xs
xsm
sm
md
lg

เหตุไฉน? นักกรีฑาหญิงแชมป์โลกมี XY ไม่ใช่ "ชาย" แต่เป็น "หญิง"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพการแข่งขันวิ่ง 800 เมตรหญิงชิงแชมป์โลกที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 52 ซึ่ง Caster Semenya นักกรีฑาหญิงจากประเทศแอฟริกาใต้เข้าเส้นชันเป็นอันดับหนึ่งและคว้าเหรียญทองแชมป์โลกไปครอง (เอพี)
ผลพิสูจน์ยัน "คาสเตอร์ เซเมนยา" นักกรีฑาหญิงแชมป์โลก เป็น "หญิง" จริง แต่ไม่แท้ 100% เป็นเพราะพัฒนาการทางเพศบกพร่อง ทำให้มีทั้งสองเพศ แม้โครโมโซมเป็น "XY" แต่ก็ไม่ปรากฏลักษณะของ "ชาย" เหตุเพราะฮอร์โมนเพศชายไม่ทำงาน รายงานวิจัยเผยอาจพบได้ในทารก 1 ใน 4,500 ราย

คาสเตอร์ เซเมนยา (Caster Semenya) นักกรีฑาวัย 18 ปี ชาวแอฟริกาใต้ กลายเป็นนักกีฬาที่ถูกจับตามองมากที่สุดขึ้นมาทันทีที่ได้แชมป์โลกหญิงวิ่ง 800 เมตร จากการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลก (World Athletics Championships) ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อเดือน ส.ค.52 ที่ผ่านมา สาเหตุเพราะเธอถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจเป็นเพศชาย

ล่าสุดมีรายงานผลตรวจออกมาว่าเธอเป็นเพศ "หญิง" แต่ไม่ 100% หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย

สำนักข่าวเอพีและเอเอฟพีระบุว่า หนังสือพิมพ์สองฉบับของออสเตรเลียรายงานเมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมาว่าผลการตรวจสอบเพศของนักกรีฑาหญิงแชมป์โลกผู้นี้ ปรากฏว่าเธอเป็นเพศหญิงที่ไม่สมบูรณ์ โดยพบว่าเธอมีทั้งอวัยวะเพศหญิงและอวัยวะเพศชาย

ในสมัยก่อนจะเรียกบุคคลที่มีลักษณะแบบนี้ว่า "กะเทย" (hermaphrodite) แต่ในปัจจุบันเรียกว่าเป็นความผิดปกติของพัฒนาการทางเพศ (disorders of sexual development)

จากการตรวจภายในยังพบว่า เซเมนยาไม่มีทั้งรังไข่และมดลูก แต่มีการสร้างฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (testosterone) ในปริมาณมาก ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าวเป็นฮอร์โมนเพศชาย ที่สร้างจากลูกอัณฑะ ทว่าผลการตรวจดีเอ็นเอบ่งชี้ว่าเซเมนยามีโครโมโซมเพศเป็น XY ซึ่งเป็นโครโมโซมเพศชาย (ขณะที่โครโมโซมเพศหญิงเป็น XX)

ไมรัน เจเนล (Myron Genel) ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านกุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) มลรัฐคอนเนตติกัต สหรัฐฯ และเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการพิเศษของสหพันธ์กรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations: IAAF) เปิดเผยต่อเรื่องนี้ว่า กรณีของเซเมนยา เป็นหนึ่งในกรณีของบุคคลที่มีความผิดปกติของเพศ โดยอาจจะแสดงออกมาในลักษณะทางกายภาพที่มีสองเพศในคนเดียวกัน หรืออาจเป็นความผิดปกติของโครโมโซม หรืออาจไม่มีลักษณะที่ปรากฏให้เห็นได้ชัดเจน

บางกรณีปัญหาความผิดปกติด้านพัฒนาการทางเพศของเด็ก ก็แสดงออกมาใช้เห็นชัดเจนตั้งแต่แรกเกิด แต่บางกรณี เช่น ความผิดปกติในเด็กผู้หญิง ก็อาจไม่สามารถสังเกตได้จนกระทั่งเด็กเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะกับความบกพร่องที่เกิดจากฮอร์โมนแอนโดรเจน (androger: ฮอร์โมนกระตุ้นการแสดงออกของลักษณะเพศชาย) ตายด้าน หรือไม่มีการตอบสนองของฮอร์โมนดังกล่าว ซึ่งทำให้เรื่องนี้ถูกปกปิดไปจนถึงเวลาที่เธอพยายามจะมีลูก หรือในกรณีของนักกีฬาก็จนกว่าจะได้รับการตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งเซเมนยาอาจมีภาวะนี้รวมอยู่ด้วย

