xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.บต.จัดอบรมเพิ่มความรู้ครูสอนศาสนาในชายแดนใต้กว่า 1 พันคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา
ยะลา – “ศอ.บต.” ระดมครูสอนศาสนากว่า 1 พันคน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ และการอบรมเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนศาสนาอิสลามในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม


วันนี้ (3 ก.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคารเอนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อ.เมือง จ.ยะลา นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เดินทางมาเป็นประธานในเปิดกิจกรรมเปิดมิติใหม่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืน รุ่นที่ 1 เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ และอบรมเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนศาสนาอิสลาม ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

การประชุมในครั้งนี้เพื่อต้องการให้ครูสอนศาสนาอิสลามมีโอกาสได้พัฒนาตนเอง มีความรู้ความสามารถ มีทักษะในการจัดการเรียนรู้ และ สามารถนำทุนทางสังคมที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ พร้อมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ และความเป็นเอกภาพในพื้นที่ และให้ครูสอนศาสนาได้เข้าใจถึงบทบาทขององค์กรภาครัฐ และเกิดทัศนคติที่ดีต่อกัน เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างสันติสุขที่ยั่งยืนต่อไป

การประชุมครั้งนี้ มีครูสอนศาสนาจากโรงเรียนมัธยมศึกษาของรัฐ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วม จำนวนทั้งหมด 1, 036 คน จาก 28 โรงเรียน แบ่งเป็น 6 รุ่น รุ่นละ 180 คน รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 3–6 ก.ค.52 จำนวน 4 วัน

นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า จากปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลกระทบทางด้านคุณภาพการศึกษา และการประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนส่งผลกระทบด้านความปลอดภัยของครู สถานศึกษาและการบริหารจัดการ

จากการนิเทศติดตามผลปรากฏว่า คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนในพื้นที่อยู่ในระดับที่ยังไม่น่าพอใจ นักเรียนส่วนหนึ่งมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม สภาพการจัดการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความหลากหลาย ซึ่งมีสถานศึกษาทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนสอนวิชาสามัญและอาชีพ

ส่วนในเรื่องของศาสนาอิสลามนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้จัดให้มีการสอนศาสนาอิสลามตามหลักสูตรอิสลามศึกษา พ.ศ.2546 ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ตั้งแต่ชั้นอิสลามศึกษาตอนต้น (อิบตีดาอี) จนถึงชั้นอิสลามศึกษาตอนปลาย (ซานาวี) ดำเนินการสอนโดยผู้นำศาสนา โต๊ะครูและอุซตาส ซึ่งมีความรู้ด้านศาสนาเป็นอย่างดี แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนด้านศาสนาค่อนข้างต่ำ สาเหตุมาจากบุคลากรเหล่าถูกทอดทิ้ง และยังขาดทักษะอีกหลายๆ ด้าน

ทั้งนี้ ศอ.บต.จึงได้มีการประชุมขึ้นเพื่อเพิ่มเติมในส่วนที่ยังขาดให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาคือ อบรมครูภาษาไทย ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และโครงการที่สองก็เป็นโครงการภาษามาลายู ที่มีผู้เข้าอบรมจำนวนกว่า 1, 000 คน จากโรงเรียน 30 แห่ง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ทั้งนี้เพื่อสร้างพลังให้กับบุคลากรทางการศึกษา ให้เกิดทักษะในการสอน เพื่อประโยชน์ของนักเรียน-นักศึกษาต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น