xs
xsm
sm
md
lg

"น้ำขวด" หรือ "น้ำก๊อก"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำที่ดื่มกินได้บนผืนโลก มีปริมาณน้อยกว่าที่เห็นมากมาย น้ำจากแหล่งสาธารณูปโภคที่มนุษย์สร้างขึ้นสะอาดเพียงพอหรือไม่ และน้ำดื่มบรรจุขวดเป็นทางเลือกที่ดีกว่าจริงหรือ
น้ำบรรจุขวด ทั้งน้ำธรรมดาจากแหล่งธรรมชาติ หรือน้ำแร่ กลายเป็นตัวช่วยสำคัญในชีวิตประจำวัน ทั้งในแง่ความสะดวก และความปลอดภัยต่อสุขภาพของคนเรา ทว่าในแง่สิ่งแวดล้อมแล้ว การบริโภคน้ำบรรจุขวดนับเป็นการทำร้ายโลกไม่น้อยเลยทีเดียว

รายงานจากสถาบันนโยบายโลก (Earth Policy Institute : EPI) ระบุว่า เมื่อผู้คนกระหายน้ำ และเลือกที่จะดื่มน้ำบรรจุขวด นั่นคือการเพิ่มปริมาณขยะที่ไม่จำเป็น และยังเป็นการบริโภคพลังงานอย่างสิ้นเปลือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำจากท่อประปาที่สะอาดเพียงพอให้ดื่มกิน

ต้นทุนที่ต้องจ่าย

สถาบันดังกล่าวระบุข้อมูลในช่วงปี 1999 และ 2004 ว่า มีการบริโภคน้ำดื่มบรรจุขวดเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว นั่นหมายถึง แต่ละปีมีน้ำประมาณ 154,000 ล้านลิตร ถูกจำหน่ายในรูปแบบขวด

ไม่มีใครระบุได้ชัดเจนว่า น้ำดื่มบรรจุขวดปลอดภัยกว่าน้ำประปาจากท่อ แต่มูลค่าของน้ำดื่มในขวดนั้นแพงกว่าน้ำประปาถึง 10,000 เท่า หรืออาจจะมีราคาต่อลิตรสูสีกับน้ำมันเชื้อเพลิงก็เป็นได้

ทั้งนี้ ราคาน้ำในขวดที่แพงเกินจริงนั้น อันเนื่องมาจากต้นทุนจากบรรจุภัณฑ์และการขนส่ง

อย่างในสหรัฐอเมริกา น้ำบรรจุขวดมากกว่า 1 ใน 4 ที่วางขาย ต้องเดินทางไกลข้ามประเทศ เพื่อการจัดจำหน่ายถึงผู้บริโภค

รายงาฉบับเดียวกันนี้ยังยกตัวอย่าง บริษัทหนึ่งในฟินแลนด์ ที่จัดน้ำประปาบรรจุลงขวดในปีหนึ่งๆ ประมาณ 1.4 ล้านขวด ส่งจำหน่ายให้กับซาอุเดียอาระเบีย ซึ่งต้องเพิ่มต้นทุนในการเดินทางไกลถึง 4,300 กิโลเมตร

ขณะที่บริษทผลิตน้ำแร่ชื่อดังของฝรั่งเศส ก็ส่งออกน้ำแร่ราว 50-60% ไปทั่วโลก

สหรัฐฯ ประเทศที่มีประชากรบริโภคน้ำดื่มบรรจุขวดอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งชาวอเมริกันต้องการน้ำขวดถึงปีละ 26,000 ล้านลิตร ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเม็กซิโกตามติดมาเป็นอันดับที่สอง ขณะที่จีนและบราซิลบริโภคน้ำบรรจุขวดเป็นอันดับที่สามและสี่ตามลำดับ

น้ำขวดดีกว่าจริงหรือ

ส่วนในประเทศที่กำลังพัฒนา (อย่างเรา) แน่นอนว่า การดื่มน้ำบรรจุขวดย่อมดีต่อสุขภาพมากกว่าจากท่อประปา

ทว่า มีผลการศึกษาหลายต่อหลายชิ้น ที่ระบุว่า ยังไม่สามารถฟันธงได้เช่นนั้น เหตุเพราะน้ำดื่มบรรจุขวดจำนวนมาก ก็นำน้ำจากท่อประปามาใส่ขวดวางขาย ดังนั้นจึงไม่สามารถชี้ชัดแบบรวมๆ ได้ว่า น้ำขวดสะอาดและปลอดภัยกว่าน้ำจากท่อประปา

