ยะลา - สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) เร่งทำการพัฒนา ครูอัตราจ้าง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอ ของ จ.สงขลา เพื่อบรรจุแต่งตั้ง เป็นข้าราชการครู แก้ปัญหาครู ขาดแคลนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
วันนี้ (12 ก.ค.) ที่อาคารหอประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายสุนันท์ เทพศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะ เดินทางเข้าร่วมในการประชุมพัฒนาพนักงานราชการ ครูอัตราจ้าง และครูสอนศาสนาอิสลาม เพื่อชี้แจงถึงหลักเกณฑ์การปรับเลี่ยนตำแหน่ง และพบปะให้กำลังใจแก่ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา กว่า 4,000 คน
นายสุนันท์ เทพศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ทำให้ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ย้ายออกนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนข้าราชการครู รวมถึงประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ นับถือศาสนาอิสลาม ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้จัดสรรอัตรากำลัง พนักงานราชการ ครูอัตราจ้าง และ ครูสอนศาสนาอิสลาม ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรครู และยังเป็นการส่งเสริมการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในสถานศึกษา
ขณะนี้ ในพื้นที่ จ.ยะลา จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส จ.สตูล และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา รวม 6,753 คน ประกอบกับหลักเกณฑ์ และวิธีคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการครูที่เปิดโอกาสให้บรรจุแต่งตั้งครูอัตราจ้าง ซึ่งได้ปฏิบัติงานครบตามคำสั่งจ้าง หรือสัญญาจ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกันไม่น้อยกว่า 3 ปี ไม่ได้กำหนดแนวปฏิบัติในการคัดเลือกที่มีความชัดเจน ดังนั้น แต่ละเขตพื้นที่จึงมีการดำเนินการไม่เหมือนกัน เกิดความเหลื่อมล้ำ ทำให้บุคลากรทางการศึกษาเหล่านี้ไม่ได้รับความเป็นธรรม
สมาพันธ์เพื่อพัฒนาการศึกษาชายแดนใต้ จึงได้ร่วมกันทำหนังสือยื่นต่อ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้พิจารณาบรรจุแต่งตั้งบุคลากรทางการศึกษา เป็นกรณีพิเศษแล้ว ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับข้อเสนอ และกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกเพื่อบรรจุแต่งตั้ง เป็นกรณีพิเศษเรียบร้อยแล้ว โดยมีความคำนึงถึงขวัญ และกำลังใจของพนักงานราชการ และครูอัตราจ้างเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และทำให้คนในพื้นที่มีงานทำ และ ลดอัตราการขาดแคลนครูได้อีกทางหนึ่ง
น.ส.สมีนา สาหมัด เลขาสมาพันธ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เนื่องจากในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง ทำให้พนักงานราชการ ครูอัตราจ้าง ซึ่งอยู่ในพื้นที่มีอัตราความเสี่ยงสูง ทั้งการเดินทางไปสอน และระหว่างการสอน ทำให้ประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ลดลง ซึ่งในการประชุมในครั้งนี้ตนเองและเพื่อนสมาชิกไม่ได้เรียกร้องอะไรเป็นกรณีพิเศษ อยากขอขอบคุณเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ให้ความช่วยเหลือครูอัตราจ้างมาโดยตลอด
การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมเพื่อทำความเข้าใจในการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง ตาม ว.14 ตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนดไว้ คือ 1.ประเมินเชิงคุณภาพ 2.ประเมินเชิงปริมาณ 3.ประเมินด้านจิตตคติ 4.ประเมินโดยการเข้าอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กรุณากับพวกเรามาก คือเปลี่ยนจากครูอัตราจ้างมาเป็นพนักงานราชการกว่า 1,000 คน มีการดูแลในเรื่องเงินค่าเสี่ยงภัย จาก 1,000 บาท เป็น 2,500 บาท ในขณะนี้พวกเรา ตั้งความหวังไว้คือ อยากจะเดินไปให้ถึงเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนตำแหน่งเป็นข้าราชการครูต่อไป