xs
xsm
sm
md
lg

ปีนี้ สนช. ให้งบหนุน "Eco-Industry" เพิ่มอีก 70 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิเชียร สุขสร้อย
สนช.ให้งบ 70 ล้านบาทหนุนอุตสาหกรรมเศรษฐนิเวศเพิ่มอีก 21 โครงการ หวังสร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศนับหมื่นล้านบาท พร้อมร่วมมือ วว. ส่งนักวิจัยไปเยอรมนี เรียนรู้เทคนิคแปลงเศษปาล์มเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง เตรียมตั้งโรงงานแห่งแรก ส่วนโรงงานเม็ดพลาสติกชีวภาพใกล้เป็นจริง สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-เนเธอแลนด์ แข่งกันขอร่วมมือกับไทย คาดปลายปีได้ข้อสรุป

นายวิเชียร สุขสร้อย ผู้จัดการฝ่ายบริหารโครงการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์พิเศษแก่สื่อมวลชนและทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ เกี่ยวกับโอกาสและกลยุทธ์ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อขยายขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยโครงการนวัตกรรมด้านพลาสติกชีวภาพ, พลังงานทดแทน, การจัดการของเสีย และเกษตรอินทรีย์

นายวิเชียร กล่าวว่าการสนับสนุนโครงการอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ หรือ อีโค-อินดัสทรี (Eco-Industry) ของ สนช. จะมุ่งเน้นด้านพลาสติกชีวภาพเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการเติบโตของพลาสติกชีวภาพในตลาดโลกเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เฉพาะในยุโรปเติบโตขึ้นปีละ 10% แต่หากเทียบสัดส่วนในระดับโลก เติบโตราวปีละ 0.2% เท่านั้น ฉะนั้นการพัฒนาพลาสติกชีวภาพจึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก และตอนนี้มีเพียงเนเจอร์เวิร์ก (Nature Works) บริษัทเดียวในโลกที่สามารถผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพได้จากแป้งข้าวโพด ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐฯ

"ประเทศไทยมีผลิตมันสำปะหลังได้จำนวนมาก ซึ่งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพได้เช่นเดียวกัน แต่ประเทศไทยยังขาดเทคโนโลยีในการขึ้นรูปกรดแลคติคจากมันสำปะหลังให้เป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพ ซึ่งรัฐบาลก็ได้สนับสนุนงบประมาณวิจัยพลาสติกชีวภาพในประเทศไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จำนวน 1,800 ล้านบาท เมื่อกลางปีที่แล้ว และตั้งเป้าว่าจะสร้างโรงงานต้นแบบผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพจากมันสำปะหลังกำลังการผลิต 50,000 ตัน ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยภายใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจเป็นโรงงานเม็ดพลาสติกชีวภาพแห่งที่ 2 ของโลกด้วย" นายวิเชียรให้ข้อมูล

ขณะนี้มีเอกชนจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเนเธอแลนด์ ที่สนใจจะร่วมก่อตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพร่วมกับไทย ซึ่งหากสำเร็จจะช่วยเพิ่มโอกาสธุรกิจพลาสติกชีวภาพและเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทยได้มาก จะทำให้ต้นทุนการผลิตพลาสติกชีวภาพของไทยต่ำลง และทำให้มันสำปะหลังมีมูลค่าสูงขึ้นได้ โดยคาดว่าปลายปีนี้จะได้ข้อสรุปว่าเอกชนรายใดบ้างจะได้เข้าร่วมลงทุนในโรงงานต้นแบบ และจะดำเนินการก่อสร้างโรงงานที่ใด โดยมองว่าน่าจะอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่มีการปลูกมันสำปะหลังมาก เช่น จ.นครราชสีมา และ จ.กาฬสินธุ์

ในปีนี้ สนช. ยังมีโครงการร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในการส่งนักวิจัยนักวิจัยของ วว. 2 คน และนักวิจัยจาก บริษัท ซูเทค คอนซัลแตนท์ จำกัด อีก 1 คน ไปเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตน้ำมันสังเคราะห์จากชีวมวล หรือบีทีแอล (Biomass to Liquid: BTL) ที่สถาบันเทคโนโลยีคาร์ลสรูห์ (Karlsruhe Institute of Technology: KIT) ประเทศเยอรมนี ในเดือน มิ.ย. นี้ เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดย สนช. สนับสนุนงบประมาณ 2 ล้านบาท

นายวิเชียรบอกว่าตอนนี้เยอรมนีเป็นเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่มีโรงงานผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจากชีวมวล โดยเขาใช้วัตถุดิบเป็นฟางข้าวและเศษไม้ต่างๆมาทำเป็นน้ำมันเครื่องและน้ำมันดีเซลใช้ในเชิงพาณิชน์ แต่ไทยเรามองไว้ว่าจะใช้กับขยะที่เหลือทิ้งจากการเกษตร เช่น เศษปาล์มที่เหลือทิ้งจากโรงงานน้ำมันปาล์ม ซึ่งหากเรามีเทคโนโลยีดังกล่าว จะทำให้เศษปาล์มกลายเป็นน้ำมันที่มีมูลค่าสูงขึ้นได้ หรือไว้ใช้เป็นพลังงานในโรงงานน้ำมันปาล์มต่อไปได้ โดยคาดหวังว่าจะสร้างโรงงานผลิตบีทีแอลแห่งแรกในไทยได้ภายใน 3-5 ปีนี้ โดย วว. จะเป็นผู้ดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ราคาน้ำมันลดลง ทำให้พลังงานทดแทนถูกพูดถึงน้อยลงด้วย แต่ราคาน้ำมันในอนาคตก็ยังมีความผันผวนอยู่มากเช่นกัน และแม้ว่าพลังงานทดแทนจากชีวมวลยังมีต้นทุนสูงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่มาก แต่ประเทศไทยก็ต้องวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตที่มีแนวโน้มหันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น เนื่องจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอาจหมดไปในไม่ช้า

สำหรับในปี 52 นี้ สนช. ตั้งเป้าจะให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศจำนวน 21 โครงการ ด้วยงบประมาณราว 70 ล้านบาท (สำหรับโครงการที่นอกเหนือจากพลาสติกชีวภาพ) โดยได้อนุมัติไปแล้ว 17 โครงการ เช่น ตู้อบลมร้อนจากพลังงานเตาเผาชีวมวล, อุปกรณ์กรองก๊าซเอ็นจีวี (NGV) ประสิทธิภาพสูง, เม็ดพลาสติกชีวภาพผสมแป้งมันสำปะหลัง และเครื่องเป่าขึ้นรูปฟิล์มแบบ 3 ชั้น สำหรับพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น โดยเพิ่มจากปีที่แล้ว สนช. ที่ให้การสนับสนุนไป 15 โครงการ

นายวิเชียรบอกอีกว่าอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศในประเทศไทยยังมีค่อนข้างน้อย เพราะยังถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มาก คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าในกันเท่าใดนัก และมักมองว่าเป็นเรื่องของพลังงานทดแทนเพียงอย่างเดียว แต่ในปีนี้ก็มีผู้เสนอโครงการเข้ารับการพิจารณามากขึ้น ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นผลจากการจัดงานอีโคอินโนเวเชีย 2008 (EcoInnovAsia 2008) เมื่อปีที่แล้ว ที่ทำให้คนไทยรู้จักอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศมากขึ้น

"อุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศในประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพราะนานาชาติจะให้ความสำคัญกับธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่งอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศเหล่านี้จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศไทยได้หลายหมื่นล้านบาทต่อปี" นายวิเชียรกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น