ทั้งนี้ กลุ่มอนุรักษ์ในนิวยอร์ก ซิตี้ สหรัฐฯ ได้สำรวจและทดสอบน้ำดื่มบรรจุขวดในสหรัฐฯ พบว่า 25% ที่วางขายในท้องตลาด ก็คือน้ำก๊อกบรรจุขวดดีๆ นั่นเอง บางยี่ห้อก็นำมาจัดการทำความสะอาดสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่บางยี่ห้อก็ใช้น้ำจากท่อวางขายกันเลย

ก่อนหน้านี้ หน่วยงานจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อมของอังกฤษ ยังได้ตั้งคำถามถึงคุณภาพ การติดฉลาก และที่มาของน้ำว่าสอดคล้องกันจริงหรือไม่ ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่าน้ำที่นำมาบรรจุขวดนั้นเป็นไปตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ อีกทั้งการรับรู้ว่าน้ำบรรจุขวดนั้นสะอาดบริสุทธิ์กว่าน้ำก๊อกก็ยังไม่เป็นที่ประจักษ์

บางครั้งน้ำบรรจุขวดที่มีแร่ธาตุมากมายใส่เข้าไปด้วยนั้น บางยี่ห้อก็ไม่เหมาะสมที่จะนำมาเลี้ยงทารกหรือเด็กเล็ก

ทว่า ทางสมาคมน้ำดื่มบรรจุขวดสากลก็เคยออกมาตอบโต้ว่า ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาสร้างความสะดวก และเป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพ ที่ทำให้ไม่จำเป็นต้องเลือกซื้อหาแต่เครื่องดื่มที่มีแคลอรี่สูง หรือคาเฟอีน หรือสารสังเคราะห์อื่นๆ

อีกทั้งน้ำดื่มบรรจุขวดที่ได้รับอนุญาตจากทางการย่อมปลอดภัยในการบริโภค ขณะเดียวกัน หลายๆ ประเทศกำลังพัฒนานั้น น้ำก๊อกไม่ปลอดภัยเลยที่จะใช้ดื่ม ดังนั้นน้ำบรรจุขวดจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ขยะพลาสติก

แม้ว่า น้ำบรรจุขวด (อาจจะ) ปลอดภัยกว่าในการดื่มกิน แต่บรรจุภัณฑ์ก็ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งในแต่ละปี มีขยะพลาสติกจากขวดน้ำเหล่านี้มากถึง 2.7 ล้านตัน

พลาสติกเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นแบบเพท (PET : polyethylene terepthalate) ที่สกัดได้จากน้ำมันดิบ แค่เฉพาะขวดน้ำที่ส่งขายตามความต้องการบริโภคของชาวอเมริกัน ทำให้ต้องใช้น้ำมันถึงปีละ 1.5 ล้านบาร์เรลเพื่อผลิตขวดให้ได้เท่าปริมาณดังกล่าว ซึ่งน้ำมันจำนวนนี้สามารถเติมเป็นเชื้อเพลิงให้รถยนต์ได้มากถึง 100,000 คัน

เฉพาะในสหรัฐฯ ขวดพลาสติกจากน้ำดื่ม 86% กลายเป็นขยะ ตามข้อมูลของสถาบันรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ ในกรุงวอชิงตัน ดีซี เศษขยะพลาสติกสามารถวนเวียนอยู่ในระบบนิเวศน์ได้นานราว 400-1,000 ปีกว่าจะย่อยสลายไป

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาภาวะการทำลายสิ่งแวดล้อมจากขวดบรรจุน้ำพลาสติก เหล่าบริษัทในธุรกิจนี้จะต้องหาหนทางสร้างบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นการสร้างพลาสติกชีวภาพ จากพืชการเกษตรที่ไม่สามารถบริโภคได้ โดยอายุของพลาสติกเหล่านี้จะสูญสลายไปภายในไม่กี่เดือน

อย่างไรก็ดี ในแง่ของผู้บริโภค ที่ใส่ใจต่อทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หากเรามีทางเลือกในการผลิตน้ำสะอาดดื่มเองที่บ้าน เช่น การต้ม การกรอง พร้อมทั้งพกพาบรรจุภภัณฑ์ส่วนตัว หรือ พยายามใช้บรรจุภัณฑ์จากน้ำดื่มบรรจุขวดให้เกิดประโยชน์สูงสุดก็จะเป็นอีกหนทางที่เอื้อต่อสุขภาวะที่ดีของทั้งเราและโลก.
ขวดบรรจุน้ำดื่มพลาสติก ขนาดต่างๆ เป็นขยะกองใหญ่ ที่เราต้องซื้อหาแพงกว่าน้ำทั่วไป และยังมีราคาในการย่อยสลายอีกด้วย (Reuters)
เด็กหญิงชาวอัฟกันกำลังตวงน้ำจากท่อประปาที่ไม่แน่ใจว่าสะอาดเพียงพอหรือไม่ (AFP)
กำลังโหลดความคิดเห็น