สนช. - สนช. หนุนเอกชน 8 แสนบาท พัฒนาเครื่องเป่าขึ้นรูปฟิล์มพลาสติกชีวภาพแบบสามชั้น หวังช่วยลดต้นทุนการผลิต พร้อมกระตุ้นอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในไทย ทั้งยังประยุกต์ใช้ขึ้นรูปผลิตภัณฑ์อื่นได้ด้วย
ดร. ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบแผนที่นำทางการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในระหว่างปี พ.ศ. 2551-2555 ในกรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 1,800 ล้านบาท ตามที่ สนช. ได้นำเสนอ เพื่อให้อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเป็นอุตสาหกรรมเพื่ออนาคตของประเทศไทยนั้น ซึ่งนับเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมไทย เพื่อสร้างนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ที่มีมูลค่าใหม่ที่สูงมากในภาคเกษตรกรรม พร้อมๆ กับการก่อเกิดอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับกระแสความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมโลก
“สนช. ในฐานะแกนหลักในการดำเนินโครงการยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของประเทศไทย จึงได้เร่งสนับสนุนภาคเอกชนในการลงทุนธุรกิจนวัตกรรมด้านนี้เพิ่มมากขึ้น โดยล่าสุดได้ให้การสนับสนุน บริษัท อุตสาหกรรมถุงพลาสติกไทย จำกัด ในการพัฒนานวัตกรรมเครื่องเป่าขึ้นรูปฟิล์มแบบสามชั้นสำหรับพลาสติกชีวภาพ ภายใต้โครงการ “แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน” วงเงิน 800,000 บาท โดยมีมูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้น 1,650,000 บาท ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชีวภาพมีคุณภาพสูง มีความสม่ำเสมอ ลดต้นทุนการผลิต และสร้างโอกาสนำในการนำไปประยุกต์ใช้ขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อย่างกว้างขวางขึ้น” ดร. ศุภชัย กล่าวเพิ่มเติม
ด้านนายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมถุงพลาสติกไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันเครื่องเป่าขึ้นรูปฟิล์มส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องที่สามารถเป่าได้ฟิล์มชั้นเดียว ซึ่งไม่เหมาะสำหรับการเป่าเม็ดพลาสติกชีวภาพ จึงได้มีแนวคิดพัฒนาเครื่องเป่าขึ้นรูปฟิล์มแบบสามชั้น ด้วยการพัฒนาสกรูและหัวดายน์ที่ใช้เป่าฟิล์มสำหรับพลาสติกชีวภาพ โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ในการศึกษาและคำนวณพฤติกรรมการไหลของพลาสติกชีวภาพ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการออกแบบสกรู เพื่อให้เหมาะสมกับการไหลของพลาสติกชีวภาพ โดยแบ่งเป็น 2 สกรู คือ สกรูที่หนึ่ง ใช้กับคอมพาวด์พลาสติกชีวภาพที่มีสูตรการเติมแป้งในปริมาณสูง เพื่อผลิตเป็นฟิล์มที่อยู่ตรงกลาง โดยออกแบบระยะทางในการหลอมเหลวให้สั้นลง เพื่อลดการไหม้ของแป้งซึ่งหากได้รับความร้อนนานเกินไปจะทำให้ฟิล์มมีสีน้ำตาลได้ ส่วนสกรูที่สอง ใช้สำหรับการขึ้นรูปพลาสติกชีวภาพล้วน หรือผสมแป้งในปริมาณที่น้อยกว่าชั้นกลาง โดยพลาสติกในชั้นนี้จะเป็นชั้นผิวที่มีความแข็งแรงในขณะหลอมเหลวสูงกว่า
นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบหัวดายน์ให้สามารถควบคุมขนาดและความหนาของฟิล์มที่เหมาะสำหรับการนำไปใช้งานในรูปแบบต่างๆ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชีวภาพ ร้อยละ 20-30 ก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชีวภาพ เช่น ถุงขยะ ถุงใส่ของ ฟิล์มเกษตร ให้มีราคาถูกลงเพื่อสามารถนำไปใช้งานได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น