xs
xsm
sm
md
lg

ชี้อีก 2 ปีธุรกิจพลาสติกชีวภาพบ้านเราเกิดแน่ แต่ไม่ใช่ของคนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวอย่างเสื้อที่ทอขึ้นจากเม็ดพลาสติกชีวภาพ
ไทยมี "แป้ง" และ "น้ำตาล" เหลือเฝือเป็นวัตถุดิบผลิตพลาสติกชีวภาพ มั่นใจอีก 2 ปีข้างหน้ามีธุรกิจพลาสติกชีวภาพเกิดในเมืองไทยแน่ แต่เจ้าของไม่ใช่คนไทย เร่งนักวิจัยรีบทำงานวิจัย สนช.พร้อมให้ทุนสนับสนุนวิจัยและยกประโยชน์ทั้งสิทธิบัตรและรายได้ให้นักวิจัย ด้านนักวิจัยเผยญี่ปุ่นทำวิจัยมา 20 ปี แต่ไปไม่รอดเพราะขาดวัตถุดิบ

ดร.ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์และสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งว่า ขณะนี้มีตัวแทนธุรกิจพลาสติกชีวภาพจากต่างประเทศ 3 รายที่สนใจเข้ามาสร้างธุรกิจชีวภาพในเมืองไทยคือ กลุ่มธุรกิจจากญี่ปุ่น บริษัทเพียวแรค (Purac) และบริษัทเนเจอร์เวิร์คส (Natureworks) ซึ่งอีก 2 ปีข้างหน้าจะเกิดธุรกิจพลาสติกชีวภาพในเมืองแน่ แต่ธุรกิจดังกล่าวจะไม่อยู่ในมือคนไทย จึงอย่างให้นักวิจัยไทยช่วยกันเร่งมือวิจัยและพัฒนาในเรื่องนี้ และอยากให้ธุรกิจเป็นของเมืองไทย

ทั้งนี้ เขากล่าวว่าประเทศไทยมีจุดแข็งสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ตรงที่มี "น้ำตาล" และ "แป้ง" ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำที่มีความสำคัญต่อการผลิตพลาสติกชีวภาพอย่างเหลือเฝือ อีกทั้งพลาสติกชีวภาพยังจัดเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์อยางหนึ่ง ซึ่งหากรัฐบาลเขามาเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในการประกาศสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ จะเพิ่มมูลค่าให้กับมันสำปะหลังได้กิโลกรัมละ 50 สตางค์ ซึ่งผลผลิตของประเทศทั้งหมด 27 ล้านตันจะทำให้รัฐมีรายได้ทันที 14,000 ล้านบาท โดยต้นทุนของของโรงงานประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งจะคืนทุนทางเศรษฐกิจภายใน 4-5 ปี

ทั้งนี้ นายศุภชัยได้ให้สัมภาษณ์ในงานประชุมวิชาการพลาสติกชีวภาพและวัสดุชีวภาพไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 (Thai-Japan Bioplastics and Biobased Materials Symposium) เมื่อวันที่ 2 ก.ย.52 ณ โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ ซอยรางน้ำ ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมขั้นสูงแห่งญี่ปุ่นหรือเอไอเอสที (National Institute of Advanced Industrial Science and Technology: AIST)

สำหรับ การจัดประชุมพลาสติกชีวภาพร่วมกับญี่ปุ่นครั้งนี้ ดร.ศุภชัยกล่าวว่า ทางญี่ปุ่นต้องการจะเข้ามาลงทุนทำธุรกิจพลาสติกชีวภาพในเมืองไทย เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ อีกทั้งยังจะเกิดความร่วมมือวิจัยด้านการผลิตมอนอเมอร์ พอลิเมอร์ การย่อยสลาย วัตถุดิบใหม่สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ โดยญี่ปุ่นนั้นมีความเชี่ยวชาญในการผลิตกรดแลคติค ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำต่อจากแป้งและน้ำตาลที่จะนำไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติก

