สนช. ร่วมกับคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ฯ จัดประชุม เผยแพร่ความรู้ด้านพลาสติกชีวภาพ เพื่อนำเสนอใหรัฐบาลเร่งสร้างโอกาสพลาสติกชีวภาพในไทย คุณหญิงกัลยาเผยไทยได้เปรียบเรื่องวัตถุดิบ อุตสาหกรรมปลายน้ำก็มีมาก ต่างชาติก็สนตั้งโรงงานในไทย ระบุเตรียมประชุมหาข้อสรุป มั่นใจโรงงานเม็ดพลาสติกชีวภาพแห่งแรกเกิดแน่ในปี 53
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "นโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ" ในระหว่างการสัมมนาวิชาการเรื่อง "จะพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพอย่างไรเพื่อไทยเข้มแข็ง" ที่จัดโดยคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันศุกร์ที่ 7 ส.ค.52 ที่ผ่านมา ณ อาคารรัฐสภา ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์เข้าร่วมฟังด้วย
ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า พลาสติกชีวภาพเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต ที่จะมีส่วนช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพทางหนึ่ง เพราะพลาสติกชีวภาพผลิตมาจากสารธรรมชาติ และย่อยสลายกลับคืนสู่ธรรมชาติได้อย่างครบวงจร สร้างคาร์บอนสู่บรรยากาศในปริมาณน้อยมาก
หลายประเทศหันมาให้ความสนใจ และสนับสนุนการใช้พลาสติกชีวภาพอย่างจริงจัง ขณะที่ในบางประเทศก็มีเทคโนโลยีสามารถผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพได้เอง เช่น สหรัฐฯ และเยอรมนี เป็นต้น และมีการคาดการณ์กันว่าความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพจะเพิ่มขึ้นอีก 59% ในปี 2554
วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพมีหลายชนิด เช่น อ้อย ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ซึ่งมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย เพราะไทยสามารถผลิตมันสำปะหลังได้มากถึง 27 ล้านตันต่อปี แต่ต้องการนำมาใช้ทำพลาสติกชีวภาพเพียง 1 ล้านตัน จึงไม่กระทบกับการใช้เป็นอาหาร อีกทั้งมันสำปะหลังยังมีราคาต่อหน่วยต่ำกว่าพืชอื่นๆ มาก
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและให้การสนับสนุนงานวิจัยด้านพลาสติกชีวภาพมานานหลายปีแล้วตั้งตั้งแต่การผลิตจนถึงการย่อยสลาย
ขณะเดียวกัน สนช. ได้ผลักดันให้ผู้ประกอบการรวมกลุ่มกันเกิดเป็นสมาคมพลาสติกชีวภาพไทย ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกอยู่มากกว่า 40 บริษัท และในไทยก็มีอุตสาหกรรมปลายน้ำที่เกี่ยวกับพลาสติกอยู่ไม่น้อยกว่า 5,000 โรงงาน จึงนับว่าไทยเรามีความพร้อมทั้งในด้านวัตถุดิบและบุคลากรในการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในอนาคตตามแผนที่นำทางแห่งชาติการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ พ.ศ.2551-2555 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณเป็นจำนวนเงิน 1,800 ล้านบาท โดยมีคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ (กนช.) เป็นผู้กำกับดูแลและติดตามประเมินผลการดำเนินงาน
ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์จำเป็นต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าช่วย และนวัตกรรมพลาสติกชีวภาพก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งในการพัฒนาพลาสติกชีวภาพในไทยนั้นต้องอาศัย 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ นโยบายรัฐบาลที่ชัดเจน, การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี, การเตรียมความพร้อมด้านวัตถุดิบ และการลงทุนจากภาคเอกชน
"ตอนนี้เรามีนโยบายชัดเจนแล้ว งานวิจัยก็มีการศึกษากันมาหลายปีแล้ว และก็ยังให้การสนับสนุนงานวิจัยเพิ่มเติม ซึ่งไทยมีความได้เปรียบต่างชาติในด้านวัตถุดิบ ทำให้เอกชนจากต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานพลาสติกชีวภาพในไทย" ดร.คุณหญิงกัลยา เผย
อย่างไรก็ดี ดร.คุณหญิงกัลยา บอกว่าหลังจากนี้จะมีการหารือกันในสภาถึงเรื่องจัดตั้งโรงงานพลาสติกชีวภาพในไทยว่าจะทำกันอย่างไร ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งการร่วมลงทุนกับต่างชาติ หรือดำเนินการเองทั้งหมดโดยซื้อเทคโนโลยีจากต่างชาติ แต่คาดว่าภายในปี 2555 จะมีโรงงานพลาสติกชีวภาพแห่งแรกเกิดขึ้นในไทยอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ การจัดประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านเทคโนโลยีและความสำคัญของพลาสติกชีวภาพ กระตุ้นประชาชนให้ตระหนักถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลให้เร่งดำเนินนโยบายเพื่อสร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในประเทศไทย และก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางด้านพลาสติกชีวภาพของภูมิภาค.