xs
xsm
sm
md
lg

PTTCHถือหุ้น”มีเรียนท์”ที่สหรัฐฯต่อยอดธุรกิจไบโอพลาสติกในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ปตท.เคมิคอลร่วมทุนและวิจัยพัฒนาด้านไบโอเทคโนโลยีกับบริษัท มีเรียนท์ เทคโนโลยีฯจากสหรัฐฯ ใส่เงิน60 ล้านเหรียญสหรัฐซื้อหุ้นเพิ่มทุนมีเรียนท์ฯ หวังเป็นเจ้าของเทคโนโลยีด้านไบโอเทคโนโลยี หลังมีเรียนท์ตั้งโรงงานผลิต Succinic Acid ในสหรัฐฯ ตั้งเป้าหมาย 5ปีตั้งโรงงานผลิตไบโอพลาสติกในประเทศ

วานนี้ (24 ม.ค.) บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน)(PTTCH)ร่วมลงนามในข้อตกลงร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านไบโอเทคโนโลยีกับบริษัท มีเรียนท์ เทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและพัฒนาไบโอเทคโนโลยีชั้นนำของสหรัฐฯ โดยมีนางCynthia A. Griffin ที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์สถานเอกอัครราชทูตอเมริกาประจำประเทศไทย และนายปรัชญา ภิญญาวัธน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการธุรกิจขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)เป็นประธาน

นายวีระศักดิ์ โฆสิตไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า บริษัทฯได้เข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท มีเรียนท์ เทคโนโลยี สหรัฐฯ ในเงินลงทุน 60 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1,800 ล้านบาท ในการร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรม เพื่อผลิตพลาสติกและเคมีภัณฑ์ชีวภาพและนำไปสู่การต่อยอดพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือกรีน โปรดักส์

ทั้งนี้บริษัท มีเรียนท์ เทคโนโลยีจะสร้างโรงงานBio-Succinic Acid ขนาดกำลังการผลิต 1.4 หมื่นตัน/ปี ที่มลรัฐหลุยส์เซียน่า โดยใช้วัตถุดิบทางชีวภาพที่หลากหลายและมีศักยภาพ เช่น กากของเหลือในอุตสาหกรรมหรือการเกษตร เพื่อให้ต้นทุนการผลิต Succinic Acid มีต้นทุนที่ต่ำแข่งขันได้ คาดว่าโรงงานดังกล่าวจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 19 เดือนข้างหน้าเมื่อโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จก็จะมีการขยายขนาดการลงทุนให้เหมาะสมเชิงพาณิชย์ต่อไป

“ บริษัทเข้าไปถือหุ้นในมีเรียนท์ฯไม่ถึง 50%ทำให้บริษัทฯจะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่วิจัยด้วย ทั้งนี้การตั้งโรงงานผลิต Succinic Acid บริษัทจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปร่วมพัฒนาด้วย สำหรับความเสี่ยงในการลงทุนนั้น บริษัทได้ประเมินความเสี่ยงตรงนั้นแล้ว และมีความมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จ”

สำหรับSuccinic Acid เป็นสารตั้งต้นสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพและเคมีชีวภาพอื่นๆ ใช้ในการส่วนผสมสี สารเติมแต่งพลาสติกและยางยืด เบาะรถยนต์ เป็นต้นซึ่งการร่วมทุนดังกล่าวนี้ถือเป็นการต่อยอดธุรกิจ และนับเป็นจุดเริ่มต้นให้ของปตท.เคมิคอลในการก้าวสู่การผลิตเคมีภัณฑ์ที่มีเป็นไบโอเบสในเชิงพาณิชย์ได้รวดเร็วขึ้น โดยบริษัทฯมีเป้าหมาย 5ปีข้างหน้าจะมีโรงงานผลิตไบโอพลาสติกเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นอ้อย มันสำปะหลังซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตกรีน เคมิคอล ซึ่งปัจจุบันตลาดพลาสติกชีวภาพมีแนวโน้มเติบโต

ส่วนขนาดการลงทุนโรงงานผลิตไบโอพลาสติกในไทยนั้นขึ้นอยู่กับตลาด และผลตอบแทนการลงทุนที่ดี โดยเบื้องต้นต้องมีผลตอบแทนการลงทุนไม่ต่ำกว่า15% ทั้งนี้ ปตท.ในฐานะบริษัทแม่ได้มอบหมายให้ปตท.เคมิคอลเป็นหัวหอกในการรุกธุรกิจไบโอเคมิคอล เนื่องจากประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบชีวภาพที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ขณะที่รัฐบาลไทยก็ส่งเสริม ดังนั้นการเข้าไปร่วมทุนในบริษัทวิจัยและพัฒนาอย่างมีมีเรียนท์ฯนับเป็นการก้าวกระโดดสู่ธุรกิจไบโอเคมิคอล
กำลังโหลดความคิดเห็น