ด้าน รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีแปรรูปมันสำปะหลัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์และสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งว่า เขาทำวิจัยทางเรื่องพลาสติกชีวภาพ โดยร่วมวิจัยกับสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมขั้นสูงแห่งญี่ปุ่นมากกว่า 20 ปี ซึ่งเมื่อก่อนนั้นพลาสติกชีวภาพเกิดได้ยาก เนื่องจากมีราคาแพงมากจนไม่อาจขายได้

"ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่กล้าซื้อพลาสติกชีวภาพ เอไอเอสทีเองก็เสียเงินทุกปีเพื่อทำเรื่องนี้ ขณะที่ยุโรปและสหรัฐฯ เพิ่งเริ่มทำเรื่องนี้" รศ.ดร.กล้าณรงค์กล่าว อย่างไรก็ดีเขาชี้ให้เห็นปัญหาในการพัฒนาพลาสติกของต่างประเทศว่า ในส่วนของญี่ปุ่นนั้นนำยอมให้นำแค่เศษอาหารเท่านั้นมาผลิตได้ ส่วนเยอรมันเลือกใช้พืชผักที่คนไม่กินเป็นวัตถุดิบ

ขณะที่ประเทศไทยมีวัตถุดิบเหลือเฝือ โดยทั่วโลกมีความต้องการพลาสติกชีวภาพ 800,000 ตัน แต่กำลังผลิตปัจจุบันทำได้แค่ปีละ 100,000 ตัน ซึ่งหากไทยจะทำเพิ่มอีกแค่ 100,000 ตัน ก็ยังมีมันสำปะหลังเหลือในโกดังอีกมาก

พร้อมกันนี้ สนช. ได้ลงนามความร่วมมือโครงการการบริหารจัดการด้านการวิจัยและพัฒนาพลาสติกชีวภาพกับสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีงบประมาณดำเนินงาน 71 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการด้านการวิจัยและพัฒนาพลาสติกชีวภาพในทิศทางที่ต่อยอดเพื่อสร้างเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้แก่ การผลิตมอนอเมอร์ การทำพอลิเมอร์ไรเซชันเพื่อผลิตเม็ดเรซิ่น และการเม็ดพลาสติกชีวภาพเพื่อเป็นวัตถุดิบขึ้นรูปเป็นพลาสติกชีวภาพรูปแบบต่างๆ

ดร.ศุภชัยกล่าวถึงการสนับสนุนงานวิจัยพลาสติกชีวภาพของนักวิจัยไทยว่า ก่อนเริ่มงานวิจัย จะให้ทุนนำนักวิจัยไปดูงานการผลิตพลาสติกชีวภาพของต่างประเทศ เพื่อให้เห็นภาพที่เป็นรุปธรรม แล้วกลับมาพัมนาวิจัยที่สามารถต่อยอดสู่อุตสาหกรรมจริงได้ โดยภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ต้องมีงานวิจัยที่นำไปต่อยอดได้อย่างน้อย 15 ผลงาน

ด้าน ศ.ดร.รังสิต สุวรรณมรรคา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ลงนามความร่วมมือครั้งนี้กล่าวว่า จะต้องสร้างเครือข่ายให้เกิดนักวิจัยด้านพลาสติกชีวภาพ และสร้างงานวิจัยที่ศักยภาพพร้อมนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ได้จริง โดยโจทย์ของงานวิจัยจะเกิดจากโจทย์ของบริษัทเอกชนซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA)

สำหรับการสนับสนุนงานวิจัยปีแรกจะเน้นการพัฒนาพลาสติกชีวภาพชนิดพอลิแลคติคแอซิด (polylactic acid) หรือพีแอลเอ (PLA) ซึ่งเป็นพลาสติกที่มีศัยภาพสู่การผลิตในอุตสาหกรรม และเป็นอุตสาหกรรมที่มองเห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว.
ตัวอย่างผลงานพลาสติกชีวภาพจากสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย
รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต
กำลังโหลดความคิดเห็น