก 53 แห่งอยู่ในระดับดี 2 แห่ง อยู่ในระดับ พอใช้ และอีก 1 แห่งต้องปรับปรุง ซึ่งในภาพรวมนั้นคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ทั่วประเทศมีมาตรฐานในระดับพอใช้ เพราะยังมีปัญหาในเรื่องคุณภาพบัณฑิตและงานวิจัย ส่วนหลักสูตรการเรียนการสอนนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นวิชาครูมาก ครูที่จบออกมาก็สอนได้ดีแต่ไม่สามารถตามวิทยาการและความก้าวหน้าได้ทัน
ด้านนายวิจิตร ศรีสอ้าน อดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวบรรยาพิเศษเรื่อง “สถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ” ว่า สถาบันคุรุศึกษาฯ จะเน้นการเสริมสร้างเอกภาพด้านนโยบาย คุณภาพและมาตรฐานการผลิตและพัฒนาครู การรับรองวิทยฐานะสถาบัน ส่งเสริม และสนับสนุนการสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งของสถาบันที่ทำหน้าที่ผลิตและพัฒนาครูตลอดจนการวิจัยและพัฒนาระบบการศึกษารูปแบบและวิธีการผลิตและพัฒนาครูที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ตลอดจนผลิตและพัฒนาคณาจารย์ วิทยากรและผู้นำทางการศึกษาตามความต้องการของสถาบันที่ทำหน้าที่ผลิตและพัฒนาครู ทั้งนี้จากข้อมูลของคณะศึกษาศาสตร์-คุรุศาสตร์ประมาณ 26 แห่ง พบว่า มีอาจารย์ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 20% ปริญญาโท 60% และระดับปริญญาเอก 20% และมีอาจารย์ที่มีตำแหน่งศาสตราจารย์ในภาพรวมเพียง 0.15% ถือเป็นจำนวนที่น้อยมาก ซึ่งหากอาจารย์ในคณะดังกล่าวไม่มีคุณวุฒิ คุณภาพทางวิชาการแล้วก็คงจะคาดหวังคุณภาพของนักศึกษาที่จบออกมาได้ไม่มาก