xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ดัน "ซีพี" เป็นหัวหอกลุยตลาด "พลาสติกชีวภาพ" ในภูมิภาค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดวิทยาศาสตร์ฯ เดินชมตัวอย่างผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพของบริษัท ซีพีพีซี ที่นำมาจัดแสดงในงานแถลงข่าวความร่วมมือ โดยมีนายมาร์ส กัว ประธานคณะกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ซีพีพีซี จำกัด (มหาชน) (คนขวาสุด) แนะนำผลิตภัณฑ์
สำนักงานนวัตกรรมเกาะเทรนด์สิ่งแวดล้อมโลก ดันซีพีเป็นหัวหอกนำไทยเป็นผู้นำภูมิภาคด้านไบโอพลาสติก เหตุมีวัตถุดิบในประเทศพร้อม แย้มชง ครม.พิจารณาโรดแม็ป 5 ปีแบ่งตลาดพลาสติกไทยได้ 1% ก่อน 2 ปีข้างหน้าจะตั้งโรงงานต้นแบบมูลค่าพันล้านบาท พร้อมถกแนวคิดตั้งนิคมสะอาดเพื่ออุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของไทย

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดงานแถลงข่าวความร่วมมือโครงการพลาสติกชีวภาพของประเทศไทยร่วมกับบริษัท ซีพีพีซี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.51 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยมี ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธาน และมีผู้จัดการวิทยาศาสตร์ร่วมงานแถลงข่าวด้วย

นายศุภชัย หล่อโลหการ ผอ.สนช.กล่าวรายงานว่า พลาสติกชีวภาพถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ทั่วโลกให้ความสนใจมาก เพราะสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติจึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีอัตราการเติบโตสูงถึง 30% ต่อปี และการคาดการณ์โดยสมาคมพลาสติกชีวภาพยุโรปยังพบว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าจะมีความต้องการพลาสติกชีวภาพสูงถึง 1 ล้านตัน/ปี ทว่ายังมีปริมาณการผลิตทั่วโลกเพียง 5 แสนตันต่อปีเท่านั้น
 
สถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นโอกาสของไทยที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำภูมิภาค จากข้อได้เปรียบด้านวัตถุดิบซึ่งไทยผลิตมันสำปะหลังได้ถึง 27 ล้านตัน/ปี อีกทั้งมีโรงงานปลายน้ำที่พร้อมสำหรับการผลิตมากถึงกว่า 4 พันแห่ง

ทั้งนี้ สนช.ได้จัดทำแผนที่นำทางแห่งชาติการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพระหว่างปี พ.ศ.2551-2555 ขึ้นภายใต้วงเงินงบประมาณ 1.8 พันล้านบาทเพื่อรอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนจะร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยนำเข้าเทคโนโลยีโรงงานต้นแบบขนาดกำลังการผลิต 1 หมื่นตันต่อปีจากต่างประเทศ มูลค่าประมาณหนึ่งพันล้านบาทเพื่อศึกษาการผลิตระดับพาณิชย์ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกัน สนช.ยังมีแนวคิดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสะอาดสำหรับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้นด้วย

"ระยะแรก เราต้องการเร่งสร้างความต้องการพลาสติกชีวภาพในประเทศให้เกิดขึ้นก่อน เมื่อมีความต้องการแล้ว ก็จะมีการพัฒนาในระดับต้นน้ำตามมา ทั้งด้านเทคโนโลยีและเครื่องจักรการผลิต คาดว่าใน 5 ปีจะทำให้เกิดตลาดพลาสติกชีวภาพได้ราว 2 พันล้านบาทจากมูลค่าตลาดพลาสติกปัจจุบันปีละ 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 1% ของทั้งหมด ซึ่งเวลานี้นานาชาติได้ให้การยอมรับไทยในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพแล้ว" ผอ.สนช.แถลงข่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์พร้อมสื่อหลายสำนัก

ส่วนรายละเอียดของความร่วมมือกับ สนช.ครั้งนี้ นายมาร์ส กัว ประธานคณะกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ซีพีพีซี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเอกชนรายแรกของไทยที่นำพลาสติกชีวภาพไปผลิตสู่เชิงพาณิชย์ เผยว่า ทางบริษัทจะได้รับคำปรึกษาและการสนับสนุนทางวิชาการจาก สนช.ตลอดระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้บริษัทสามารถคิดค้นสูตรเม็ดคอมพาวด์พลาสติกชีวภาพสำหรับผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 5 ชนิด

ปัจจุบัน ทางบริษัทได้นำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิดพีแอลเอ (Poly Lactic Acid : พีแอลเอ) จากสหรัฐฯ เพื่อทดลองขึ้นรูปเป็นถ้วย แก้วน้ำ ชาม ช้อน ส้อม ฯลฯ เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารของเครือซีพี และเริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปยังประเทศสหรัฐฯ จำนวนหนึ่ง โดยที่ผ่านมาได้มีการดัดแปลงเครื่องจักรการผลิตเดิมที่มีอยู่เล็กน้อย คาดว่าจะมีความต้องการเม็ดพลาสติกชีวภาพไม่ต่ำกว่า 120 ตันต่อเดือน

สำหรับผู้สนใจในธุรกิจพลาสติกชีวภาพสามารถชมตัวอย่างผลิตภัณฑ์ได้ในงานแสดงสินค้าและจำหน่ายสุดยอดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมไทย "อินโนแม็กซ์ 2008" (Innomax 2008) จัดโดย สนช.ระหว่างวันที่ 19-22 มิ.ย.51 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
 เรียงซ้ายไปขวา ดร.วันทนีย์ จองคำ ผอ.ฝ่ายบริหารโครงการนวัตกรรม สนช. นายศุภชัย หล่อโลหการ ผอ.สนช. ดร.สุจินดา โชจิพานิช ปลัดวิทยาศาสตร์ฯ ดร.สารสิน วีระพล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายมาร์ส กัว ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ซีพีพีซี จำกัด (มหาชน) โพสท่าถ่ายรูปโชว์แก้วน้ำและเครดิตการ์ดพลาสติกชีวภาพของบริษัทซีพีพีซี
นายศุภชัย ผอ.สนช.ตั้งเป้าว่าใน 5 ปี มูลค่าตลาดพลาสติกชีวภาพไทยจะมากถึง 2 พันล้านบาท
นายมาร์ส กัว
กำลังโหลดความคิดเห็น