ด้าน ดร.โจ ไล ซิมพ์สัน (Dr. Joe Leigh Simpson) รองคณบดีมหาวิทยาลัยนานาชาติฟลอริดา (Florida International University) และคณะกรรมการ IAAF อธิบายว่า ความผิดปกติของการพัฒนาทางเพศเกือบทั้งหมด เกิดจากการผ่าเหล่าของพันธุกรรม และมักเกิดขึ้นในช่วง 8 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์

ความบกพร่องของพัฒนาการทางเพศเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ และแต่ละรูปแบบก็เป็นลักษณะที่พบได้ไม่บ่อยนัก ขึ้นอยู่กับว่าเกิดความผิดปกติที่ส่วนใด และสภาวะของแต่ละบุคคล ส่วนการรักษาอาจทำได้ด้วยการผ่าตัด หรือรักษาด้วยฮอร์โมน หรืออาจใช้ทั้งสองวิธีร่วมกัน

อย่างไรก็ดี ในวารสารไซเอนติฟิกอเมริกันได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ โดยอ้างอิงจากคำอธิบายของศาสตราจารย์เจเนล ที่เคยบอกผ่านวารสาร "เนเจอร์" (Nature) ว่า บางคนที่มีโครโมโซม XX สามารถมีพัฒนาการของลักษณะที่เป็นเพศชายได้ ขณะที่บางคนที่มีโครโมโซม XY ก็อาจไม่เคยมีการพัฒนาลักษณะของเพศชายได้เหมือนกัน รวมถึงกรณีความผิดปกติในเพศชาย ที่มีโครโมโซมเป็น XXY ซึ่งมีความคิดทางด้านเพศที่ผิดแผกจากปกติตามโครโมโซม XX ของเพศหญิง และ XY ของเพศชาย

ทั้งนี้เพราะภาวะความบกพร่องในการตอบสนองของฮอร์โมนแอนโดรเจน โดยคนที่มีโครโมโซม XX จะมีระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนสูง ทำให้มีการพัฒนาลักษณะของเพศชาย ตรงข้ามกับคนที่มีโครโมโซม XY แต่ไม่เกิดการพัฒนาลักษณะของเพศชาย เพราะฮอร์โมนแอนโดรเจนไม่ทำงาน

อย่างไรก็ดี ไซเอนติฟิกอเมริกันฉบับเมื่อปี 2550 เคยรายงานไว้ว่า เด็กทารกประมาณ 1 ใน 4,500 คน เมื่อแรกเกิด จะปรากฏลักษณะของอวัยวะเพศไม่ชัดเจน เช่น มีคริทอริส (critoris คือ อวัยวะที่อยู่บนสุดของอวัยวะเพศหญิงมีลักษณะเป็นปุ่มเล็กไวต่อความรู้สึก) คล้ายองคชาติ (penis) ของเพศชาย หรือมีองคชาติคล้ายคริทอริสก็ได้ ซึ่งในรายงานฉบับดังกล่าว เอริค วิเลน (Eric Vilain) นักพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในลอสแอนเจลิส (University of California, Los Angeles) หมายเหตุไว้ด้วยว่าการขาดโครโมโซม Y ทำให้กระบวนการทางพันธุกรรมในตัวอ่อนเกิดความบกพร่อง จนนำไปสู่การพัฒนาของรังไข่ ถึงแม้ว่ายีนต่อต้านเพศชาย (antimale genes) ยังมีความจำเป็นต่อการทำให้รังไข่ทำงาน

สำหรับกรณีของเซเมนยา ไม่ใช่กรณีแรกที่เพิ่งเกิดขึ้น โดยก่อนหน้าในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 2539 ที่แอตแลนตา สหรัฐฯ นั้น มีการตรวจพบนักกีฬาหญิงจำนวน 8 คน มีโครโมโซมเพศเป็น XY และไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งไทม์ระบุว่าพวกเธอเหล่านั้นเป็นเพศหญิงโดยทางกายภาพ แม้ว่ายีนบ่งบอกว่าเธอเป็นเพศชาย และสุดท้ายพวกเธอก็ได้รับสิทธิความเป็นผู้หญิงกลับคืนมา และนอกจากนี้ก็ยังมีกรณีอื่นๆ อีกหลายกรณีในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ผ่านมา
Caster Semenya นักกรีฑาหญิงจากแอฟริกาใต้ ซึ่งภายหลังเธอคว้าแชมป์โลกก็ถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจเป็นเพศชายแฝงตัวมาแข่งกับผู้หญิง (เอพี)
Caster Semenya หลังคว้าแชมป์โลก (เอเอฟพี)
Caster Semenya แชมป์โลกกรีฑา หญิง ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็น ชาย (เอเอฟพี)
ผลพิสูจน์เพศระบุว่า Caster Semenya เป็น หญิง แต่ผลพิสูจน์ดีเอ็นเอบ่งบอกว่าโครโมโซมเป็น XY ของเพศชาย (เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น