"เนเจอร์เวิร์ค" ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพรายเดียวของโลก เล็งไทยตั้งโรงงานแห่งที่ 2 เหตุมีศักยภาพสูงในเรื่องวัตถุดิบ และมีความพร้อมเกือบทุกด้าน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ด้าน ผอ.สนช.มั่นใจไม่กระทบพืชอาหารแน่นอน แต่จะช่วยเพิ่มมูลค่ามันสำปะหลังส่งออกได้ 21 เท่า ส่วนอนาคตมีแนวโน้มใช้ฟางข้าว ฟางอ้อย เป็นวัตถุดิบด้วย
ดร.มาร์ค เวอร์บรัคเก้น (Dr. Marc Verbruggen) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนเจอร์เวิร์ค จำกัด จากสหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ภายในงานสัมมนาโอกาสของประเทศไทย ในการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพแห่งภูมิภาค (Bioplastics Industry Initiatives: Thailand's Opportunity towards a Regional Bioplastics Hub) ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย เมื่อวันที่ 24 เม.ย.52 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมคอนราด
ดร.มาร์ค เปิดเผยว่า เนเจอร์เวิร์คเป็นบริษัทเดียว ที่ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพจากข้าวโพด โดยผลิตได้ประมาณ 1.4 แสนตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่าของส่วนแบ่งในตลาดโลกราว 1 ใน 3 ของมูลค่าพลาสติกทั้งหมด
แต่ความต้องการพลาสติกชีวภาพในตลาดโลกกำลังขยายตัวขึ้นอย่างสูงและต่อเนื่อง เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกที่มีจำนวนมากและย่อยสลายยาก ซึ่งพลาสติกชีวภาพนั้นจะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
เนเจอร์เวิร์คจึงได้วางแผนที่จะขยายกำลังการผลิต โดยมองว่าจะสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพแห่งที่ 2 ในแถบภูมิภาคเอเชีย ที่มีความเหมาะสม มีกำลังการผลิตราว 1.5 แสนตันต่อปี ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาประเทศไทย จีน สิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยคาดว่าจะสามารถตัดสินใจและเริ่มโครงการได้ราวปลายปี 53
"ประเทศไทยมีวัตถุดิบจำนวนมาก ทั้งอ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการนำมาผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพที่มีประสิทธิภาพสูงของโรงงานที่จะเกิดขึ้นได้ อีกทั้งยังมีแผนที่นำทางการพัฒนาพลาสติกชีวภาพที่ชัดเจน" ดร.มาร์คเผย
นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า ไทยยังมีความพร้อมในด้านการลงทุน การขนส่ง การตลาด และอุตสาหกรรมพลาสติกในไทยก็มีศักยภาพสูงไม่ด้อยไปกว่าประเทศอื่น และมีความโดดเด่นในส่วนของงานวิจัยด้านการเกษตร
ส่วนเนเจอร์เวิร์คก็มีความพร้อมของเทคโนโลยีด้านพอลิเมอร์อยู่แล้ว โดยดร.มาร์คเผยศักยภาพและข้อได้เปรียบของประเทศไทย ในการจะเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพแห่งที่ 2 ของโลก ซึ่งอาจต้องใช้เงินลงทุนราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 10,725 ล้านบาท)
ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงประเทศเวียดนาม ที่ดูเหมือนจะเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในด้านการเกษตรและการวิจัยพัฒนา แต่ทำไมจึงไม่เป็นที่สนใจของเนเจอร์เวิร์ค ดร.มาร์ค ได้ตอบว่า ศักยภาพในด้านวัตถุดิบการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพของไทยและเวียดนามสูสีกัน แต่ในด้านเศรษฐกิจ การลงทุน การส่งออก และอุตสหกรรมพลาสติกของเวียดนามยังสู้ไทยไม่ได้
ฉะนั้น ณ ตอนนี้จึงตัดเวียดนามออกไปก่อน แต่ไม่แน่ว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ก็มีโอกาสที่จะสนใจตั้งโรงงานแห่งใหม่ในเวียดนามได้เหมือนกัน
ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยตอนนี้ ดร.มาร์ค เชื่อว่าจะสามารถคลี่คลายลงได้ในไม่ช้า และสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยกลับมาได้เหมือนเดิม ขณะที่ประเทศอื่นอย่างจีน และมาเลเซีย ก็มีปัญหาเรื่องการเมืองด้วยเช่นกัน แต่หากมองในระยะยาวแล้วประเทศไทยมีศักยภาพและความเชื่อมั่นมากกว่าอย่างแน่นอน
ด้าน ดร.ศุภชัย หล่อโลหการ ผอ.สนช. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนว่า ศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนาด้านพลาสติกชีวภาพขณะนี้ สามารถไล่ตามทันประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียได้แน่นอน ซึ่งขณะนี้ไทยก็กำลังอยู่ระหว่างร่วมมือกับหลายประเทศในการพิจารณาตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพจากมันสำปะหลังในไทย
หากเนเจอร์เวิร์คเลือกเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพในประเทศไทย จะช่วยให้ไทยขยายงานวิจัยด้านพลาสติกชีวภาพเพิ่มมากขึ้นและเป็นไปอย่างมีทิศทางยิ่งขึ้น
ทั้งเทคโนโลยีการหมัก การขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ การปรับปรุงพันธุ์วัตถุดิบ เป็นต้น และจะก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่มีโรงงานพลาสติกอยู่แล้วราว 4,000 แห่ง ซึ่งไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพของภูมิภาคได้อย่างแน่นอน
"ขณะนี้ไทยผลิตมันสำปะหลังส่งออกราว 27 ล้านตันต่อปี แต่ส่วนที่เราจะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพนั้นแค่เพียงไม่เกิน 5% เท่านั้น ซึ่งก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าของมันสำปะหลังส่งออกได้ถึง 21 เท่า ส่วนอ้อยก็จะนำมาใช้ไม่เกิน 1% ของปริมาณที่ส่งออก (ราว 7 ล้านตันต่อปี) จึงมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้เป็นพืชอาหารอย่างแน่นอน"
"และในอนาคตจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพจากเซลลูโลสที่อยู่ในฟางข้าว ฟางอ้อย และวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรชนิดอื่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุที่เหลือใช้ในการเกษตรได้จำนวนมาก" ผอ.สนช. เผย.